ผ่าตัดผ่านกล้องตัวจิ๋ว แผลเล็ก ฟื้นตัวไว ลดอาการแทรกซ้อน

ปัจจุบัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งคุณูปการของการพัฒนาก็คือ เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กหรือการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง (minimally invasive surgery : MIS) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้การผ่าตัดที่ซับซ้อนเป็นเรื่องง่าย

การผ่าตัดรักษาผ่านกล้อง สามารถทำได้ในหลายอวัยวะของระบบร่างกาย เช่น ระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ ได้แก่ ข้อไหล่ กระดูกสันหลัง ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า ระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ได้แก่ มดลูก รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ได้แก่ ต่อมลูกหมาก ทางเดินปัสสาวะ ระบบหลอดเลือดและการไหลเวียนโลหิต เช่น หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ

พญ.หยิง ฉี หวัง สูตินรีแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก MIS เป็นวิธีการผ่าตัด โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 5-10 มม. จำนวน 3-5 รู (ขึ้นอยู่กับโรคที่รักษา) ในบริเวณผิวหนังที่ต้องการผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์และกล้องขนาดเล็ก พร้อมบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ให้ประสิทธิภาพการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดมาตรฐานเปิดแผลใหญ่ แต่จะคมชัดมากขึ้น เพราะกล้องมีกำลังขยายสูง สามารถเข้าไปผ่าตัดในจุดเล็ก ๆ ที่มือแพทย์เข้าไม่ถึง ลดการกระทบกระเทือนอวัยวะภายใน จึงช่วยลดผลแทรกซ้อน ทำให้การผ่าตัดสะดวก ลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง

นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา แพทย์ศัลยศาสตร์ด้านโรคมะเร็ง รพ.วัฒโนสถ กล่าวว่า ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6-12 นิ้ว หรือ 15-30 ซม. ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ปัจจุบันมีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (laparoscopic surgery) จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการ วินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล