‘สมศักดิ์’ โชว์ผลงานคนไทยห่างไกล NCDs นับคาร์บได้แล้ว 14.5 ล้านคน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลงานขับเคลื่อนนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)” ทั่วประเทศมีประชาชนนับคาร์บได้แล้วกว่า 14.5 ล้านคน ปี 2568 เดินหน้าเรื่องลดบริโภคเกลือ/โซเดียม ออกกำลังกาย เพิ่มโปรตีน เพิ่มไขมันดี เพื่อคนไทยสุขภาพแข็งแรง พร้อมขยายการจัดตั้งคลินิก NCDs รักษาหายในทุกโรงพยาบาล ศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อทุกอำเภอ ศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ทุกตำบล และ NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม. ทุกหมู่บ้าน

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) คือ ภัยคุกคามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอย่างหนักหน่วง สถิติย้อนหลังจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าในกลุ่มคนไทยที่เสียชีวิตเพราะ NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย โดยในปี 2565 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 74% หรือคิดเป็นจำนวน 45 ล้านคนทั่วโลก และในรายงานนี้ คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึงร้อยละ 77 มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก

สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภคที่ส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง ความเครียด การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือแม้แต่ปัญหาด้านมลพิษ ที่ส่งผลกระทบและสะสมจนกลายเป็นภัยเงียบที่แฝงตัว ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ในที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน

เพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกัน ควบคุม รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของประชาชน กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำ โครงการเผยแพร่ผลงานการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสื่อสารไปยังบุคลากรสาธารณสุข หน่วยงานด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ประชาชนทั่วไป ให้ได้รับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

และท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องการเห็น คือ ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมพฤติกรรมการกิน การนอน และไลฟ์สไตล์ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรค NCDs ยิ่งไปกว่านั้นย่อมจะทำให้สถิติการเกิดโรค ลดลงตามไปด้วย

“การนับคาร์บ” คือการวางแผนการกินคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหารของผู้เป็นเบาหวานเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลหรือผู้ที่จำเป็นต้องนับคาร์บ ซึ่งจะช่วยให้ทราบปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่กินในแต่ละมื้อโดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติและไม่ทำให้น้ำหนักเกิน

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบทิศทางการดำเนินงานการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อรื้อรัง (NCDs) ปีงบประมาณ 2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายไพรวัลย์ อินพา ประธาน อสม. อ.ไทรน้อย นางน้ำทิพย์ สุวรรณศรี เลขา อสม. อ.ไทรน้อย ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า นโยบายคนไทยห่างไกล NCDs มุ่งเป้าในการลดจำนวนผู้ป่วยจากโรคโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรายใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง และลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า ด้วยการส่งเสริมให้มีการปรับพฤติกรรมสุขภาพ

ADVERTISMENT

เนื่องจากโรค NCDs เป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยในปี 2562 ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท 91% หรือประมาณ 1.495 ล้านล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่เกิดจากการขาดงาน ทำงานไม่เต็มความสามารถ ออกจากงานก่อนวัยอันควร และการสูญเสียกำลังผลิตจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อีก 9% หรือประมาณ 1.39 พันล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายทางตรงในการรักษาพยาบาล

ซึ่งเป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ของระบบสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมา การมอบหมายให้ อสม.เป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการกินแบบ “นับคาร์บ” หรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มี อสม.และประชาชนทั่วประเทศสามารถนับคาร์บได้ถึง 14,592,424 คน ช่วยให้เกิดความตระหนักและปรับพฤติกรรมการกิน รวมถึงเข้าใจและตระหนักถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรค NCDs

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ในปี 2568 จะมุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก คือ 1) ลดบริโภคเกลือและโซเดียม เนื่องจากโซเดียมจะดึงน้ำและของเหลวในระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หัวใจ ไต และหลอดเลือด ทำงานหนักมากขึ้น

2) ส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ 20-30% โดยข้อมูลของ WHO ปี 2567 พบว่า สามารถลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ 30% โรคเบาหวาน 27% มะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ 21-25%

