ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ โรคอัลไซเมอร์

ใน ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมไม่ต่ำกว่า 6 แสนราย และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 1 แสนรายต่อปี เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีอัตราเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ ในผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์ทางอายุรกรรมและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งเรื่องพฤติกรรม อาหารการกิน ยา และอาหารเสริมจำพวกบำรุงทั้งหลาย

“ความเข้าใจอีกหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คิดผิดว่า การกินแคลเซียมเป็นอาหารเสริมและวิตามินบีช่วยบำรุงสมองและกระดูก ซึ่งความจริงแล้ว มีผลวิจัยล่าสุดออกมาว่า การรับประทานแคลเซียมหรือวิตามินบี ไม่ได้ทำให้ความหนาแน่นกระดูกเพิ่มขึ้น ไม่ได้ป้องกันอะไรทั้งสิ้น และไม่ได้ช่วยบำรุงสมอง แต่การกินแคลเซียมส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์มากกว่า รวมไปถึงการกินยาลดกรดไหลย้อนตัวใหม่ที่ราคาแพง หากกินต่อเนื่องกันนานกว่า 4-6 เดือน จะทำให้เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ และเป็นโรคไตร่วมด้วย”

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีรวัฒน์กล่าวเสริมว่า สำหรับแคลเซียมที่ได้จากอาหารการกินไม่มีผลกระทบทำให้เกิดอัลไซเมอร์แต่อย่างใด

สำหรับวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์นั้น นพ.ธีรวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีวิธีการรักษา มีเพียงวิธีการชะลออาการ โดยการทำให้สมองใช้พลังงานออกมาน้อยที่สุด สำหรับความเชื่อที่ว่าการเพิ่มสารเคมีในสมองด้วยการทานกิงโกะ หรือทานยาโคลีนเอสเตอเรส ไม่ได้ช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด

แต่มักถูกเข้าใจผิดว่า ช่วยได้ ซึ่งความจริงคือมีผลทำให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย เพราะมีสารบางอย่างไปปลดล็อกการใช้พลังงานของสมอง

สำหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ ศ.นพ.ธีรวัฒน์แนะนำให้มีการออกกำลังกายและออกกำลังสมองพร้อม ๆ กัน ด้วยการฝึกเล่นเครื่องดนตรี หรือเต้นรำ แต่ถ้าอายุมากขึ้นอาจจะใช้เดินธรรมดาต่อเนื่องกันอย่างน้อยวันละ 22 นาที ซึ่งเป็นเวลาได้รับการวิจัยแล้วว่ามีผลช่วยชะลอโรคได้

“มีการศึกษาว่าต้องใช้พลังงานในการเผาผลาญแคลอรีจึงจะทำให้สมองและสุขภาพดี โดยการเล่นดนตรี ซึ่งไม่ใช่แค่การฟังดนตรี แต่ต้องลงมือเล่นดนตรีไปด้วย เพื่อให้สมองได้ทำงานไปพร้อมกับร่างกาย ซึ่งผู้สูงอายุสามารถหัดเล่นดนตรีได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีอะไร มันช่วยในการฝึกสมองเต็มที่ เพราะการเล่นดนตรีเป็นการฝึกเคลื่อนไหวไปในตัว ทำให้เลือดลมเดินสะดวก สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องเร่ง แต่ให้ทำอย่างต่อเนื่อง”

มีความเชื่อผิด ๆ เรื่องเกมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยทำให้ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ นพ.ธีรวัฒน์บอกว่า การเล่นเกมไม่ได้ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ทั้งหมด เพราะปัจจุบันยังไม่มีเกมที่ออกแบบมาให้สมองทุกส่วนทำงานประสานกัน แต่เน้นไปที่การพัฒนาสมองแบบแยกส่วน โดยมีการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับการเล่นเกม และพบว่า

การ เล่นเกมปัจจุบันทำให้สมองเก่งเฉพาะส่วน ไม่มีความยืดหยุ่น รวมถึงไม่มีการบูรณาการของสมองในส่วนต่าง ๆ เช่น เกมยิงกัน เป็นการใช้สมองเพื่อฝึกฝนปฏิกิริยาโต้ตอบในการตอบสนอง หากเป็นเกมบังคับกระโดดขึ้นลงเป็นการฝึกเรื่องการมองภาพ ดูความลึก เป็นต้น

ถึงแม้ว่าจะไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการกินดี อยู่ดี และออกกำลังกาย ทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองต่างก็ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อวิจัยสาเหตุการเกิดโรค ซึ่งล่าสุด นพ.ธีรวัฒน์กำลังวิจัยเรื่องอาหารที่มีผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสารพิษที่เข้าไปทำลายเซลล์สมองและใยประสาท อาจจะทำให้สามารถรู้ถึงสาเหตุปัญหาและป้องกันการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้


ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้จัด “โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย” โครงการตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ สำหรับประชาชนไทยอายุระหว่าง 55-85 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับการตรวจและทำแบบประเมินคุณสมบัติเบื้องต้น ณ อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 31 มกราคม 2561 ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนด้วยตัวเองได้ที่ www.ad.cra.ac.th หรือลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์ที่เบอร์ 0-2576-6000