“โรคเกาต์” ภาวะที่ทำให้เราปวดข้อ หมอแนะวิธีเช็กอาการ ป้องกัน และรักษา

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ อาการปวดของโรคเกาต์ อาจส่งผลให้เคลื่อนไหวข้อได้ลำบาก พร้อมเปิดวิธีเช็กอาการ ป้องกัน และรักษา ระบุเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ 

ผู้ป่วยหลายท่านมักมองข้ามอาการปวดที่มักเกิดขึ้นกับร่างกาย อาจมองเป็นอาการปวดเล็กน้อย ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่รู้หรือไม่ว่าหากเกิดอาการปวดของโรคเกาต์แล้ว อาจส่งผลให้เคลื่อนไหวข้อได้ลำบาก โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสะสมของกรดยูริก (Uric Acid) ในร่างกายสูงเกินไป ทำให้เกิดการตกผลึกของกรดยูริกในข้อต่อ ส่งผลให้เกิดการอักเสบ ปวด บวม และแดงบริเวณข้อ โดยมักพบบ่อยที่นิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อศอก

สาเหตุของโรคเกาต์

  • การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนื้อแดง และแอลกอฮอล์
  • กรรมพันธุ์ หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเกาต์ ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น
  • โรคและภาวะทางสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไต
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ และยากดภูมิคุ้มกัน
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โดยเฉพาะเบียร์และเหล้าที่มีแอลกอฮอล์สูง

อาการของโรคเกาต์

  • ปวดข้ออย่างรุนแรง มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน
  • ข้อบวม แดง และร้อนบริเวณที่อักเสบ
  • เคลื่อนไหวข้อได้ลำบาก
  • หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดก้อนโทฟัส (Tophus) ซึ่งเป็นก้อนของผลึกกรดยูริกสะสมใต้ผิวหนัง

การวินิจฉัยโรคเกาต์

  • ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับกรดยูริก
  • ตรวจน้ำในข้อเพื่อหาผลึกยูริก
  • เอกซเรย์ข้อเพื่อดูความเสียหาย

วิธีการรักษาโรคเกาต์

การใช้ยา

  • ยาลดอาการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน, นาโพรเซน เพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากโรคเกาต์
  • ยาลดระดับกรดยูริก เช่น อะโลพูรินอล และเฟบูซอสแตท เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกาต์โดยการลดระดับกรดยูริกในเลือดให้สมดุลมากที่สุด
  • ยาสเตียรอยด์ กรณีอาการรุนแรง*

การป้องกันโรคเกาต์

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นกรดยูริกสูง
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และน้ำอัดลมที่มีฟรักโทสสูง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยลดการสะสมของกรดยูริก

โรคเกาต์ เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ หากดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเพื่อการใช้ชีวิตประจำวันให้มีความสุข

บทความโดย : นายแพทย์เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน คลินิกระงับปวด และผ่าตัดข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่