3) เพิ่มโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยควรได้รับโปรตีน 1-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เน้นโปรตีนจากธรรมชาติ เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้ง/ผลิตภัณฑ์ น้ำนม และควรเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก เพราะมีคุณภาพดีและมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนมากกว่าโปรตีนจากพืช 4) เพิ่มไขมันดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สมดุล

โดยไขมันดีจะช่วยขจัดคอเลสเตอรอลหรือไขมันเลว (LDL) ที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ แหล่งไขมันดี เช่น ปลาทะเลน้ำลึก อะโวคาโด หอมหัวใหญ่ ไข่ไก่ ถั่วเหลือง ดาร์กช็อกโกแลต น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ เป็นต้น นอกจากนี้ จะขยายคลินิก NCDs รักษาหาย ให้ครบทุกโรงพยาบาล ศูนย์ป้องกันโรคไม่ติดต่อทุกอำเภอ ศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ทุกตำบล และ NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม. ในทุกหมู่บ้าน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน รวมถึงการป้องกัน ควบคุมโรค และส่งเสริมสุขภาพในทุกมิติ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs รายใหม่แล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยที่ป่วยแล้วสามารถลดหรืองดใช้ยาในการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว โดยในปีที่ผ่านมามีการดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่

1) การสร้างระบบบริการด้านสุขภาพ โดย จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs

2) ส่งเสริมความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และร่วมมือกับสหสาขาวิชาชีพในการดำเนินงาน

และ 3) ให้ความรู้ อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงเข้าศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงและติดตามผล โดยล่าสุด มี อสม. ที่สอนนับคาร์บ 1,075,255 คน และมีประชาชนทั่วไปร่วมนับคาร์บ 13,517,169 คน รวมคนที่สามารถนับคาร์บได้ 14,592,424 คน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ด้าน นพ.ภูวเดช สุระโคตร กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งเป็นต้นแบบเรื่องโรงเรียนเบาหวานวิทยา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ นโยบายคนไทยห่างไกล NCDs โดยปัจจุบันภาพรวมในเขต มีโรงเรียนเบาหวานวิทยา 959 แห่ง มีครู ก ครู ข 3,501 คน นักเรียนที่เข้าร่วม 9,635 คน และจากการประเมินผลผู้ป่วยที่เข้าโรงเรียนเบาหวานวิทยาครบตามหลักสูตร 7,505 คน มีผู้ป่วยที่โรคสงบ (DM Remission) 1,129 คน คิดเป็น 15.04% หยุดยาได้ 715 คน คิดเป็น 9.52%

ปรับลดยาได้ 1,819 คน คิดเป็น 24.23% และรับยาเท่าเดิม 3,505 คน คิดเป็น 46.96% มีเพียง 339 คน หรือ 4.52% ที่รับยาเพิ่ม ช่วยลดค่ายาได้ถึง 31,612,000 บาทต่อปี ส่วนในเขตสุขภาพที่ 11 จากการจัดทำโครงการ “NCDs หายได้ที่เขตสุขภาพที่ 11” ผู้ป่วยเข้าร่วม 27,203 คน มีผู้ป่วยโรคสงบ 1,305 คน หยุดยาได้ 787 คน ปรับลดยาได้ 3,471 คน และลดน้ำหนักได้รวม 8,609 กิโลกรัม ช่วยลดค่ายาได้ถึง 1,034,832 บาทต่อปี

สำหรับการจัดตั้งหน่วยบริการตามนโยบาย ปัจจุบันมีคลินิก NCDs รักษาหาย สำหรับรักษาผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแล้ว 131 แห่ง จาก 134 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 563 แห่ง จาก 770 แห่ง และ รพ.สต. 2,343 แห่ง จาก 4,794 แห่ง,

มีศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ช่วยประเมินสุขภาพ ส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบรักษาในคลินิก NCDs รวมถึงดูแลกลุ่มเสี่ยง/ผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใน รพ.สต. 1,567 แห่ง จาก 7,256 แห่ง และมีศูนย์ป้องกันโรคติดต่อในชุมชน (NCDs Prevention Center) ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอครบทั้ง 878 แห่ง

นพ.ภูวเดช สุระโคตร

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน