โรคซึมเศร้า รักษาได้เองจริงหรือ ? หลัง CK แนะทำสิ่งที่ชอบแทนการกินยา

ซีเค เจิง โรคซึมเศร้าหายได้ด้วยตัวเอง

ไขข้อสงสัย โรคซึมเศร้ารักษาหายด้วยตัวเองได้จริงหรือ ? หลัง ‘ซีเค เจิง’ ผู้บริหาร Fastwork แนะให้หาความสุขด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบแทนการกินยา เนื่องจากมีราคาแพงและเป็นการรักษาที่ไม่ยั่งยืน

กลายมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งสำหรับ ‘ซีเค เจิง’ ผู้บริหาร Fastwork ที่ออกมาพูดเรื่องเรื่องการเอาชนะโรคซึมเศร้า ใจความว่า ยาไม่ใช่ทางออกของโรคซึมเศร้า ช่วยเพียงรักษาอาการ แต่ไม่สามารถทำให้คุณออกจากวังวนของโรคได้ มีเพียงตัวคุณเท่านั้นที่จะทำให้คุณหลุดพ้น การกินยาเข้าไปจะทำให้อาการคงที่ แต่เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพามันมากเกินไป

เราต้องพูดคุยหาหนทางสร้างความสุขให้ตัวเองในเวลานั้นแทนการกินยา เนื่องจากยามีราคาแพง และเป็นการรักษาที่ไม่ยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำว่า เราไม่สามารถกินยาไปตลอดชีวิตได้ วิธีแก้ไขคือ เราต้องสามารถเซราโทนิน หรือสารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ได้ด้วยตนเองด้วยการหาเป้าหมายที่รักและอยากจะตื่นขึ้นมาทำ สิ่งนี้จะช่วยให้เราหายจากโรคนี้ได้จริง ๆ

ความเห็นโลกออนไลน์

แม้ว่าความเห็นของซีเค เจิง จะถูกปัดตกจากคนในโซเชียลหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากขัดต่อความเห็นของคนส่วนมาก อาทิ ดราม่าเรื่อง ‘เงินสดคือหนี้’ หรือ ‘การใช้ AI สั่งยาแทนหมอ’ แต่ในครั้งนี้ชาวเน็ตส่วนใหญ่กลับมีความเห็นตรงกับเขามากมาย อาทิ

“สารในสมองทำงานผิดปกติ ใช้ยาเพื่อทำให้มันสมดุล คนที่ทำได้แบบที่คุณพูดก็มี แต่ที่ทำไม่ได้ก็มีเช่นกัน”

“คนเราบางทีไม่จำเป็นต้องฝืนที่จะมีความรู้ทุกเรื่องก็ได้ หมอเขาเรียน 6 ปี ต่อเฉพาะทาง 3 ปี รวม 9 ปี โรคซึมเศร้าหมอและยาช่วยไม่ได้จริงหรอ ? ไม่งั้นเขาจะมีภาควิชาจิตเวชศาสตร์มาทำไมอะถ้าช่วยไม่ได้”

ADVERTISMENT

“ในฐานะคนที่จบจิตวิทยามา จิตแพทย์ไม่สามารถช่วยคุณได้ 100% ส่วนหนึ่งคือตัวคุณเองที่ต้องพาตัวเองออกมาจากโรคนั้น แต่ยาเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณรู้สึก stable และช่วยปรับสารที่ผิดปกติในร่างกายคุณได้เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการรักษา ได้โปรดอย่าลด, งด, หยุด ยาเองเด็ดขาด”

“คนที่ทำแบบนี้แล้วหายคือ คนเป็นสภาวะซึมเศร้าที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า สภาวะกับโรค มันต่างกัน แต่หมอจะใช้รวบคำเดียวว่าเป็นซึมเศร้าเหมือนกัน คนเป็นสภาวะ มีโอกาสหาย 100% แต่คนเป็นโรคเรื้อรัง ต่อให้คิดบวกคูณ 100 ก็ไม่หาย เพราะสารในหัวมันไม่สามารถผลิตได้เองแล้ว”

ADVERTISMENT

“ขอพูดในฐานะคนเป็นซึมเศร้าหนักมากก่อนนะคะ ยาไม่ได้ทำให้เราหายขาดจากซึมเศร้าได้ถ้าชีวิตเรายังยึดติดกับอะไรที่ Toxic หรือแค่คำพูดคนอื่นเยอะเกินไปถ้าชีวิตไม่เริ่มจากการปลดล็อกความรู้สึกตัวเอง เราก็จะทุกข์แบบนี้ไปตลอดชีวิต”

“ในมุมมองเราเองที่เป็นหมอคนหนึ่ง ส่วนตัวไม่ค่อยโอเคกับไมนด์เซตของคนนี้มาหลายคลิปแล้ว แต่ลองเปิดใจฟังคลิปนี้ดี ๆ ก็มีส่วนถูกนะ การปรับมุมมองความคิดต่าง ๆ ของผู้ป่วยก็สำคัญไม่แพ้การกินยาเลย ซึ่งถ้าเทียบกับการกินยาอย่างเดียว การปรับมุมมองโดยการปรึกษานักจิตวิทยาไปด้วย ได้ผลกว่าชัดเจนมาก ๆ”

ประชาชาติธุรกิจ พาไปทำความเข้าใจการรักษาโรคซึมเศร้าที่ถูกต้อง ชวนหาคำตอบของคำถามที่ว่า เซราโทนินสร้างด้วยตัวเองได้จริงหรือไม่ ?

โรคซึมเศร้า ยาไม่จำเป็น จริงหรือ ?

ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต นิยามคำว่า “ซึมเศร้า” หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลาย ๆ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์ เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

  • ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ
  • ปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก อาจมีสาเหตุจากครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาท ซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง

วิธีรักษาโรคนี้จากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง รักษาด้วยการให้ยาต้านซึมเศร้าเพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ได้แก่ เซโรโทนิน, โดพามีน และนอร์อิพิเนฟรีน ควบคุมสมดุลของอารมณ์ แรงจูงใจ ความอยากอาหาร ซึ่งการกินยาต้านซึมเศร้าจะต้องเวลา 1-2 สัปดาห์ ถึงจะเริ่มมีอาการดีขึ้น และต้องกินอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 6 เดือนหรือนานกว่านั้นตามลักษณะอาการผู้ป่วย และไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ

นอกจากนี้ยังมีการรักษาทางจิตใจ คือ การพูดคุยกับจิตแพทย์ จะช่วยให้เข้าใจสาเหตุที่ทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ ซึมเศร้า เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 วิธีการรักษาทางจิตใจที่เห็นผล ได้แก่

  • การรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม ผู้ป่วยที่มีอาการทุกข์เนื่องจากความคิดของตนเองไม่ตรงกับความเป็นจริง อาทิ การมองในแง่ลบมากเกินไปทั้งตนเอง และสิ่งรอบตัว การรักษานี้จึงมุ่งไปที่ปรับความคิดของผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความจริงมากขึ้น รวมถึงการปรับพฤติกรรมให้มีทักษะในการแก้ปัญหา
  • การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นการรักษาที่มุ่งให้ผู้ป่วยปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อื่นได้ดีขึ้น
  • การรักษาจิตบำบัดเชิงลึก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจปมขัดแย้งที่อยู่ในจิตใจตนเอง

‘เซราโทนิน’ สร้างเองได้

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทที่ร่างกายสร้างขึ้น และทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก เมื่อใดก็ตามที่สารเซโรโทนินอยู่ในระดับที่ลดต่ำลงก็จะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกในด้านลบ มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ความเครียด หรือความรู้สึกหงุดหงิดต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างได้ด้วยตนเองจากการทำกิจกรรม ดังนี้

  • กินผักและผลไม้ : สำหรับเซราโทนินที่พบได้ตามเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ การกินอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย จะช่วยให้แบคทีเรียในลำไส้แข็งแรง ทำให้ระดับเซโรโทนินในร่างกายมีปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม
  • การออกกำลังกาย : จะช่วยเสริมสร้างความสุขและลดความเครียดที่ส่งผลต่อการเพิ่มสารเซโรโทนินในสมอง
  • การฝึกโยคะ-สมาธิ : ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและสร้างความสมดุลในร่างกาย ส่วนการฝึกสมาธิช่วยให้มีสติและรับรู้ตัวเองมากขึ้น ทั้งสองอย่างนี้ช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสงบใจที่ส่งผลให้เซโรโทนินเพิ่มขึ้น
  • หายใจให้เป็น : การโฟกัสในการหายใจอย่างสม่ำเสมอและการใช้เทคนิคการหายใจ เช่น การหายใจลึก ๆ สามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่มสารเซโรโทนินในร่างกายได้
  • การเล่นดนตรีหรือฟังเพลง : สามารถเสริมสร้างความสุขและเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมอง ซึ่งมีผลวิจัยรองรับมากมาย
  • การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง : สามารถช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินได้ และทำให้อารมณ์ดี ไม่เครียดด้วย
  • การให้ความรักและความเข้าใจต่อตนเองและผู้อื่น : สามารถช่วยเพิ่มสารเซโรโทนินในร่างกายได้

ทั้งนี้โรคซึมเศร้าไม่ได้อาการดีขึ้นทันทีที่กินยา ผู้ป่วยหรือญาติจึงไม่ควรคาดหวังการกลับมาสู่สภาวะปกติเร็วเกินไป และการรักษาด้วยยามีความสำคัญ เมื่อได้รู้จักโรคซึมเศร้ากันแล้ว จะเห็นว่าไม่ได้เป็นแค่อารมณ์ซึมเศร้าเท่านั้น แต่หากส่งผลกระทบต่อตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำมาสู่ปัญหาการทำงานและการดำเนินชีวิต และบางรายอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

ดังนั้น หากพบหรือสงสัยว่า ตนเอง หรือคนใกล้ชิดของป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรพามาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสมก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป