
นอกรอบ รณดล นุ่มนนท์
ปีฉลู 2564 ผ่านไปรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อ ดูเสมือนว่าชีวิตถูกกำหนดด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 “มหันตภัยไวรัสมรณะ” ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่หลักร้อยในสัปดาห์แรกพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 20,128 คน ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 จนต้อง work from home ยาวเกือบ 2 เดือน เป็นช่วงที่ผมต้องปรับตัวอย่างมาก จึงไม่แปลกใจที่ปี 2564 จะมีเรื่องที่เกี่ยวกับการบังคับใจและบังคับกายให้อยู่กับเจ้าวายร้ายโควิด-19 ให้ได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เช้านี้ ขี้เกียจจัง ประชุม ประชุม ประชุม ทำไมต้องนอนหลับ การทำงานที่บ้านให้สุข สนุกกับงาน ไปจนถึงต้องใช้การสัมภาษณ์ผ่าน online แทนการพบปะกัน สำหรับปี 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีหลายเรื่องที่คนเข้าไปอ่านจำนวนมากและนับเป็นเรื่องยอดนิยมติดอันดับอย่างน้อย 5 เรื่อง ผมขอนำมาสรุปให้พวกเราได้อ่านอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
เรื่องที่ 1 ประชุม ประชุม ประชุม (1 มีนาคม 2564)
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในรูปแบบไหน ภารกิจหลักในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่อง “การประชุม” เพราะคิดไปว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการอยู่รอดขององค์กร ในสหรัฐมีการประชุมวันละ 55 ล้านครั้ง ในขณะที่ผู้บริหารจะใช้เวลากับการประชุมมากกว่าร้อยละ 75 ของเวลาการทำงาน
จึงไม่แปลกใจ ที่เรามักจะได้ยินเสียงบ่นรำคาญเรื่องการประชุมให้ได้ยินอยู่เสมอ ในขณะที่วัฒนธรรมการประชุมของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ประเทศในแถบเอเชียถือว่าชนชั้น และความอาวุโสเป็นเรื่องสำคัญ และถ้าการประชุมเกี่ยวกับผลประโยชน์ ผู้เข้า ประชุมจะเกรงใจ ไม่กล้าพูดตรง ๆ มัวแต่อ้อมไปอ้อมมา กว่าจะได้รับคำตอบก็กินเวลานานมาก
สำหรับประเทศแถบสแกนดิเนเวียจะหลีกเลี่ยงความเห็นที่ขัดแย้ง และพร้อมจะประชุมตัดสินใจต่อเมื่อได้รับฟังความคิดเห็นครบถ้วน ซึ่งก็ใช้เวลานานมากเป็นพิเศษเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องแปลกมาก ๆ ที่คนทำงานไม่รังเกียจการประชุมอย่างที่พูด หรือพร่ำบ่น เพราะในใจลึก ๆ อยากให้เกิดการประชุม เพื่อเป็นการตอบสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้น ในโลก new normal ที่เราประชุมกันทาง online เห็นกันผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ พูดสลับกันไปมา ระบบสะดุดเป็นระยะ ๆ ไม่ได้เห็นปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมประชุม
ยิ่งทำให้เกิดคำถามในใจมากขึ้นว่า “เราจะทำอย่างไรต่อการประชุมที่นับวันยิ่งมีมากขึ้น และดูจะหย่อนประสิทธิภาพ”
เรื่องที่ 2 รักแท้ รักบริสุทธิ์ (5 พฤษภาคม 2564)
ไม่น่าเชื่อว่า เรจินัลด์ ดไวท์ เด็กชายตัวจิ๋วจากย่าน Middlesex กรุงลอนดอน มีชีวิตวัยเยาว์ที่เรียบง่าย ขี้อาย พูดน้อย ใช้เวลาส่วนใหญ่หมกตัวอยู่ในห้องเปียโน กับแผ่นเสียงของครอบครัว ที่พ่อไม่เคยชื่นชมความสามารถของลูก ในขณะที่เมื่ออายุ 15 ปี ได้บอกแม่ว่าเป็นเกย์
แม่สวนกลับทันที “ฉันรู้อยู่แล้ว และฉันไม่สนใจด้วยซ้ำ แต่แกจำไว้นะว่า แกได้เลือกชีวิตที่โดดเดี่ยว แกจะไม่มีวันพบรักแท้”
จนได้กลายมาเป็น เซอร์ เอลตัน จอห์น นักร้อง นักแต่งเพลง ระดับตำนานที่คนทั้งโลกรู้จัก
แม้เอลตันจะประสบความสำเร็จเป็นนักร้องซูเปอร์สตาร์ แต่ก็ต้องดิ้นรนค้นหาตัวตนที่แท้จริง จนค้นพบว่า “รักแท้” คือความรู้สึกรักและปรารถนาดีต่อกัน โดยไม่จำกัดสถานะความสัมพันธ์แบบคู่รัก และคนที่เอลตันได้พบและถือว่าเป็นรักแท้ คือ เบอร์นี่ ทอพิน นักแต่งเพลงคู่บุญที่เขียนเนื้อเพลงฮิตมากมายให้กับเขา
เอลตันบอกว่า “เบอร์นี่เป็นเพื่อนร่วมวิญญาณ เข้าอกเข้าใจกัน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งแม้แต่ครั้งเดียว” ทั้งสองเป็นเพื่อนแท้ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้กว่า 54 ปี
ความรักบริสุทธิ์ (platonic love) ของทั้งสอง สะท้อนได้จากเนื้อเพลง We All Fall in Love Sometimes ที่ร่วมกันแต่ง มีประโยคท่อนหนึ่งจับใจว่า “ควรไม่ควร ฉันไม่แน่ใจเพราะบางขณะเราเหมือนอยู่ในที่มืดมิด ดิ้นรนเพื่อผ่านไปวัน ๆ แม้แต่เพื่อนรักที่สุดยังทักว่าอย่าหลอกตัวเองเลย เพราะในบางครั้ง เราอาจกระโจนตกหลุมรัก”
เรื่องที่ 3 ยายนิล : ผู้สร้างความผูกพันครอบครัวแบบไทย ๆ (27 กรกฎาคม 2564)
สารคดีสั้นเรื่อง “ยายนิล” (Yai Nin) นิลวรรณ ภิญโญ นักธุรกิจหญิงวัย 86 ปี โดยมี แชมป์ เอ็นชมิงเกอร์ หลานชายลูกครึ่งไทย-อเมริกันวัย 32 ปี ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตบางส่วนที่น่ารื่นรมย์ของยายนิล ด้วยเวลาเพียง 13 นาที
แชมป์ใกล้ชิดกับคุณยายตั้งแต่เด็ก เพราะกลับมาเยี่ยมทุกปี และคุณยายเองก็ไปเลี้ยงหลาน ๆ ที่อเมริกาเป็นประจำ แชมป์ประทับใจในความเป็นผู้หญิงเก่งของยายนิล แม้จะอยู่ตัวคนเดียว ห่างไกลจากลูกหลาน แต่ยังรักษาความสัมพันธ์ของเครือญาติไว้ได้ เป็นผู้ที่มีกำลังใจใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสงบตามอัตภาพ เป็นภาพประทับใจและนำมาสู่การสร้างสารคดีเรื่องนี้
คุณยายนิลประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจผลิตแหนมภิญโญ ที่ชาวเชียงใหม่รู้จักกันดี และตระหนักดีว่า สูตรสำเร็จที่จะสร้างอนาคตของลูก ๆ คือการศึกษา เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า มากกว่าการพึ่งพาความเติบโตของธุรกิจตัวเอง
คุณยายจึงให้การศึกษาที่ดีที่สุดกับลูก ส่งลูกไปเรียนต่อสหรัฐ ทุกคนจนประสบความสำเร็จ ทั้งชีวิตการทำงานและครอบครัว มีความสุข ความพอใจ และ “รู้อะไร เป็นอะไร”
คุณยายนิลยอมรับว่า บางจังหวะเวลาก็รู้สึกเหงา คิดถึงคู่ชีวิตที่จากไปเมื่อ 10 ปีก่อน แต่บอกตัวเองเสมอว่า ต้องใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุข พร้อมทิ้งท้ายว่า “…ทุกคนต่างมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ขอให้พวกเรามองโลกในแง่ดี รักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพลิดเพลินกับงาน แต่ต้องไม่ประมาท ตั้งการ์ดให้สูง ไม่ต้องกลัวหรอก สักวัน เจ้าโควิด-19 จะหายไปเอง”
เรื่องที่ 4 ร้านแพพอเพียง : “พอ” ตัวเดียว จะ “พอ” ในทุกเรื่อง (8 พฤศจิกายน 2564)
ร้านแพพอเพียงที่กำแพงแสน นครปฐม เป็นร้านที่มีเอกลักษณ์โดนใจนักชิม รับลูกค้าเพียงวันละ 1 โต๊ะ โดยไม่มีเมนูให้สั่ง พ่อครัวอยากจะทำอะไรก็ทำมาให้ลูกค้ากิน เพราะแน่ใจว่าทุกจานต้องอร่อยถูกใจ ลูกค้าที่ตั้งใจ มารับประทาน โดยที่เมนูทุกจานเป็นปลาที่เลี้ยงเองในบ่อบริเวณบ้าน
เจ้าของร้าน คุณอนุสิทธิ์ สอสิริกุล (หว๋อ) และ คุณเกสร ถีสูงเนิน (อิ๋ว) สามีภรรยา เจ้าของร้าน เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร ฝ่าฟันชีวิตมายาวนาน เมื่อเริ่มหาเลี้ยงครอบครัวก็ผลีผลามทำทุกอย่างที่ขวางหน้า นับตั้งแต่ฟาร์มหมู บ่อตกปลา ทำไร่สวน ไปจนถึงร้านอาหาร โดยไม่มีการวางแผน ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ
ไม่นานทุกอย่างล้มเหลวไม่เป็นท่า เงินทองไหลออก หนี้สินล้นพ้นตัว จึงหันกลับมา มองหาสัจธรรมของชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ พ่อหลวง ร.9 ตัดสินใจเลิกกิจการทุกอย่าง ในปี 2552 เหลือไว้เพียงร้านอาหาร เพื่อยังชีพในปัจจุบัน เพราะรู้ตัวว่าเป็นคนทำอาหารอร่อย
คุณหว๋อเล่าถึงปรัชญาของการใช้ชีวิตว่า “ทำทุกวันให้มีความสุข รู้จักกิน รู้จักใช้ พึ่งพาตนเอง พอใจกับสิ่งที่มี การลงมือทำอะไร ต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้จริง ไม่มีทางสำเร็จ มีคนบอกผมว่า จะทำอะไร ทำอย่างเดียวให้ดีที่สุด
ชีวิตของแต่ละคนมีทางเลือก ขอให้คำว่า ‘พอ’ ตัวเดียว แล้วจะพอในทุกเรื่อง”
เรื่องที่ 5 เด็กอัศจรรย์ ทูนหัวของแม่ (22 พฤศจิกายน 2564)
ภาพยนตร์เรื่อง Zero To Zero สร้างจากชีวิตจริงของ โซ้ว หว่าไหว ชาวฮ่องกง ซึ่งเกิดในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพเมื่อปี 1981 อาศัยอยู่ในแฟลตแคบ ๆ พ่อแม่ใช้แรงงานหารายได้เลี้ยงชีวิต พอกินในแต่ละวัน ซ้ำร้าย โซ้ว หว่าไหว เกิดมาเป็นเด็กพิการทางสมอง มีปัญหาในการรับฟัง แข้งขาอ่อนแรง
แต่พ่อแม่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ทำทุกวิถีทางที่จะเลี้ยงดูลูกให้กลับมาเป็นปกติ จนทำให้ลูกลุกขึ้นมาเดินได้อย่างน่าอัศจรรย์ และด้วยความมุมานะ โซ้ว หว่าไหว ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ และได้เข้าร่วมทีมนักกรีฑาพาราลิมปิกของฮ่องกง จนประสบความสำเร็จสามารถคว้าเหรียญพาราลิมปิกได้ทั้งหมด 12 เหรียญ จากการแข่งขัน 5 ครั้ง ก่อนอำลาลู่วิ่งในวัย 31 ปี
การทุ่มเทแบบสุดโต่งของครอบครัวเพื่อความสำเร็จของโซ้ว หว่าไหว ทำให้สัมพันธภาพภายในครอบครัวไม่ราบรื่นนัก น้องชายถูกปฏิบัติต่างกับพี่ชายราวกับว่าชีวิตต้องยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ แต่ในที่สุดทุกคนก็ตื่นขึ้นมาสู่โลกความเป็นจริง ด้วยการเติมเต็มความรักให้กับทุก ๆ คน
แม่ไม่ได้คอยดูแล โซ้ว หว่าไหว อย่างใกล้ชิดเหมือนก่อน ในการแข่งขันพาราลิมปิกที่นครปักกิ่ง ในปี 2008 แม่ไม่ได้ไปอยู่ที่ขอบสนามเหมือนเคย เป็นผลให้การวิ่ง 2 ประเภทแรก โซ้ว หว่าไหว พลาดเหรียญรางวัล จนแม่ต้องตัดสินใจฉับพลันรีบเดินทางไปให้กำลังใจลูก ในการแข่งขันประเภทวิ่งเดี่ยว 200 เมตรชาย ของกลุ่ม T36 ซึ่งเป็นการแข่งขันประเภทสุดท้าย
โซ้ว หว่าไหว ดีใจเมื่อเห็นหน้าแม่ และบอกว่า “แม่ไม่ต้องห่วงหนูนะ หนูเคยบอกแม่ว่า หนูจะต้องวิ่งให้เร็วกว่ารถไฟ เพราะหนูมี wonder mom”
แม่สวนกลับอย่างตื้นตันว่า “ถึงลูกแม่จะเดินช้ากว่าคนอื่น แต่ลูกก็วิ่งได้เร็วกว่าเขา แม่เข้าใจดีว่าการเป็นคนพิการมันยากลำบากแค่ไหน แต่ลูกรู้ไหมว่า การเป็นแม่คนพิการก็ลำบากมากเหมือนกันนะลูกนะ เพราะฉะนั้น ลูกต้องมองมาที่ตาแม่ และก็บอกกับตัวเองว่า ‘เตรียมตัว ! ไป !’”
และแล้ว โซ้ว หว่าไหว ก็ไม่สร้างความผิดหวัง สามารถคว้าเหรียญทองมาคล้องคอได้ ทำลายสถิติโลกที่ปัจจุบันยังไม่มีนักกีฬาคนใดทำได้ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า “ชีวิตคนเรามักจะผูกติดความสำเร็จ
อยู่กับความมุ่งมั่น และความทะเยอทะยาน จนลืมนึกถึงว่า ในชีวิตจริง ความสำเร็จจะต้องมาจากความรัก ความผูกพัน และความศรัทธาอีกด้วย”
สุดท้ายนี้ ผมทราบดีว่า พวกเรายังวิตกกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ได้หายไปไหน มิหนำซ้ำยังมีเจ้า “โอไมครอน” โควิดกลายพันธุ์อีกตัวแพร่ระบาดขึ้นมาอีก แต่การที่เราตระหนัก แต่ไม่ตระหนก และรับรู้ว่า “วันนี้ต่างกับต้นปี 2562 ช่วงที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด เพราะวันนี้เรารู้จักมันมากขึ้น มีวัคซีน มียา และที่สำคัญ เรารู้จักที่จะจัดการเจ้าวายร้ายตัวนี้ได้ดีขึ้น”
ผมจึงหวังว่า ปีเสือ 2565 จะเป็นปีที่เราผ่านพ้นเรื่องร้าย ๆ และพบกับสิ่งดี ๆ ครับ