‘ข้าวเหนียว เดอ grill’ ช่องทางสร้างรายได้ผู้ปลูกข้าวในสกลนคร

ชาวบ้านจาก 8 หมู่บ้าน ในตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หารายได้ผ่านการแปรรูปอาหารและทำตลาดออนไลน์ ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะแรงงานสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรข้าวรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอล สนับสนุนโดยทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“เพ็ญธิยา เดชภูมี” หนึ่งในผู้เข้าอบรมจากโครงการพัฒนาทักษะแรงงานฯ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ช่วยสามีทำธุรกิจขายสินค้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และแบ่งเวลามาทำเกษตร โดยปลูกในรูปแบบอินทรีย์ทั้ง ผักสลัด ใบแมงลัก โหระพา ต้นหอม รวมทั้งทำปศุสัตว์ ที่เน้นบริโภคในครัวเรือนก่อนนำไปขาย

แต่ระยะหลังสภาพอากาศร้อนจัด เกิดความแห้งแล้ง พืชที่ปลูกแทบไม่พอบริโภค เมื่อเห็นว่ามีโครงการพัฒนาทักษะแรงงานนี้เข้ามา ซึ่งอบรมโดยกลุ่มคณาจารย์ที่คุ้นเคย จึงขอเข้าอบรมอย่างไม่ลังเล

เริ่มจากการเรียนทำน้ำหมักชีวภาพ วิธีทำเชื้อไตรโคเดอร์มา จนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวในรูปแบบของ ข้าวต้มญวน ข้าวพอง และ ข้าวโป่ง

“เพ็ญธิยา” เล่าว่า ข้าวต้มญวนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำง่ายสุด วิธีการทำไม่ยาก ส่วนข้าวพองทำในรูปแบบซีเรียลบาร์ ที่เรียกว่า “มินิบาร์” ต้องใส่ใจในเรื่องอุณหภูมิและการตัดแบ่งเป็นชิ้นต้องประณีตได้รูป ที่ยากสุดคือข้าวโป่ง เนื่องจากต้องใช้แรงมากในการนวดแป้ง ใช้ความละเอียดอ่อนในการรีด ก่อนจะนำไปผึ่งแดด ตัดเป็นวงกลม แล้วนำมาปิ้ง

แต่สุดท้าย “เพ็ญธิยา” และผู้เข้าอบรมคนอื่นๆ ก็สามารถทำทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์นี้ได้ ตามหลักสูตรที่หน่วยพัฒนาอาชีพออกแบบไว้

นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ เริ่มตั้งแต่การสร้างเพจ เขียนบอกเล่าผลิตภัณฑ์ ถ่ายภาพ และการแทรกเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับสินค้า และทำตลาดใน Lazada กับ Shopee ตลอดจนเรียนรู้วิธีจัดส่งสินค้าในรูปแบบต่างๆ วิธีแพ็กสินค้าไม่ให้เน่าเสีย

สามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพสร้างรายได โดยขายผ่านเพจ ข้าวเหนียว เดอ grill ซึ่งมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขายหมดทุกรอบ สร้างรายได้เพิ่มให้ “เพ็ญธิยา” ประมาณ 800 บาท/สัปดาห์ หรือ 3,000-4,000 บาท/เดือน

แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดการสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากเป็นการขายในแบบออนไลน์

แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ  “การรวมกลุ่ม” ซึ่งทำได้ไม่สะดวกในช่วงโควิด ต้องปรับตัวมาทำคนเดียว ซึ่งใช้แรงและเวลามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำโครงการในระยะที่ 2 นั้น ได้ปรับมาเป็นการอบรมในรูปแบบออนไลน์ โดยเป็นการต่อยอดเรื่องการตลาดในการทำโมเดลธุรกิจ เพื่อหาจุดเด่น จุดด้อย การสร้างแบรนด์ การสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์

“นอกจากความรู้ที่ได้รับจากโครงการ จนสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้แล้ว สิ่งที่ประทับใจมากคือการช่วยเหลือ ดูแลเอาใจใส่ของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ที่คอยให้ความรู้และดูแลตั้งแต่เริ่มต้น แม้ผู้อบรมหลายคนจะไม่เคยมีความรู้ในเรื่องที่อบรมมาก่อน แต่อาจารย์ทุกท่านมุ่งมั่น คอยช่วยเหลือให้สามารถสร้างรายได้ ตั้งแต่การทำเว็บเพจไปจนถึงวิธีแพ็กสินค้าไม่ให้เน่าเสีย” เพ็ญธิยาเล่า

โครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้ดำเนินงานกับวิสาหกิจชุมชนดาวล้อมเดือน ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองหอย หมู่ 4 และหมู่ 17 บ้านโนนศาลา บ้านหนองสนม บ้านโคกสะอาด บ้านโพนสว่าง บ้านนาคำไฮ และ บ้านโนนเบ็ญ ทั้งหมด 60 คน

เป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการเกษตรด้านข้าว และครอบครัวที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และผู้ที่ขาดโอกาสในการพัฒนาความรู้ตามที่ตนเองต้องการ ได้มีโอกาสเรียนรู้และเสริมทักษะเพื่อพัฒนาวิถีการปลูกข้าวอันเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญ

สำหรับผลิตภัณฑ์ของโครงการนั้น จะเปิดออร์เดอร์ขายผ่านเพจเฟซบุ๊ก ข้าวเหนียว เดอ grill โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็น ข้าวต้มมัดญวณ สูตรโบราณหลายไส้ ทั้งไส้กล้วย ไส้มันม่วง ไส้มันแคร์รอต และ ไส้หมูผสมถั่ว เป็นสูตรไม่มีน้ำตาลและไม่ใส่วัตถุกันเสีย รวมทั้งข้าวที่ใช้ก็เป็นข้าวเหนียวอินทรีย์พันธุ์ กข.6 โดยจะขายเป็นกล่อง ใน 1 กล่องมี 4 ชิ้น ราคา 100 บาท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นทั้ง ข้าวพอง และข้าวโป่ง ที่จะเปิดรับออร์เดอร์บนเพจด้วยเช่นกัน

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน

เพ็ญธิยา เดชภูมี