เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับไข้หวัดมะเขือเทศ

ไข้หวัดมะเขือเทศ

ที่มาของภาพ, Getty Images

กระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ ภายหลังพบเด็กชาวอินเดียติดเชื้อแล้วกว่า 100 ราย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) แม้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในไทย แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากขณะนี้ไทยเปิดประเทศรับผู้เดินทางจากทั่วโลก รวมถึงประเทศที่มีการระบาดของโรค จึงต้องประเมินสถานการณ์ เตรียมแนวทางการคัดกรองและรักษากรณีพบผู้ป่วย

น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยข้อสั่งการของ รมว.สธ. ในวันนี้ (27 ส.ค.) ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขอินเดียแจ้งเตือนพลเมืองให้ระมัดระวังการระบาดของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ เนื่องจากพบผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบ 100 ราย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเบื้องต้นที่มีขณะนี้ รองโฆษกรัฐบาลยืนยันว่าสถานการณ์ของโรคไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดยังอยู่ในวงจำกัด ขณะที่กระบวนการคัดครองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการรักษาโรคมือเท้าปากในเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจคัดกรองและยารักษาอยู่ในสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเด็กเล็ก และมักเกิดขึ้นมากในช่วงฤดูฝน  จึงขอให้ผู้ปกครองให้ความระมัดระวังดูแลบุตรหลานด้วย

ที่มาของไข้หวัดมะเขือเทศ

โรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อ 6 พ.ค. 2022 โดยกระทรวงสาธารณสุขอินเดียยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกในอำเภอโกลลัม รัฐเกรละ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดมะเขือเทศ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก โดยระบุถึงการติดเชื้อในเด็กหญิงวัย 13 เดือน และพี่ชายวัย 5 ขวบจากประเทศอังกฤษ ซึ่งบิดาและมารดาได้พาเด็ก ๆ ไปเยี่ยมญาติที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา 1 เดือน โดย 1 สัปดาห์หลังกลับจากรัฐเกรละในเดือน พ.ค. เกิดมีผื่นขึ้นที่มือและขา เหมือนไข้หวัดมะเขือเทศ

ครอบครัวนี้ได้รับทราบจากสื่อท้องถิ่นในรัฐเกรละรายงานเกี่ยวกับอาการป่วยลึกลับในเด็ก ซึ่งถูกขนานนามว่า “ไข้หวัดมะเขือเทศ” พ่อแม่เด็กแจ้งว่าลูกของเขาได้เล่นกับเด็กอีกคนหนึ่งที่เพิ่งหายจากไข้หวัดมะเขือเทศ 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับ และหลังกลับถึงอังกฤษ เด็กทั้ง 2 ก็ป่วย มีอาการไข้ออกผื่น ลักษณะเดียวกับไข้หวัดมะเขือเทศ

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ยังอ้างถึงข้อค้นพบของ ดร. จูเลียน ถัง จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักรและเพื่อนร่วมงาน ที่ทำการสวอปตุ่มน้ำและลำคอของ 2 ผู้ป่วยไปตรวจ PCR พบว่าไม่ใช่ไวรัสฝีดาษลิง แต่เป็นไวรัสในกลุ่มของเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก และจากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าเป็นไวรัสคอกซากี เอ 16 (Coxsackie A16)  โดยมีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับคอกซากี A16 สายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศจีน จึงไม่ใช่ไวรัสชนิดใหม่ หรือสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด

โรคติดเชื้อไวรัสนี้ถูกตั้งชื่อว่า “ไข้หวัดมะเขือเทศ” โดยคนท้องถิ่นที่พบเห็นอาการของผู้ติดเชื้อ หากเป็นเด็กเล็กจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามตัว จึงตั้งชื่อเรียกเลียนแบบรูปลักษณ์ของมะเขือเทศ

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามหาสาเหตุของโรคอยู่ อย่างไรก็ตามบทความที่เผยแพร่ผ่าน เดอะ แลนเซต (The Lancet) วารสารการแพทย์ของอังกฤษระบุว่า โรคดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) แม้ผู้ป่วยจะแสดงอาการคล้ายกันก็ตาม

อาการของโรค

ไข้หวัดมะเขือเทศ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้ติดเชื้อไข้หวัดมะเขือเทศ จะมีตุ่ม ผื่นแดง และแผลพุพองขึ้นตามตัว สร้างความเจ็บปวดเวลาสัมผัส

ส่วนอาการอื่น ๆ ของโรคที่อาจมีร่วมด้วย ได้แก่ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง มีไข้ ปวดข้อ และปวดเมื่อยตามร่างกาย

ใครคือกลุ่มเสี่ยง

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายเป็นพิเศษ เพราะไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาดที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรืออุจจาระของผู้ติดเชื้อ หรือนำสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสนี้เข้าปาก

สถานการณ์การแพร่ระบาด

ถึงขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดมะเขือเทศในอินเดียอย่างน้อย 100 คน ในจำนวนนี้มี 82 คนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้อไวรัสนี้ได้แพร่กระจายไปแล้วใน 28 รัฐ

สำหรับพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดสูงสุดคือ รัฐเกรละ รองลงมาคือ รัฐทมิฬนาฑู รัฐโอริสสา และรัฐหรยาณา

แม้กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียออกมายืนยันว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้ออกประกาศแนวทางการป้องกัน การตรวจเชื้อ และการรักษาโรคให้แก่ทุกรัฐถือปฏิบัติ หากใครสงสัยว่าติดเชื้อ ให้กักตัวเป็นเวลา 5-7 วันหลังมีอาการ นอกจากนี้ยังกระตุ้นเตือนให้ผู้ปกครองช่วยกันเฝ้าระวังอาการของบุตรหลานเป็นพิเศษ

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว