โรค NCDs ทำไทยสูญ 1.6 ล้านล้าน/ปี เร่งหาทางรับมือ

Obesity
ภาพจาก pexels โดย Towfiqu barbhuiya

กรมควบคุมโรค เผยโรค NCDs ความสูญเสียกับเศรษฐกิจไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือ 9.7% ของ GDP ทั้งจากโรคอ้วน ดื่มจัด และปัจจัยใหม่อย่าง บุหรี่ไฟฟ้า ด้านสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศเสนอ 5 มาตรการรับมือ พร้อมเดินหน้าปั้นข้อเสนอต่อ ครม.

วันที่ 24 เมษายน 2567 นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยการเสียชีวิตจากโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ฯลฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 9.7% ของ GDP

โดยสัดส่วนราว 90% มาจากการขาดงาน การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของแรงงาน ขณะที่ราว 10% มาจากค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรค

สำหรับสาเหตุนั้น นพ.กฤษฎาอธิบายว่า ตามข้อมูลประชากรล่าสุดคนไทยมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่นเดียวกับจำนวนนักดื่มที่มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนการสูบบุหรี่แม้จะมีสัดส่วนลดลง แต่กลับเผชิญภัยคุกคามใหม่คือ บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมไปถึงภาวะกิจกรรมทางกาย การกินผักผลไม้ของคนไทยที่ยังไม่เพียงพอ ตลอดจนการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ที่ยังอยู่ในสัดส่วนที่สูงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่เราช่วยกันป้องกันและควบคุมได้ โดยต้องเข้าไปแทรกแซงปัจจัยแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งจะลดความเสี่ยงต่อโรค NCDs ลง

แนะ 5 มาตรการสกัดโรค NCDs

สำหรับการรับมือโรค NCDs นั้น ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ระบุว่า ตัวโรค NCDs เกี่ยวข้องตั้งแต่ระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการเมือง จึงต้องมีมาตรการทั้งฝั่งอุปสงค์ (Supply) และฝั่งอุปทาน (Demand) โดยมีการมองไว้ใน 5 มาตรการหลัก คือ

ADVERTISMENT

การจัดการในฝั่งอุปสงค์ (Supply) ได้แก่
1. จัดระเบียบและลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ
2. ส่งเสริมการผลิต กระจาย พัฒนามาตรฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ
3. สร้างสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ และพื้นที่สุขภาวะ

การจัดการในฝั่งอุปทาน (Demand) คือ
4. สร้างความรอบรู้ สื่อสารข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง จำกัดสื่อโฆษณา
5. สร้างโอกาส ประสบการณ์ กิจกรรม ส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาพดี พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

ADVERTISMENT

โดยมีเป้าหมายปลายทางสุดท้าย คือการสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ทำให้ประชาชนในระดับบุคคลมีวิถีชีวิตที่สุขภาพดี (Healthy Lifestyle) ลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรค NCDs ก่อนวัยอันควร รวมถึงการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงอายุและไม่จน นั่นคือมีกำลังในการประกอบอาชีพ โดยที่ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับอาการเจ็บป่วย

เล็งเสนอ ครม.หลังสิงหาคม

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อขึ้น มีอดีตปลัด สธ. และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มาร่วมทำงาน เพื่อระดมเอาภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

โดยจะนำประเด็นต่าง ๆ จากการหารือไปพัฒนาเป็นเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย และนำไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหน่วยงานต่าง ๆ อีกครั้ง ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ก่อนจะจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ในช่วงเดือน ส.ค. เพื่อให้ฉันทามติต่อข้อเสนอนี้ จากนั้นจึงนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม คสช. และเสนอมติต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติต่อไป

หมอแอมป์ แนะ 7 วิธีง่าย ๆ ห่างไกลโรคอ้วน รับวัน World Obesity Day

ศึก “ยาลดอ้วน” ระอุข้ามปี ยักษ์บริษัทยาตบเท้าชิงเค้ก