คุยกับวงอินดี้เสน่ห์แรง!! My Life as Ali Thomas แรงขนาดไหน…นักร้องนำของวงคือคำตอบ

เรื่อง/สัมภาษณ์Too Hip To Retire

ภาพChom Chom

 

-0-

Prologue

My Life as Ali Thomas วงที่ใครได้ฟังต้องมีคำถามถึงสเกลความ “สากล” ที่งานดนตรีของพวกเขาไต่ระดับความน่าสนใจขึ้นมาเรื่อยๆในห้วง 2-3 ปีมานี้ สะสมแฟนคลับเพิ่มขึ้นชนิดที่พูดกันปากต่อปากว่า “วงนี้ต้องได้ดูเล่นสด” จนล่าสุดถูกเลือกให้ร่วมขึ้นแสดงดนตรีในเทศกาลดัง SXSW (South by Southwest) ที่เท็กซัส สหรัฐอเมริกาในปีหน้า

ประชาชาติฯออนไลน์ พาไปรู้จัก คุยสนุกๆแบบรวดร้าวเบาๆ กับสมาชิกวง “แร็ก” มือกีตาร์ “ตาว” มือกลอง และ “พาย” นักร้องนำหญิง/กีตาร์ ที่โดดเด่นทั้งการเล่นกีตาร์และการแต่งเพลง

บทสัมภาษณ์ที่พูดคุยและตามติดไปดูการแสดงดนตรีสดของพวกเขา ผ่านปฐมบทของวงชื่อแปลกวงนี้ ที่เริ่มต้นจากห้องนอนของ “พาย” และอะไรคือความเจ็บปวดรวดร้าวของเธอที่ส่งต่อมาเป็นบทเพลงระดับฆ่าคนเหงากันไปเลย

(ชมคลิปเต็มบทสัมภาษณ์ พร้อมตามติดดูการแสดงสดของพวกเขา)

-1-

Winter’s love

บทกวีในฤดูหนาว

 

ระหว่างหยุดพักร้อนปลายปีนั่งจัดข้าวของในห้อง เพลงที่เปิดทิ้งไว้เล่นวนสุ่มไปเรื่อยๆจนเพลงๆหนึ่งดังขึ้น

เสียงร้องเอื้อนคำแบบหวนๆ ฟังคำร้องภาษาอังกฤษไม่ถนัดนัก ติดจะค่อนข้างจับคำยาก แต่เสียงร้องและดนตรีสัมผัสถึงจิตเอามากๆ

“How can I make you stay

Or don’t you remember

Once December

I was your sun and moon

Let this song goes”

 

คือบางท่อนจากเสียงเพลง Winter’s love ของวงดนตรีอินดี้ My Life as Ali Thomas ที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการเก็บข้าวของจัดระเบียบห้องรกๆ …ระหว่างทางนั้น พบเจอข้าวของเก่าเก็บต่างๆที่กลายเป็น นาฬิกาย้อนเวลา บอกเล่าความทรงจำในชีวิตมากมายผุดพรายขึ้นมา

ภาพกลางห้องตรงนั้น ที่ลอยละล่องมาพร้อมเสียงร้องกึ่งแหบปนขยี้ของนักร้องนำ จึงเกือบจะเป็น Soundtrack โมเม้นต์นั้นไปแบบฉับพลัน หรืออาจบอกได้ว่า หลายเพลงในอัลบั้ม Paper อาจเป็นซาวด์แทรคชีวิตใครก็ตามในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ย่อมได้

Winter’s love เป็นดั่งเช่นบทกวีในฤดูหนาว มันจะเป็นเพลงรัก เพลงเศร้า เพลงเหงา หรือแม้แต่เพลงที่ฟังแล้วไพเราะเสนาะโสตโดยเฉพาะในเดือนธันวาคมก็ย่อมได้

 

-2-

Life of Pie

ปฐมบทของวงคือโลกส่วนตัวของ “พาย”

 

เรามีนัดคุยกับวง My Life as Ali Thomas ในเย็นวันหนึ่งของเดือนธันวาคม ไม่กี่วันก่อนที่กรุงเทพมหานครจะอุณหภูมิลดฮวบเย็นลง

“แร็ก” – วิภาต เลิศปัญญา มือกีตาร์พี่ใหญ่ของวง และ “พาย” – กัญญภัค วุธรา นักร้องนำ/กีตาร์ มาถึงก่อนเวลาพอสมควร นั่งผ่อนคลายอิริยาบถในออฟฟิศวอร์เนอร์มิวสิคไทยแลนด์ ค่ายต้นสังกัด

หญิงสาวผมดัดลอนยาว ขายาว ตัวผอมติดจะเก้งก้าง แต่ท่วงท่าสบายๆจนดูเพลินตา กำลังเอนตัวกึ่งนั่งกึ่งนอนที่เก้าอี้ พูดคุยกับสมาชิกร่วมวง และผู้บริหารวอร์นเนอร์ ไทยแลนด์ อย่างออกอรรถรส จนแทบมลายความคิดก่อนหน้าที่ได้ยินมาว่า “พายเงียบ” “พายพูดน้อย”

กระทั่งเมื่อ “ตาว” – วรรณพงศ์ แจงบำรุง มือกลองของวงมาถึง การพูดคุยกับทั้งวงแบบ long take เริ่มขึ้นแบบไม่เป็นทางการนัก

แม้ท่วงท่าสบายๆดูผ่อนคลายของพาย จะส่งสัญญาณให้เรารู้สึกว่าน่าจะคุยกันได้แบบไม่เกร็ง แต่ก็เห็นความเขินบางๆซ่อนอยู่ เมื่อ “พาย” เลือกจะส่งไมโครโฟนให้กับสมาชิกวงอีก 2 คน ไปถือแทนในทันที พร้อมกับหัวเราะและแซวท่าทางของตัวเองที่พร้อมหนีห่างการถือไมค์ นัยว่า เธอคือคนพูดน้อยที่สุดในวง หรืออันที่จริงอยากจะให้สมาชิกในวงได้พูดแทนมากกว่า

ในฐานที่ก่อนวันนัดพบสัมภาษณ์จะมาถึง ฟังเพลงของวงมาหลายรอบ พินิจดูคำร้องของเพลง จนถึงดูคลิปการแสดงสดในหลายต่อหลายครั้งตลอด 3 ปี มานี้ เราอาจจะจินตนาการในฐานะคนฟังว่า นักร้องนำของวงน่าจะเป็น “คนสันโดษ”แต่ในการพบปะครั้งแรกผ่านการพูดคุย เรากลับพบท่วงท่าความร่าเริงของเธอผุดพรายตลอดเวลา

 

ถ้านี่คือคำตอบนั้น “พาย” เล่าถึงจุดเริ่มต้นเมื่อหลายปีก่อน สมัยเล่นกีตาร์ แต่งเพลง ร้องเองอยู่คนเดียว และบันทึกเก็บไว้โดยไม่แชร์ให้ใครฟัง…

“ทำให้ตัวเองฟัง เล่นอยู่แต่ในห้องคนเดียว คือ ความสุขของเราตอนนั้นคือเหมือนเราเรียนมหาวิทยาลัย แต่เราก็ไม่ได้เรียนมาก (หัวเราะ) มาทำเพลงอยู่ในห้อง แล้วก็อัด คือ เล่นกับสิ่งที่เรามี ก็ใส่ไลน์กีต้าร์เข้าไป เป็นโลกส่วนตัว แต่ไม่ใช่ควอลิตี้ที่เอามาเป็นโปรดักชั่นจริงจัง คือ เหมือนทำเล่น…”

 

พายให้ภาพตัวเองถึงความชอบเรื่องดนตรีในแบบของเธอ ไม่แม้แต่คิดที่จะสะพายกีตาร์เข้าไปเล่นในผับบาร์สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ

ถึงตรงนี้ “ตาว” มือกลองของวงช่วยขยายรายละเอียดจากที่พายเปิดไว้ “มันจะเหมือนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งให้ตัวเอง อย่างผมทำงานประจำเกี่ยวกับดนตรีก็จริง แต่ก็อยากจะมีโมเมนต์แบบ นี่ขอเป็นส่วนตัว สร้างอะไรซักหนึ่งอย่าง” 

“ตอนนั้นทำเพลงเหมือนเป็นสเปซส่วนตัว เป็นที่ไพรเวทของเรา เวลาที่เราไม่อยากจะคุยกับใคร”พายเล่าต่อ

มีท่วงท่าบางอย่างแทนคำตอบ เมื่อถามว่าเธอเป็นคนโลกส่วนตัวสูง?

คำตอบสั้นๆแต่ชัดเจนของพาย

“สูง” พร้อมยกมือขึ้นเท้าคาง พยักหน้าเบาๆยิ้มน้อยๆให้หนึ่งครั้ง…

ก่อนที่ “แร็ก” จะช่วยขยายความคำตอบ โลกส่วนตัวสูงของพายว่า “ช่วงแรกก็ใช่นะครับ แต่ตอนนี้เขาก็เปิดใจกับทุกคนในวงแล้ว”

“แรกๆ เขาอาจจะไม่คุ้นชินมากกว่า” ตาวเสริม ขณะที่ “พาย” แทรกขึ้นมากลบความเขินนิดๆ “อะไร ออกจะเฟรนด์ลี่”

“ครับ…ต้องใช้เวลา อาจเพราะไม่ได้เป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่พื้นนิสัยเขาไม่ได้เป็นคนมีอะไรอยู่ในนั้นอยู่แล้ว…เป็นคนน่ารัก ส่วนตัวเป็นคนน่ารัก”แร็กเล่าถึงสมาชิกในวง

……

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ แต่ “มือเท้าคาง” เป็นท่าประจำของพายที่เราเห็นเป็นระยะในห้วงชั่วโมงสัมภาษณ์ เสมือนหนึ่งกำลังครุ่นคิดถึงคำถาม และนั่งรับฟังมุมมองของสมาชิกร่วมวงที่กำลังพูดคุยขนาบข้างซ้ายขวา บางช่วงเล่าหยอกล้อแซวกันเองถึงช่วงสุกดิบระหว่างทำงานเพลงในอัลบั้ม Paper มาด้วยกัน

หลายคนที่ติดตามวงนี้จะเห็นพาร์ทการเล่นกีตาร์โปร่งของพายที่ทั้งสะบัดข้อมือเมามันในท่วงทำนองเร่งเร้า เกาสายบอบบางในจังหวะเพลงช้า ผนวกด้วยการแต่งคำร้องที่หวานและซ่อนงำความหมาย…อย่างที่บอกว่าจุดเริ่มต้นมาจากห้องนอนห้องหนึ่งในสมัยเรียนต่างประเทศ แล้วทำไม “พาย” จึงไม่เลือกเรียนดนตรี หรือไปให้สุดทางตั้งแต่ต้น

 

“คือตอนนั้นเหมือนเราไม่ได้เรียนดนตรีมาตอนมัธยมด้วย มันก็เลยไม่ได้มี portfolio (บันทึกผลงาน) ไม่ได้มีอะไรที่จะไปสมัครเรียนดนตรี เพราะลึกๆ เรารู้สึกว่าดนตรีมันเป็นอะไรที่เราไม่ได้อยากเรียน เรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่แบบ มันเป็น escape (พื้นที่หลุดพ้น) ของเรา เราก็เลยคิดว่าไม่อยากเอาพื้นที่ escape เราไปเรียนน่ะ เดี๋ยวเราก็จะเครียดกับมันรึเปล่า…รู้สึกเหมือนกับเราเข้ามหาวิทยาลัยทั้งที ก็เรียนอะไรที่…ไม่รู้จะบอกยังไง แต่เหมือนกับดนตรีสำหรับเรา ซึ่งอาจจะสำหรับพายคนเดียงมั้ง รู้สึกว่ามันเป็น hobby (งานอดิเรก) ก็เลยไม่อยาก”

“แร็ก” เสริมต่อ “เอา hobby ไปทำให้มันเกิดความเครียดใช่มั้ย เพราะพอมันจะเรียนมันก็ต้องเครียด เดี๋ยวต้องมานั่งซ้อม ก็จะไม่มีความสุขกับ hobby แล้ว แต่ตอนนี้หนีไม่ได้แล้ว” (หัวเราะ)

หญิงสาวผู้เล่นกีตาร์ได้มีเสน่ห์จนละสายตาได้ยาก บอกกับเราว่า “ตอนนั้นพอเราเข้าไปมหาวิทยาลัย เหมือนมันมีอะไรที่มันน่าเรียนมาก คือ เรียนโน่นเรียนนี่ แล้วแค่ไม่ได้อยากจะเอาดนตรีเป็นโฟกัสหลักในมหาวิทยาลัย เหมือนตอนแรกเราเริ่มจากเรียน pre-engineering (เตรียมวิศวกรรมศาสตร์) แล้วพอเข้าไปก็ลองเรียนโน่นนี่ พายเรียนมาสายเคมี ฟิสิกส์ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ไปลงที่วารสารศาสตร์ ไม่รู้ไปยังไงเหมือนกัน”พายพูดพร้อมเท้าคางในท่าประจำ แต่หนนี้มีรอยยิ้มกว้าง

จุดเปลี่ยนจากนักเรียนสายวิทย์สู่เด็กสาวมหาวิทยาลัยสายศิลป์ พายเลือกเรียนด้าน journalism (วารสารศาสตร์) เน้นแมกาซีน

“สมัยตอนอยู่ high school (มัธยม) เป็นคนชอบเลข วิทยาศาสตร์ ไม่เคย explore (สำรวจตรวจตรา) ด้านภาษาเลย ไม่ชอบภาษาเลย แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ยังไงดี อธิบายยากจังเลย มันก็มีอะไรใหม่ คนใหม่ๆ คนในคณะ Culture (ค่านิยม-ความเชื่อ) ดูสนุกดี”

เมื่อย้อนทวนคำถามไปว่า สรุปว่าสมัยนั้นเมื่อพายทำเพลงในห้องนอนคนเดียว และยังไม่อยากออกไปเล่นดนตรีให้ใครดูด้วยซ้ำ เรียนดนตรีก็ไม่ได้เรียนตรงๆ แล้วแพชชั่นทางดนตรีที่ซุกซ่อนไว้ สิ่งเหล่านี้มันมาจากไหน?

พายตอบหน้าเปื้อนยิ้ม – “ไม่รู้เหมือนกัน” คำตอบที่ราวกับไม่ได้ตอบนั้น กลับพบความหมายในตัวมันเอง… ฟีลลิ่งล้วนๆที่อาจจะเป็นฝีพาย พาพายล่องลอยบนถนนดนตรีในเวลาต่อมา

กล่าวสำหรับพาร์ทงานแสดงที่เธอปรากฎตัวไม่กี่นาทีจากภาพยนตร์อินดี้ Die Tomorrow

 “พาย” บอกว่า “คือน่าสนใจ พี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับฯ) เขาให้ถ่ายเป็นตัวเราเอง ซึ่งเราก็ไม่เคยแอ๊คติ้งมาก่อน แต่ก็โอเคก็เป็นตัวเรา เลยไม่รู้ว่าอันนั้นเรียกว่าแอ็คติ้งหรือเปล่า (หัวเราะ) หรือ อะไรคือแอ๊คติ้ง สำหรับเราเราไม่รู้ แค่เป็นตัวเราในบท แต่ถ้าถามว่าในอนาคตถ้ามีบทน่าสนใจก็อาจจะ…ไม่รู้…ก็ดูน่าเล่น ก็คงจะไม่ใช่ว่าเราไม่เอา แต่ต้องดูเรื่อง

 

-3-

Me and You and Everyone We Know

เพลงของ My Life as Ali Thomas มาจากส่วนผสมหลายพาร์ทของชีวิต

 

หลายบทเพลงในอัลบั้ม Paper ที่พายเป็นผู้แต่งคำร้องทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยสไตล์การขับร้องแบบเน้นฟีลลิ่ง มาจนถึงพาร์ทของดนตรี และ meaning ในแบบ “ภาษากวี” ของเพลงที่สื่อให้คนฟัง-แฟนเพลงต่างคิดถึง “ความเหงา” เพราะมีหลายเพลงที่เธอแต่งไว้สมัยยังนั่งทำเพลงคนเดียวในห้องนอน ก่อนหน้าที่จะถูกนำมาเรียบเรียงใหม่เมื่อทำวงดนตรี

พาย-เล่าที่มาของการแต่งเพลงของเธอ

“อาจเป็นเพลงที่เราฟัง เนื้อร้องที่เคยฟังมันก็ฟรึ่บเข้าไปในเรา แล้วก็ออกมาเป็นเรา บวกสิ่งที่เราฟัง…จริงๆทุกเพลงก็มาจากเรา แต่อาจจะมาแบบที่เหมือนเวลาทำหนัง ก็คงไม่ใช่ออกมาจากไดเร็คเตอร์(ผู้กำกับฯ) คนเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็จะมาจากตรงโน้น ตรงนี้ สมมติว่าเราสร้างคาแรคเตอร์ของตัวเราอาจจะไม่ใช่ เฮ้ย คนนี้เป็นแบบคนที่เรารู้จักแล้วเอามาใส่ในหนังทั้งหมดก็คงไม่ใช่ คาแร็คเตอร์คนหนึ่งก็อาจจะหยิบบางพาร์ทหนึ่งจากคนนั้น พาร์ทหนึ่งจากคนนี้”

แม้ตัวเพลงจะสื่อถึงความเหงาที่ออกมาเองตามธรรมชาติในช่วงที่พายชอบอยู่คนเดียวในห้อง แต่พายบอกว่า “พอมาทำอัลบั้มแล้ว ระหว่างการทำงานไม่ค่อยเหงา(หัวเราะ) อาจจะเป็นเหมือนกับก่อนหน้าที่จะarrangement (เรียบเรียงดนตรี) ก็เหมือนออกมาจากเราคนเดียวโดยคำร้อง แต่พอเข้า arrangement ก็ไม่ค่อยเหงาแล้ว”

สมาชิกในวงมีใครคิดอยากมีไอเดียเติมคำร้องไปในเพลงด้วยหรือไม่ “ไม่เคยครับ ทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าท่อนนี้ร้องยังไง” ตาวตอบแบบหยอกๆ

นั่นเพราะเพลงของพายเป็นกวี?

“ใช่ๆ ก็ปล่อยให้เป็นกวีต่อไป” ตาวตอบรอบนี้หัวเราะดัง เช่นเดียวกับพายที่พูดทวนคำตาม “…ให้เป็นกวีต่อไป”

“คือจะเหมือนว่าเพลง meaning (ความหมาย) ประมาณนี้ เราจะถ่ายทอดอย่างไรมากกว่า แต่ผมไม่ได้ลงไปทุกรายละเอียดในคำร้องเขา”

ตาวเล่าต่อ “เคยลองเอาเนื้อเพลงไปแปะในกูเกิ้ลทรานสเลท (Google Translate)  โอ้โห ออกมาไม่รู้เรื่องหนักกว่าเก่า (หัวเราะ) ไม่เชื่อลองเอาไปใส่กูเกิ้ลดูครับ”

“ความกวี” นี้ ยังได้รับการยืนยันจากสมาชิกพี่ใหญ่ของวง “แร็ก” ที่เล่าว่า “แม่ผมเป็นครูสอนภาษาอังกฤษยังทักว่า แร็กรู้ไหม นี่พายเค้าแต่งเพลงเป็นภาษากวีนะ…”

แล้วมีใครเคยถามพายไหมว่าอยากทำเพลงไทยซักเพลงไหม?

“แร็ก” เอ่ยขึ้น “ก็ไม่ได้คาดหวังครับ เรารู้แต่แรกอยู่แล้วว่าเขาถนัดแบบไหน แล้วเราก็ชอบในแบบที่เขาเป็นอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเขาแบบนี้เราก็ไปแบบนี้ เพราะเขายังไม่มาฟิกซ์เราเลย ทำไมเราต้องไปฟิกซ์เขาล่ะ”

บทสนทนามาถึงจุดนี้ พายถึงกับยกมือขึ้นแตะไหล่ยิ้มหน้าทะเล้นให้ “พี่แร็ก” ในท่วงท่าที่บอกว่าเธอปลื้มคำตอบของพี่นะ

 

ในความยอดเยี่ยมที่ “พาย” ทำได้ดีในสไตล์ของตัวเองแล้ว ทั้งการแต่งเพลงและร้องเพลงระดับที่นักวิจารณ์เพลงหลายคนให้มาตรฐานสเกลความสากลเป็นบวกต่อเธอ แต่ก็อดถามขึ้นมาไม่ไดว่าในฐานะคนแต่งเพลงของวง “พาย” มีความคิดอยากทำเพลงไทยสักเพลงมั้ย?

“ก็อยาก แต่ว่าอาจจะไม่ใช่ว่าอยากแล้วทำได้…ก็ต้องใช้เวลา”พายตอบยิ้มๆ

ด้วยคำร้องของ “บทเพลง” หลายเพลงในอัลบั้มนี้ที่ฆ่าคนเหงาได้ ดังนั้นอะไรที่มันรวดร้าวสำหรับคุณที่จะขับเคลื่อนมันออกมาเป็นเพลงได้?

มีความเงียบชั่วขณะจากทั้งวงเสมือนรอคำตอบจาก “พาย” ที่กำลังนั่งเท้าคางครุ่นคิด ก่อนจะหลุดแทรกความเงียบด้วยการแซวตัวเอง… “ไม่กดดันเท่าไหร่เลย ไมค์สองอันจ่อที่หน้าเรา ตอบยังไงดี”

เป็นอีกครั้งที่ “พี่แร็ก” ลองอธิบายสิ่งที่เขาสัมผัสได้แทนน้อง…มุมมองความรวดร้าวที่อาจทาบทับไปที่บทเพลงของพายในความเห็นของเขา

“จะเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่เราประสบมารึเปล่าจริงๆ แล้วแต่ละคนมันมีจุดที่รับความเจ็บปวดไม่เท่ากัน กับสถานการณ์เดียวกัน ดังนั้นผมอาจจะรู้สึกว่าไม่ชอบเรื่องความเหงาเลย พายอาจจะไม่ชอบเรื่องความโกรธ ดังนั้นแต่ละคนพอมีจุดตรงนี้ต่างกัน วิธีการที่จะแต่งมันออกมา มันก็จะทำให้ต่างกัน ทีนี้อยู่ที่ว่าเนื้อเพลงส่วนใหญ่ที่พายแต่งออกมาจากเรื่องความเหงาเยอะ นั่นอาจเป็นเพราะว่า…”

“เราอยู่คนเดียวบ่อยๆ” พายที่นั่งฟังอยู่เรื่อยๆ พูดขึ้นเองในทันที

“นั่นเพราะช่วงแรกเขาอยู่กับตัวเขาคนเดียว” แร็กกล่าวย้ำ

 “แล้วความรวดร้าวของพาย คืออะไร?”

“พาย” ที่ขณะนี้มีท่าทางน่าเอ็นดูทั้ง ยิ้ม ครุ่นคิด กลับมาส่ายหน้า เปล่งเสียงผ่านไมโครโฟนเป็นเสียงตลกๆเหมือนโน้ตเพลงขึ้นๆลงๆแทนคำตอบ แล้วก็กลับมาทำท่าคิดถึงคำตอบอีกครั้ง จน “ตาว” แซวว่า “เหงื่อแตก” ซึ่งพายก็รับในทันที “เหงื่อแตก จะตอบยังไง” (หัวเราะ)

ก่อนที่ชั่วแว้บเดียว เธอจะบรรยายความรวดร้าวที่คิดไว้ได้ออกมาในที่สุด…

“อาจจะความผิดหวังในหลายๆอย่าง ความผิดหวังจากสิ่งที่เราคาดหวัง ความรักของเรานี่คือมันอาจจะไม่ใช่แบบ…อาจจะในแง่อะไรหลายๆอย่าง อาจจะความรักจากความฝัน…คำพูดของอะไรอย่างนี้มากกว่า พายว่าเหมือน Heartbreak จากความรัก และ ความผิดหวังน่าจะเป็นอะไรที่ Hurtful เกือบที่สุด”

 

“ถ้าไปคาดหวังอะไรเยอะๆ แล้วบางทีมันผิดไป ทุกคนน่าจะเป็นคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะคนอกหัก หรือ ทะเลาะเรื่องอื่น ถ้าผิดหวังแล้วก็น่าจะทำให้ปวดร้าวสุด ใช่ไหม นี่พยายามตีความ มันจะยากๆ นิดหนึ่งนะครับคำถามนี้”พี่แร็กตอบช่วยน้องในอีกคราหนึ่ง

 

-4-

ประดิษฐกรรมของวง

All our inventions for the music

 

ต้องยอมรับว่าประดิษฐกรรมของ My Life as Ali Thomas คือ งานรังสรรค์ที่ชวนเซอร์ไพรส์ ไม่ต้องบอกถึงพาร์ทของคำร้อง และเสียงร้อง ของ “พาย” ที่ดำดิ่งสะกดคนฟังผ่านสำเนียงภาษาที่ถึงจะฟังยาก แต่อินเนอร์ในการถ่ายทอดอารมณ์เพลงก็ส่งถึงในที่สุด ขณะที่ความพิเศษอีกส่วน คือ พาร์ทของดนตรี ทั้งกีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า เบส และกลองที่หนักแน่น มีเสน่ห์ สลับผันไปมาระหว่างช่วงเรียบเอื่อย แล้วพาคนฟังสู่ความพลุ่งพล่าน ยั่วเร้า กระทั่งลาดพาเข้าสู่ความสงบ

ใครจะเชื่อว่าเพลงที่รัวดนตรีกระหึ่มอย่าง Ellephant จะปลุกเร้าหัวใจให้คนๆหนึ่งที่วิ่งออกกำลังกายปกติถึงกับบอกว่า พอเสียบหูฟังเพลงนี้พร้อมกับวิ่งไปเท่านั้นล่ะ…ถึงกับฮึดวิ่งหน้าตั้งผลาญแคลอรี่ไปแบบพรวดเดียวจบ ราวกับที่เรามักจะได้ยิน “พาย” เอ่ยสั้นๆเกริ่นถึงเพลงนี้ในอินโทรดนตรี บนเวทีการแสดงสดว่า Ali Thomas Marathon 

 

….วงนี้ ควรได้ดูการแสดงสดสักครั้งหนึ่ง

หลังการสัมภาษณ์ พูดคุยในวันนั้น “แร็ก” เอ่ยแนะนำให้เราดูพวกเขาขึ้นแสดงสดที่ร้าน Play Yard ในไม่กี่วันถัดมา แน่นอนว่าเป็นดั่งที่ “พาย” บอกไว้ก่อนหน้าว่า เธอชอบทำงาน(ดนตรี) ที่มีความเซอร์ไพรส์เล็กๆ

“ครึ่งหนึ่งมองภาพไว้ประมาณนี้ แต่อีกครึ่งหนึ่งก็อยากจะเผื่อใจอะไรที่เซอร์ไพรส์กับวง เหมือนกัน บางครั้งไม่ได้บอกว่าเพลงนี้เกี่ยวกับอะไรก็ลองให้เขาตีความกันเอง ลองแปะกันเลยว่าออกมาเป็นยังไง”พายเล่าถึงช่วงทำอัลบั้ม

แร็ก –  “ครับ เหมือนข้อสอบ เป็นการใช้เดา ใช้ฟิลลิ่ง จับความเข้าใจเขาอีกที

ตาว – “อย่างพายเล่นกีต้าร์ กับร้องมาอีกแบบหนึ่ง แต่พอทำจริงๆ กลายเป็นอีกจังหวะหนึ่ง” 

 

แล้วตอนขึ้นแสดงสดบนเวทีล่ะ?

แร็ก – “ก็จะหาทางเปลี่ยนไปเรื่อยๆบ้าง”

ตาว – “เปลี่ยนบ่อย คือ ไม่อยากให้คนที่ตามเราไปฟังเขาเบื่อ”

พาย – “เราก็จะได้ไม่เบื่อ ใช่มั้ย” (ยิ้ม)

ตาว – “บางทีโชว์นี้ เราเอานี้มาทำใหม่ เราก็แบบอาจจะเอาสิ่งที่ทำใหม่ไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้อีก”

อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคนแทบจะพูดพร้อมเพรียงกันว่า การแสดงสดของเขาผ่านการซ้อม และการวางแผน ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่ฟีลลิ่งพาไปบ้าง “เราไปสดบนเวทีอันตรายไปนิดนึงครับ” แร็กกล่าว

 

-5-

รายละเอียดเล็กๆของพวกเขา

Interior Texture

 

สมาชิกทั้งสามคนในวง ยอมรับสิ่งหนึ่งร่วมกันว่า การทำงานร่วมกันระยะแรกต้องปรับจูนกัน เพราะไม่ใช่เพื่อนเรียน หรือเพื่อนที่เคยทำอะไรร่วมกันมาตั้งแต่ต้น 

“แร็ก” เล่าถึงเส้นทางก่อนจะมาพบเจอกับ “พาย” ว่า

 “ผมทำงานมาตลอดครับ งานดนตรีไม่เคยทำ คือ ผมทำเอเจนซี่มาเรื่อยๆ ตั้งแต่เรียนจบ แล้วมาเริ่มเล่นดนตรีจริงๆ ก่อนเจอพายได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง  คือตอนนั้นผับคอสมิกที่มีเจ้าของชื่อพี่ก้อง เขาเปิดเพลงแล้วก็มีวงขึ้นมาเล่นเพลงแนวอินดี้ทั้งหลาย วงที่เราหาฟังจากผับอื่นไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าผับนี้เจ๋งดี เรามาฟอร์มวงกับเพื่อน แล้วเล่นเพลงที่เราอยากเล่นดีกว่า ก็เลยไปออดิชั่นที่นั่น ก็เล่นกันตามประสา เอาสนุก เราเรียนดนตรีก็เกเร ไม่ได้เรียนจริงจังตอนนั้น แต่เล่นไปเรื่อยๆ จนพี่ก้องมาบอกว่า มีน้องคนหนึ่งไปเจอกันหน่อยไหม น้องไม่ได้อยาก แต่พี่ก้องน่ะอยาก บอกว่าน่าจะเข้ากันได้ เหมือนจับมวยมาชนกันเลย คนละแนวเลยครับ”

ขณะที่ “ตาว” สมาชิกที่เข้ามาหลังสุดของวง และถูก “แร็ก” ยกให้เป็น professional ตัวจริงของวง จะด้วยเพราะเป็นนักเรียนดุริยางคศิลป์ที่จบด้านดนตรีมาโดยตรง ส่วนหนึ่งคือตาวประกอบอาชีพด้านดนตรีมากกว่าใครก่อนจะเข้ามาสู่วง

“คือผมเล่นแบ็คอัพอยู่แล้ว ทีนี้ไปเล่นงานเดียวกันแล้วเจอกัน เฮ้ย ก็ชอบแนวดนตรีนะ ก็เลยมีโอกาสมาเล่นด้วยกัน ตอนนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิก”ตาวเอ่ย

จนถึงความเป็นสมาชิก My Life as Ali Thomas ปัจจุบันนี้ “แร็ก” ยังคงมีหน้าที่การงานประจำ ขณะที่ “ตาว” ยังทำงานด้านดนตรีพาร์ทอื่นควบคู่ไปด้วย

สำหรับ “พาย” บอกว่า “มีแต่วง” พร้อมเสียงหัวเราะของตาวที่หยอกว่า “คนนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์”

……..

เมื่อทั้งหมดมาจากคนละทิศละทาง มีความ “ยาก” ในการผลิตงานไหม?

หลังสิ้นเสียงถาม “พาย” ตอบเร็วก่อนใคร… “ยาก” ก่อนจะเล่นมุขตลกเบาๆให้ตัวเอง “อ่าว ไม่ยากเหรอ” (หัวเราะ)

“คือต่างคนต่างทางกันมา เหมือนนิสัยก็ไม่เหมือนกัน คือ เราไม่ใช่เพื่อนที่เรียนมหาลัยด้วยกัน โตมาด้วยกัน”

ส่วนมากการฟอร์มวงดนตรีมักจะมาจากความเกี่ยวข้องกัน?

“ใช่ แต่วงนี้ไม่ใช่ เรามาทำเพลงกัน แต่ไม่ได้มี direction ว่าเราจะทำเพลงแนวไหน”ตาวบอก

บทสนทนาดำเนินมาถึงวิธีการทำงานของนักดนตรีที่ต่างก็มาจากความไม่คุ้นเคยกันในตอนต้น

ระหว่างทางมีการ discuss ถกเถียงกันแค่ไหน?

“ตาว” ที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกับ “พาย” เอ่ยปากอย่างรวดเร็ว คนแรกถึงการทำงานด้วยกันว่า “โอ้ย เป็นเรื่องปกติ อัลบั้มแรกพวกเราแบบว่า เถียงกันทุกอย่าง จะทำอย่างไรท่อนนี้ บางเพลงเราจะมีเป็นตารางเลย แล้วก็ติ๊กว่าเพลงนี้เดดไลน์เมื่อไหร่ แต่บางเพลงก็ทะลุเดดไลน์ไปไกลมาก

“เหมือนมาทำงานด้วยกัน แต่เมื่อมันหลุดออกมาแล้ว เมื่อมากลายเป็นซ้อม นั่นเป็นเรื่องของความสุข ความสนุกกันแล้ว แต่ตอนทำงานก็เครียดมาก”แร็กเล่าเสริม

 

ช่วงหนึ่งของบทสนทนาที่เริ่มเน้นพูดคุยถึงการทำงานด้วยกันของสมาชิกในวง คำถามหนึ่งผุดขึ้นมา “พายเป็นคนเยอะ…ในงานดนตรีไหม?

“ทั้งดีเทล ทุกอย่าง พาร์ทดนตรี รายละเอียดต้องลง แต่คนนี้ (พูดถึงพาย) เขาจะเป็นคนที่ละเอียดมาก” ตาวเกริ่น

ละเอียดระดับไหน?

“โห ระดับสูงสุดครับ”

“แร็ก” ขยายความต่อในทันที “เขาจะใช้รายละเอียดอย่างที่ตาวพูดถึง คือ เขาเป็นคนที่ถ้าตรงไหนรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ มันยังไม่เพราะ หรือ มันยังไม่โดน พายจะพยายามหาวิธีบอกว่าตรงนี้ต้องอีกนิดนะ เราก็ต้องมานั่งหาตีความกัน ก็เออ มันยังไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะเสียงที่เลือกใช้ ไม่ใช่เพราะเมโลดี้ ไม่ใช่เพราะสโตรกกลองที่เล่นมา หรือ ไม่ใช่เพราะไลน์เบส”

 

และหนึ่งในวิธีการทำงานร่วมกันคือการสื่อสาร กับพายแล้ว สมาชิกทั้งสองของวงบอกว่า มักจะสื่อสารออกมาเป็น “ภาพ” มากกว่าสิ่งอื่นใด

“บางทีมันอยู่ที่ควอลิตี้ของเสียงด้วย เหมือนแบบสมมติว่าอุปกรณ์เท่ากัน แต่ว่าควอลิตี้ของเสียงมันไม่ถึง เขาก็จะเหมือนมีภาพในหัวแล้ว”

นั่นทำให้การทำงานดนตรีในอัลบั้มนี้ แร็กบอกว่า เขาจะต้องแปลงภาพจากสิ่งที่พายจินตภาพเสียงที่ต้องการให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้  

“อย่างกีต้าร์ พี่แร็กจะเป็นแบบเสียงเมฆ นี่เป็นเรื่องตลกทุกครั้ง เขาบอกขอกีต้าร์เมฆๆ คือ เมฆก็พอเข้าใจนะ ว่าฟีลลิ่งของเมฆมันก็คงแบบ เออ อึมครึม หรือ เบาๆ แต่ที่ฮาทุกครั้ง และ ยังจำทุกวันนี้คือ พี่แร็คขอเสียงกีต้าร์สนิมหน่อย เราก็สนิมอะไรวะพาย ผมไปถามทุกคนเลย ถึงขั้นเครียดมาก ผมก็ตามตาวไปเจอพวกมือกีต้าร์เพื่อนตาว ใครเดินออกมาถามหมดว่ากีต้าร์สนิมคืออะไร มันคือความรู้สึกไหน ก็พยายามหา ตีความเอา”พี่แร็กเล่าถึงการทำงาน

“ตีกลองเมฆๆอย่างนี้ ตียังไง” ตาวเล่าขึ้นมาบ้าง ฝั่งพายบอกว่าหลายครั้งก็จะทำสีหน้าเข้าช่วยเพื่อให้ได้เสียงกีตาร์ เสียงกลองแบบที่วาดไว้ในหัว และเพราะเธออาจจะเป็นคนที่ไม่มีศัพท์เทคนิคัล

ขณะที่ตัวงานมิวสิควิดีโอในแต่ละเพลง “พาย” บอกว่า เหมือนกับที่ผ่านมามิวสิควีดีโอครึ่งหนึ่งมันเป็นไอเดียไดเรคเตอร์ บางครั้งภาพที่สื่อออกมาอาจจะไม่ได้เป๊ะกับเพลงขนาดนั้น

เสียงตาวตอบขึ้นมา “เห็นไหมผมบอกแล้วว่า (พาย) ลงดีเทล” (หัวเราะ)

 

-6-

ความว่างของพาย และความชอบการ์ตูนคลาสสิก Tom and Jerry

หรือพายจะเป็นแมว Tom?

 

แม้ขณะนั้นการสัมภาษณ์ดำเนินไปกว่าครึ่งทาง และพายเองก็ดูผ่อนคลายอย่างมากแล้ว ภาพตรงหน้าตอนนั้นแทบจะคิดว่านักร้องนำที่ใครๆเห็นต้องร้องว้าวมาดเท่ ถูกแทนที่ด้วยคาแรกเตอร์ความกวน ขี้เล่น ดูซนๆด้วยซ้ำ นั่นอาจเพราะ สองสมาชิกในวงต่างก็ช่วยขับเคลื่อนบทสนทนาให้ดำเนินไปอย่างเพลิดเพลิน แทรกตัดด้วยเสียงหัวเราะผ่านลำคอของพายมาเบาๆ

แต่การพบเจอเพียงครั้งแรกก็ไม่มีใครไปตัดสินคาแรกเตอร์ใครเมื่อแรกพบได้

กระน้ันความขี้เล่น ดูมีมุมทะเล้นแฝงนิดๆ อาจจะสะท้อนตัวตนเล็กๆมาจากที่มาชื่อ My Life as Ali Thomas ที่พายใช้เป็นชื่อตั้งแต่ทำเพลงส่วนตัวลงแอปพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียด้านดนตรี SoundCloud

ที่มาของชื่อวง My Life as Ali Thomas ที่ได้รากศัพท์จากภาษากรีก คือ Another Twins เป็นสิ่งที่พายอาจจะเล่าเป็นรอบที่ร้อยแล้ว แต่การได้พูดเรื่องนี้กี่ครั้ง ก็พบว่าพายยังเล่าด้วยความสนุกและให้ความรู้สึกสดใหม่ทุกครั้ง

เรารู้ถึงความนัยของชื่อวงแล้ว ว่าพูดถึงตัวตนหรือคนที่เป็นฝาแฝดอีกด้านในตัวเรา

แต่คนที่จะถอดรหัสลับดาวินชี่โค้ดว่า คำสองคำนี้ Ali กับ Thomas นั้น ไปคิดหามาจากภาษากรีกได้อย่างไร มีเพียงเธอคนเดียว…

“พาย” เปิดฉากเล่ายาวอย่างคล่องแคล่ว

“เหมือนเราว่าง ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็อยากได้ชื่อๆ หนึ่ง คือ เป็นคนชอบชื่อคน ที่มาที่ไปของชื่อคนแต่ละชื่อ ทุกชื่อจะมีความหมาย ชื่อคนไทยก็มีความหมาย ภาษาอังกฤษก็มีเหมือนกัน คือ ถ้ามีวงก็อยากให้เป็นชื่อ ไม่อยากให้เป็น The แล้วอะไรซักอย่าง คือ อยากให้เป็นชื่อคน ทีนี้ถ้าจะให้เป็นชื่อก็ต้องมีที่มาที่ไปของชื่อ ก็คิดไปเรื่อยๆ ก็ชอบ Tom and Jerry (การ์ตูนแอนิเมชั่นคลาสสิก) ทีนี้ Tom ชื่อจริงว่า Thomas เราก็เริ่มกูเกิ้ล กรีก รูท (รากศัพท์ภาษากรีก) คือ ภาษาอังกฤษจะมี กรีก รูท กับ ละติน รูท (รากศัพท์ภาษาละติน) แล้วแต่จะลงไปรูทไหน ตอนนั้นก็ไม่ได้คิด แค่อยากหาอะไรซักอย่าง ก็คลิก Thomas เป็นกรีก รูท มันก็ขึ้นมาว่า Twins เราก็เอ้ย Twins มันก็ดีนะ แต่อยากได้ชื่อก่อน Thomas ก็เลยไปหาคำว่าอะไรที่ กรีก รูท แปลว่า Another ก็เลยได้คำว่า Alias ที่แปลว่า Another แต่ทีนี้มันมีคำว่า Ali แปลเหมือนกัน”

 

แร็ก – “มันมีความแบบซับซ้อน”

ตาว- “ผมก็จะ..ห๊า ที่มาชื่อวง”

พาย- “ทีนี้เวลาคนห๊า ก็จะเหมือนว่าเราเตรียมการมา แต่เราแค่ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็กลายเป็นต้องมาอธิบาย ก็ดูเยอะมาก” (หัวเราะ)

แร็กกับตาวช่วยกันเสริม “แล้วคนก็จะเรียกไม่ค่อยถูกนะ อะลีโทปุ๊ส อาลีบาบา มีหมดเลย ก็แล้วแต่คนจะเรียกขึ้นต้น หรือ ข้างหลัง บางคนก็เรียก My life บางคนก็เรียก Ali Thomas”

น่าสนใจไม่น้อยที่ “พาย” เลือกชื่อ ของ “ทอม หรือ Thomas ที่เป็นชื่อเต็มของเจ้าแมวในแอนิเมชั่นเรื่องนี้ ที่มีขนสีเทา มือ เท้า ปลายหางสีขาวมาใช้ในการขานชื่องานดนตรีของเธอ ซึ่งคาแรกเตอร์เนื้อแท้ของทอม ศัตรูที่คอยไล่ล่าเจ้าหนูเจอร์รี่ ที่มักถูกมองเป็นตัวร้าย ทั้งที่เป็นแมวเฝ้าบ้านดีเยี่ยม

บางครั้งทอมก็พร้อมสงบศึกเป็นเพื่อนกับเจอร์รี่ ทอมที่มีอารมณ์อ่อนไหว มีความตั้งใจจริง มีความรับผิดชอบเรื่องบ้านสูง

กระนั้นต่อให้เป็นคู่รักคู่แค้นกันอย่างไรกับเจอร์รี่ ต่างก็พร้อมช่วยชีวิตกันและกัน และร่วมมือกันในบางครา

อย่างไรซะทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้เป็นการไปตัดสินได้ว่า “พาย” เป็นหญิงสาวผู้มีคาแรกเตอร์เหมือนแมวที่มีหลากหลายอารมณ์…อยากจะนิ่ง อยากจะเล่น อยากจะเฉย อยากจะนอนเบื่อไม่ยุ่งกับใคร…

 

-7-

Another Twins

 

ในความหมายของชื่อวง เปรียบถึง “คนเราอาจจะมีชีวิตคู่ขนานหรือตัวตนอีกด้าน”

เช่นเดียวกับตัวตนในอีกด้านของสมาชิกทั้งวงที่มีสองพาร์ทในชีวิต  และเป็นชื่อวงที่บ่งบอกตัวตนได้ชัดที่สุด ทำให้พี่แร็กบอกกับพายทันทีที่ได้ฟังที่มาและความหมายของชื่อว่า “โอเค ลุยเลย ชื่อวงนี้ล่ะ”

“ตอนนั้นพอเจอพี่แร็ก จู่ๆ ก็เอาพี่แร็กกับเราเล่นด้วยกัน พี่แร็กก็ถามว่าอยากชื่ออะไรไหม เราก็บอกว่าเรามีชื่ออยู่ พี่แร็กก็ถามว่ามันคืออะไร เราก็โอเคอันนี้ (My Life as Ali Thomas) แล้วกัน” พายย้อนเวลาให้ฟัง

“แร็ก” เล่าอีกว่า “เหมือนเรามีชีวิตที่เราทำงานอยู่แล้ว แล้วพอพายอธิบายมาส่วนหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่าการที่เรามาเล่นดนตรีมันก็เหมือนเป็นอีกพาร์ทหนึ่งของเรา เราแบบอยากมีอีกโลกหนึ่ง ก็เลยยิ่งชอบชื่อนี้ เลยเอาอันนี้แหละ”

ขณะที่พี่แร็กนอกจากแตกต่างทางด้านเจนเนอเรชั่น จากตาวและพายที่อายุไล่เลี่ยกัน ยังมีอาชีพการงานประจำในบริษัทเอเจนซี่ ที่ต้องแบ่งเวลาจากงานในออฟฟิศมาร่วมซ้อมดนตรีกับน้องๆในวง

“มันต้องพยายามแบ่งเวลาให้ได้ บางทีเราก็รู้สึกเกรงใจวง พองานเยอะ เราก็จะบอกน้องสองคนเสมอว่าวันนี้เราไม่ไหวจริงๆ เราต้องขอเวลาหายไปอยู่กับงานออฟฟิศนะ บางทีโดนเรียกเข้าไปเสาร์อาทิตย์ หรือ เลิกกลับบ้านดึก เราไม่มีเวลามาซ้อมให้…ถ้าช่วงเครียด(งานประจำ) นี่กระทบแน่นอนครับ”แร็กเล่าด้วยสีหน้าจริงจังขึ้น

“วันที่มาซ้อมดนตรีผมสนุกกับมัน มีความสุขกับมัน เหมือนได้มาปลดปล่อยสิ่งที่เราต้องตั้งใจอีกหน้าที่หนึ่งมา แล้วอันนี้ก็เป็นหน้าที่หนึ่งแต่มันสร้างพลังให้เราอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนมาเติมพลังกลับไปแล้วไปลุยต่อ”

ขณะที่ตาว พูดต่อ “คือพี่แร็กจะทำงานจันทร์ ถึง ศุกร์ ว่างเสาร์อาทิตย์ ส่วนเราทำงานดนตรีก็จะทำงานเสาร์ อาทิตย์ ว่างจันทร์ถึงศุกร์ ตาวก็เล่นแบ็คอัพ สอนดนตรี เล่นร้าน บางทีก็เหมือนแบบว่าต้องทิ้งเวลาว่างมาทำงาน”

“ผมก็ทำงานดนตรีส่วนอื่นไปด้วย แต่ตรงนี้ (ทำวง) ก็เหมือนเป็นสเปซของเราที่มาทำสิ่งที่เราชอบ…ผมว่าน่าจะเป็นหลายๆ คนนะครับ อย่างเพื่อนผมที่เรียนดนตรีมาด้วยกัน โตมาด้วยกัน พอวันหนึ่งก็มาทำธุรกิจที่บ้านเขาก็ยังมีสเปซเล็กๆ ของเขาไว้เล่นดนตรี ทั้งที่ตัวเขาก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่การงาน”ตาวเอ่ย

“วันนี้ต้องทำทั้งสองอย่างขนานไปก่อน เราก็ต้องโตขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น ก็ต้องทำ 2 อย่างไปด้วยกัน ถ้าเกิดวันหนึ่งมันเกิดฟลุ๊คขึ้นมา หรือ อะไรก็แล้วแต่ที่มันส่ง My Life as Ali Thomas ขึ้นไปข้างบน อันนั้นผมอาจจะตัดสินใจออกจากงาน ถ้าเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่กล้าคาดหวัง เพราะมันเป็นหลายอย่าง ไม่ได้เกิดจากความฟลุ๊คอย่างเดียว”แร็กกล่าวสรุป

 

-8-

อนาคตไกลๆของ My Life as Ali Thomas

Til the End of Time

 

แม้จะเป็นวงดนตรีที่คุ้นชินกับการแสดงตามงานเทศกาล แต่ถือเป็นอีกความคืบหน้าของวงอินดี้แสนเสน่ห์วงนี้ เมื่อพวกเขาถูกเลือกให้ร่วมขึ้นแสดงดนตรีในเทศกาลดัง SXSW หรือ South by Southwest ที่เท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีหน้า พวกเขาเตรียมตัวจะสร้างเซอร์ไพรส์สู่คนฟังในเวทีเทศกาลใหญ่นี้อย่างไรบ้าง?

ตาว-ตอนนี้เราก็เซอร์ไพรส์ตัวเราเองอยู่ครับ

พาย-เราก็คงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมที่สุด แต่อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องปล่อยมัน…การที่เราได้ไปเล่น เราก็รู้สึกดีใจแล้ว เลยไม่ได้อยากจะไปคาดหวังอะไร

หลังจากนี้จะมีคอนเสิร์ตตัวเองไหม?

ตาวกับพายตอบพร้อมกัน “ก็อยาก”

“แต่หลายๆ อย่างยังไม่ลงตัว เพลงก็ยังเล่นกันอยู่อัลบั้มนี้” ตาวให้มุมมอง

“เราอยากมีเพลงเพิ่มอีกซักอัลบั้ม”แร็กเสริม

ในคำตอบของสมาชิกวง การสร้างสรรค์เพลง-ซิงเกิ้ลใหม่ขึ้นอีก เป็นอีกหนึ่ง “เป้าหมาย” ของพวกเขาอย่างแน่แท้

“พาย” เล่าว่าตอนนี้ก็ยังเขียนเพลงอยู่ แต่การเขียนเพลงก็ยากขึ้น

“ในเชิงที่เรามีอัลบั้มนึงแล้ว จะทำยังไงให้มันแตกต่างจากอัลบั้มแรก ซึ่งก็ค่อนข้างยาก คือ การ push boundary ของตัวเองบางครั้งมันก็ต้องออกมาแบบที่เราชอบด้วย ไม่ใช่ออกมาแบบเราแค่พยายามจะ push boundary แล้วไม่มี point คือ แค่อยากจะแตกต่างก็คงไม่ใช่ คือ มันต้องแตกต่างแล้วก็เป็นอะไรที่เราชอบด้วย”พายกล่าวสีหน้าจริงจังขึ้นอีกนิด

แบบนี้ต้องใช้เวลา?

“มาก” (พายลากเสียงพร้อมหัวเราะเสียงดัง)

“มันเหมือนอัลบั้มแรกมีเวลาทั้งชีวิตที่จะทำอัลบั้มแรก แต่พอมันออกมาอัลบั้มหนึ่งแล้ว เวลาเราค่อนข้างมีเวลาจำกัดที่จะทำเพลงต่อๆ ไป ความต่อเนื่องของเพลง มันก็มีความกดดันบ้าง” ตาวขยายความจากพายอีกทอดหนึ่ง

แสดงว่ามีเหนื่อย แบตเตอรี่หมดไหม เพราะ “พาย” ก็ใช้วัตถุดิบ ใช้พลังแพชชั่นในการทำเพลง สมาชิกอีกสองคนก็ทำกันหนักมากเช่นกัน? แล้วอนาคตยาวๆมองตัวเอง มองวงยังไง?

แร็ก – “สิบปี ผมจะเล่นกีต้าร์ได้อยู่หรือเปล่า ต้องนั่งรถเข็นมาแล้วก็ไม่รู้” (หัวเราะ)

ตาว – “ก็ทำจนกว่าเราจะรู้สึกว่ามันตันแล้ว ทุกวงมันมีอายุของมัน เราก็คงทำไปเรื่อยๆ เท่าที่เราชอบ”

พาย – “ทำจนมันจบ ก็ไม่รู้ว่าจะจบตอนไหน ก็คงไม่ไปฝืนมัน ถ้ามันเสร็จแล้วก็โอเค คงจบ”

 

-9-

บรรทัดระหว่างนี้ถึงสาวๆของพาย

Husband and Wives

 

ด้วยมาดและลุคของ “พาย” ที่ออร่า และท่วงท่าการเล่นกีตาร์เข้มแข็ง สะบัดข้อมือ รัวนิ้ว ชนิดที่ทั้งชายและหญิงก็ต้องบอกว่า “พายเท่” บ้างก็จรดนิ้วลงคีย์บอร์ดพิมพ์ชื่อลากเสียงให้ “พายยยยย”

ได้เช็คเพจเฟซบุ๊คที่มีคนทำให้ไหม อย่างเพจสมาคมเมียพาย?

พายมีท่าเขินกรึ่มอาย หัวเราะร่วนอย่างเดียว

จน “ตาว” หัวเราะตาม พร้อมพูดว่า “ไปโดนใจสาวๆ”

พาย เอ่ยขึ้นมาว่า “ก็รู้สึกดีใจที่เขาชอบงานของพวกเรา แต่ก็มีความงงนิดนึง…เรางง” (หัวเราะเขินยกมือขึ้นปิดปาก)

ตอนนี้ชินแล้วหรือยัง?

พาย – “ตอนนี้เหรอคะ ก็ชินก็ได้” (หัวเราะ)

ตาว – “มีคนอยากมาเป็นเมียเยอะเลย” (หัวเราะ)

พาย – “เป็นเมียเราใช่มั้ย” (พูดกลั้วขำยกมือปิดปาก)

พาย – “เมียก็เมีย” (หัวเราะร่วน)

ตาว- “อ่ะ…เป็นก็ได้นะ” (หัวเราะ)

พาย – “อือ…เป็นก็ได้” (หัวเราะ)

 

-10-

My Life in the Big Woods

มุมมองต่อวงการดนตรีไทย

 

ตาว – “วงการดนตรีมันก็คงสร้างอะไรใหม่ๆ เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็คงพยายามที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้มันเหมือนกับถ้าเราไปโฟกัสทำเพลงนี้ดัง ทำแบบนี้ดัง เราไปตัดสินไม่ได้ เพราะว่าคนฟังคือคนที่มาเลือกผลงานเรามากกว่า เราก็คือทำได้แค่โฟกัสกับผลงานตัวเอง เพราะว่าส่วนตัวคือถ้าเราทำผลงานดีระดับที่เราชอบ แล้วคนเห็นด้วยกับเรา มันก็ขึ้นอยู่กับคนฟังว่าเขาจะสนับสนุนเราเยอะเท่าไหร่ คือ คนฟังเพลงก็มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ”

 

พาย – “พูดยาก เพราะพายอยู่ต่างประเทศส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าวงการดนตรีบ้านเราโตขนาดไหน สำหรับพาย พายรู้สึกว่าไม่ได้มีคอมเมนต์ รู้สึกว่าวงเราไม่ได้เป็นอะไรที่จะไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดนตรี เราก็เป็นของเราไปเรื่อยๆ คนจะถามว่าเรารู้สึกยังไง พายก็จะบอกว่ารู้สึกเหมือนไม่มีคอมเมนต์ มันก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราก็เป็นอย่างที่เราเป็น มันไม่เกี่ยวกัน คิดอย่างนั้นมากกว่า”

 

แร็ก – “คาดหวังว่าอนาคตน่าจะมีน้องๆ วงใหม่ๆ ที่เขาทำเพลงออกมาได้หลากหลายขึ้น มีความเป็นเอกลักษณ์บางอย่างที่ไปได้ไกลขึ้นกว่ารุ่นพวกเราขึ้นไปอีก เพราะเราเชื่อว่าโลกมันเล็กลง เขาสามารถที่จะไปค้นหาแรงบันดาลใจจากข้างนอกมาได้เยอะ มาเติมตัวเขา เหมือนที่เราเวลาไปฟังอะไรมาเยอะ ไปเจอไปเสพแล้วเราก็คายมันออกมา น้องเหล่านั้นก็น่าจะโชคดีที่ได้มีโอกาสสร้างผลงานที่ดีๆ กว่านี้ได้อีก เป็นความคาดหวัง และ อยากเห็นวงการเพลงบ้านเรากว้างขึ้น ไกลขึ้น มีครีเอทีฟมากขึ้น”

…….

เป็นบทสัมภาษณ์ส่งท้ายปีที่ทั้งคุยสนุกและรวดร้าวเบาๆกับสมาชิกวงอินดี้วงนี้…วงที่ปีหน้าเรายังต้องติดตามว่า อีกตัวตนของพวกเขาจะประดิษฐ์อะไรขึ้นมาเซอร์ไพรส์เราได้อีกคราหรือไม่…

#