
จบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่หลายคนคิดว่าบ้านหมุนไม่ใช่พื้นดินแยกตัว “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสังเกตสัญญาณร่างกาย ว่าเรากำลังทำงานหนัก-พักผ่อนน้อยเกินไปหรือเปล่า เช็กได้ที่นี่
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 หลากหลายคอมเมนต์บนโซเชียลมีเดีย X (Twitter) ต่างระดมโพสต์กันว่า “ชาว 30+ ทุกคนคิดว่าบ้านหมุน ตอนแรกไม่ได้คิดว่าแผ่นดินไหวเลย” หรือ “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าคนไทยมักจะโทษตัวเองก่อนเสมอ เพราะทุกคนคิดว่าบ้านหมุนจะเป็นลมหมด ไม่มีใครคิดว่าแผ่นดินไหวเลย”
ซึ่งในปี 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ทั้งสิ้น 58.92 ล้านคน และจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยจีเอฟเค ยังพบว่า คนไทยมีชั่วโมงการทำงานสูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่สัปดาห์ละ 40-44 ชั่วโมง
ตัวเลขชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินค่าเฉลี่ยของคนไทย สะท้อนถึงความเสี่ยงในการล้มป่วยจากไลฟ์สไตล์ที่ไม่สมดุล โรงพยาบาลกรุงเทพตราด เผยข้อสังเกตเมื่อมีอาการภูมิตก เมื่อภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายมักจะติดเชื้อโรคและป่วยได้ง่ายขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำอาจเกิดได้จาก Unhealthy Lifestyle ที่หลายคนทำจนเคยชิน มีผลให้ร่างกายเสียสมดุลได้ เช่น การนอนที่ไม่มีคุณภาพ การไม่ออกกำลังกาย ความเครียดที่สะสมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบฮอร์โมน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันลดลง และทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง เจ็บป่วยง่าย
อาการภูมิตกที่ควรสังเกต
– มักเป็นหวัดบ่อย ๆ โดยไม่รู้สาเหตุ
– เป็นโรคติดต่อเดิมซ้ำหลายครั้ง เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และอาจติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียเดิมบ่อย ๆ เช่น ติดเชื้อราในปาก ภาวะหูอักเสบ เป็นร้อนใน
– ผู้หญิงมีตกขาวที่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย
– แผลหายช้าเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายรักษาตัวเองอ่อนแอลง
– รู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนล้าตลอดเวลา
– ระบบทางเดินอาหารมีปัญหาทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องร่วง หรือน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
โดยสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังภูมิตก สิ่งที่สำคัญจะเริ่มต้นจากการอ่านสัญญาณจากร่างกายก่อน เช่น อ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุ, เหนื่อยง่ายกว่าปกติ, มีอาการเป็นหวัดบ่อยกว่าปกติ หรือมีอาการคล้ายหวัด เช่น ไอ, จาม, มีน้ำมูก หรือผิวหนังมีอาการคัน, ทานอาหารได้น้อยลง หรือไม่อยากอาหาร, ท้องเสียบ่อย ๆ และ มีอาการแปลกปลอมอื่น ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
8 ความเสี่ยงเมื่อภูมิคุ้มกันตก
เสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ ยิ่งภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ก็จะยิ่งเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย นอกจากจะทำให้เรามีไข้พุ่งฉุดไม่อยู่ ปวดเมื่อยตัว ไอแห้ง เจ็บคอแล้ว อาจเกิดอาการแทรกซ้อนถึงตาย
เสี่ยงโรคภูมิแพ้ เมื่อต้องเจอทั้งฝุ่นและมลพิษทุกวัน ก็อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ จนเกิดทนไม่ไหว คัน เคือง น้ำมูกไหลได้ตลอดเวลา
เสี่ยงภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ อีกโรคมาแรงของวิถีชีวิตของวัยทำงานที่เครียดเก่ง ทำให้เป็นไข้หวัดบ่อย ๆ ท้องเสียง่ายหรือเรื้อรัง เป็นโรคเชื้อราบนผิวหนังบ่อย ๆ ผื่นขึ้นง่ายโดยเฉพาะเวลาที่เครียดหนัก
เสี่ยงโรคแพ้ภูมิตัวเอง เมื่อความเครียดเพิ่มปัจจัยความเสี่ยงโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่ภูมิคุ้มกันจะย้อนกลับมาทำลายเนื้อเยื่อจนอักเสบเรื้อรังทำให้อ่อนเพลีย แพ้แดดง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอันตรายถึงชีวิต
เสี่ยงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อีกหนึ่งโรคร้ายจากภาวะที่ภูมิคุ้มกันจะย้อนกลับมาทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้มีการอักเสบรุนแรงของข้อ โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า
เสี่ยงโรคตับอักเสบ ภูมิคุ้มกันต่ำทำให้เราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ง่าย ยังเสี่ยงว่าร่างกายจะจัดการกับเชื้อไวรัสไม่ได้ กลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้ในอนาคต
เสี่ยงโรคหัวใจ การติดเชื้อไวรัสเนื่องจากภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจที่จะทำให้เจ็บใจตลอดเวลา มีอาการหัวใจอ่อนแอ
เสี่ยงโรคมะเร็ง ภูมิคุ้มกันต่ำก็ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งได้มากขึ้นด้วย เพราะเมื่อเซลล์ก่อมะเร็งเริ่มก่อตัว ระบบภูมิคุ้มกันที่มีอยู่น้อยนิดไม่สามารถต่อต้านหรือทำลายเซลล์ร้ายได้ ทำให้แพร่กระจายกลายเป็นเนื้อร้ายที่ยากจะกำจัด