เปิดร่างมาตรฐานคุณภาพ “น้ำดื่ม” ใหม่ประเทศไทย

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ร่างมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศไทย เพื่อเป็นมาตรฐานกลางในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพราะปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละแห่งก็มีมาตรฐานเป็นของตัวเอง เช่น การประปาก็ใช้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก กรมอนามัยก็มีเกณฑ์ของกรมอนามัย เป็นต้น จึงมีการยกระดับให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักสุขาภิบาลและอาหาร กรมอนามัย และอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์นั้นมีรายละเอียดการกำหนดคุณภาพด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ด้านกายภาพ กำหนดค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือค่า pH อยู่ระหว่าง 6.5-8.5 ค่าความขุ่น ไม่เกิน 5 NTU และสีของน้ำ ไม่เกิน 15 หน่วยแพลทินัม-โคบอลต์ ซึ่งหากค่าเกินจากนี้ผู้บริโภคจะสามารถเห็นสีของน้ำได้ ทำให้น้ำไม่น่าดื่ม ทำให้เสื้อผ้าสกปรก มีคราบสีติดสุขภัณฑ์ และรสชาติของน้ำเปลี่ยนไป

2.ด้านเคมีทั่วไป ประกอบด้วย ค่าของแข็งละลายน้ำทั้งหมด (ทีดีเอส) หรืออนุมูลทั้งหมดที่พบปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ซึ่งหากมีค่าสูงจะทำให้น้ำมีรสเฝื่อน ปล่า และกำจัดได้ยาก โดยกำหนดต้องไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อลิตร หากเกินจากนี้รสชาติจะเปลี่ยน เกิดการตกตะกอน เป็นตะกรันในเส้นท่อจ่ายน้ำหรือสุขภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านได้ ค่าความกระด้างต้องไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลิตร ซัลเฟตไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งหากค่าสูงกว่านี้จะส่งผลต่อรสชาติน้ำ และเกิดการระบายท้องได้ คลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้าเกินจะทำปฏิกิริยารวมตัวกับโซเดียม เกิดเป็นโซเดียมคลอไรด์ ทำให้น้ำมีรสเค็มและกร่อย

ไนเตรตไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการทำปฏิกิริยากับคลอรีน และการกัดกร่อนท่อส่งน้ำและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ไนไตรต์ไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเดิมกรมอนามัยไม่มีการกำหนดค่าไนไตรต์ ทำให้บางห้องปฏิบัติการอาจไม่วิเคราะห์สารนี้ จึงต้องมีการกำหนดเพื่อเป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นกับทารก และฟลูออไรด์ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งหากเกินจากนี้จะมีผลกระทบต่อการเกิดฟันตกกระในเด็กเล็กอายุ 0-3 ปี และมีผลต่อการเกิดกระดูกโค้งงอในผู้ใหญ่

3.ด้านโลหะหนักทั่วไป ประกอบด้วย เหล็กไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและน้ำไม่เป็นสีแดง เติมคลอรีนแล้วไม่ส่งผลให้น้ำเป็นสีเหลือง แมงกานีสไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งแมงกานีสจะอยู่ในรูปของสารละลายที่มีความเข้มข้นสูงในน้ำที่มีความเป็นกรด สภาพไร้อากาศ โดยเฉพาะน้ำบาดาล ถ้ามีปริมาณถึงระดับหนึ่ง จะทำให้น้ำมีฝ้าสีดำ/ม่วง ส่งผลต่อความน่าดื่ม และปริมาณที่สูงมีความเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการสั่นคล้ายโรคพาร์กินสัน เรียกว่าอาการแมงกานีสซึ่ม (manganism) และมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทองแดงไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยทองแดงเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ความเข้มข้นที่มากเกินจะมีผลต่อรสชาติ ความน่าดื่มของน้ำ

สังกะสีไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อลิตร หากค่าเกินจากนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในด้านรสชาติ ความน่าดื่มของน้ำ ตะกั่วไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร เพราะมีผลต่อระบบประสาท การเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจ ไตล้มเหลว ความดันโลหิตสูง การตั้งครรภ์หรือทารกผิดปกติ พัฒนาการสมองผิดปกติในเด็ก ซึ่งจะสัมพันธ์กับความเข้มข้นของตะกั่วในเลือด โครเมียมรวมไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร แคดเมียมไม่เกิน 0.003 มิลลิกรัมต่อลิตร เนื่องจากเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กและพลาสติก และแบตเตอรี่ ถูกปล่อยในสิ่งแวดล้อมผ่านทางน้ำเสีย ปนเปื้อนในน้ำดื่มเกิดจากการสึกหรอของท่อชุบสังกะสี ซึ่งแคดเมียมอยู่ในกลุ่มอาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ สารหนูไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง และสารปรอทไม่เกิน 0.001 มิลลิกรัมต่อลิตร

และ 4.ด้านชีวภาพ ประกอบด้วย โคลิฟอร์มแบคทีเรีย ต้องตรวจไม่พบในตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร และอีโคไล ต้องตรวจไม่พบในตัวอย่าง 100 มิลลิลิตรเช่นกัน นอกจากนี้ ร่างดังกล่าวยังกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรณีเกิดเหตุการณ์ผิดปกติหรือพื้นที่เสี่ยงด้วย โดยคุณภาพด้านสารเคมี เช่น อะลูมิเนียมไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ไซยาไนด์ไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อลิตร นิกเกิลไม่เกิน 0.07 มิลลิกรัมต่อลิตร เบนซีนไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร คุณภาพด้านชีวภาพ เช่น แบคทีเรีย คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ต้องตรวจไม่พบในน้ำตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ตรวจไม่พบในน้ำตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร ด้านสารศัตรูพืชและสัตว์ เช่น ดีดีที ไม่เกิน 1 ไมโครกรัมต่อลิตร และคาร์บูโฟรานไม่เกิน 7 ไมโครกรัมต่อลิตร เป็นต้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์