เปิดงานวิจัย-ไขข้อข้องใจ 8 คำถาม กับการ”แปรงฟันแห้ง” ?

เมื่อวันที่  22 มิถุนายน 2561 ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Thongchai Vachirarojpisan” ถึงกรณีการแปรงฟันแห้ง โดยมีผู้เข้ามาอ่าน และแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก โดย ทพ.ธงชัย ตั้งคำถาม และคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้

8 คำถามเกี่ยวเนื่องกับ แปรงแห้ง

ขอบคุณสำหรับการเข้ามาชมคลิปนี้มากมายกว่า 600,000 view แล้ว ผมได้รับ คำถาม ข้อสงสัย และ feed back จะขอสรุปตอบเป็นข้อๆดังนี้ครับ

1. ถ้าแปรงแห้งดีจริง ทำไมเพิ่งบอกประชาชน?
ตอบ งานวิจัยที่พบว่า ถ้าบ้วนน้ำหลายๆครั้ง ความเข้มข้นของฟลูออไรด์จากยาสีฟันจะลดลงนั้น มีในช่วงปี 2536 เป็นต้นมา แต่จุดสำคัญอยู่ที่ปี 2555 (6 ปีที่แล้ว) ที่มีการประชุมของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ และได้ข้อสรุปว่า การแปรงแห้งให้ประโยชน์ในการป้องกันฟันผุ และการบ้วนน้ำจะลดประสิทธิภาพฟลูออไรด์ลง ดังนั้นเรื่องนี้ใหม่มากๆครับ ทันตแพทย์กระทรวงสาธารณสุขหลายจังหวัด มีการทำโครงการแปรงแห้งในเด็กนักเรียนประถมมานาน 2-3 ปีแล้ว

2. มีสารอื่นๆผสมในยาสีฟันอีกมากมาย จะเป็นอันตรายหากตกค้างอยู่ในช่องปากหรือไม่ ?
ตอบ สารที่กังวลกันมากคือ สารที่ทำให้เกิดฟอง (SLS) เนื่องจากมีข้อมูลผลเสียของ SLS ว่าจะทำให้แพ้ หรือเป็นมะเร็ง แพร่หลายในโลกออนไลน์ สำหรับข้อเท็จจจริงคือ SLS ไม่ใช่สารก่อมะเร็ง มีการอนุญาตให้ใช้ SLS ใส่ในเครื่องสำอางค์ต่างๆ ไม่เกิน 15% ส่วนในยาสีฟันมักจะใส่ SLS อยู่ที่ 0.5-2% เท่านั้น เมื่อผสมกับน้ำลายตอนแปรงฟันและบ้วนทิ้ง ก็จะเหลือ SLS ที่เจือจางน้อยมากจนไม่สมารถทำให้ระคายเคืองในช่องปากได้ (จะต้องใช้ SLS 2 % สัมผัสนาน มากกว่า 1 ชั่วโมง จึงจะมีการระคายเคือง) อย่างไรก็ตามสำหรับท่านกังวลเรื่องนี้ ผมแนะนำให้เลือกซื้อยาสีฟันที่มีฟองน้อยครับ ส่วนสารอื่นๆก็จะถูกเจือจางไปมากเช่นกัน
หากท่านใดที่กังวลในเรื่องนี้มากๆ ก็คงต้องชั่งน้ำหนักว่า ประโยชน์ในการป้องกันฟันผุที่ได้รับจากการแปรงแห้งจะคุ้มค่ากับความกังวลที่มีอยู่ ท่านสามารถพิจารณาและตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะกับตนเองได้เลยครับ

3. มีการพบผู้ป่วยแพ้ยาสีฟันจนริมฝีปากบวมอยู่บ้าง จึงมีความกังวลว่า ถ้าแปรงแห้งจะทำให้เกิดอาการแพ้ ? (อันนี้เป็น comment จากกลุ่มแพทย์)
ตอบ ในรายที่ผู้ป่วยแพ้ยาสีฟันบางยี่ห้อ ไม่ว่าจะแปรงปกติ หรือ แปรงแห้ง ก็จะเกิดอาการแพ้เหมือนกัน ซึ่งการแพ้นี้จะเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลเท่านั้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงถ้าใช้ยาสีฟันยี่ห้อนั้นๆแล้วแพ้

4. โรคฟันผุมาจากสาเหตุอื่น เช่น ความถี่ในการกินแป้งและน้ำตาล ความสะอาดของการแปรงฟัน ดังนั้นน่าจะไปลดการกินน้ำตาล กับ แปรงฟันให้สะอาดจะดีกว่าไหม?
ตอบ ถ้าทำได้ทั้ง 3 อย่าง(คือ ควบคุมการกิน แปรงได้สะอาด และ แปรงแห้ง) ก็จะ “ดีที่สุด” หากทำได้อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะ “ดี” แต่ถ้าทำไม่ได้ทั้ง 3 อย่าง ก็จะ “แย่” คือมีโอกาสเกิดฟันผุแน่ๆ

5. เด็กเล็กแปรงฟันแห้งได้ไหม?
ตอบ ในเด็กเล็กซึ่งจะเป็นกลุ่มอายุที่ฟันผุได้ง่าย แนะนำให้แปรงแห้ง โดยที่เมื่อผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็กเสร็จแล้ว ก็ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดฟองออก ส่วนเด็กที่โตพอก็ให้ถ่มน้ำลายออกด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือ ผู้ปกครองต้องดูแลไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟัน เพราะไม่ว่าจะแปรงแห้งหรือแปรงเปียก หากไม่ดูแลอย่างใกล้ชิดเด็กอาจกลืนกินยาสีฟันในระหว่างที่แปรงฟันได้

6. กรณีมีเศษอาหารติดอยู่ตามฟัน จะทำอย่างไร?
ตอบ ทำได้หลายวิธีครับ เช่น บ้วนน้ำแรงๆเอาเศษอาหารออกก่อนแปรงแห้ง หรือ แปรงฟันสองรอบ รอบแรกแปรงเปียกเอาเศษอาหารกับแผ่นคราบจุลินทรีย์ออกไปก่อน แล้วค่อยแปรงแห้งอีกรอบ (เป็นข้อเสนอแนะจากประชาชนใน page ของ Amanrin TV ซึงผมเห็นว่าน่าสนใจมาก)

7. แปรงแห้งแล้วบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากได้หรือเปล่า?
ตอบ ถ้าใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีฟลูออไรด์ ไม่ควรบ้วนหลังการแปรงแห้ง หากจะบ้วนด้วยน้ำยาบ้วนปากควรรอ 2 ชั่วโมงจึงจะบ้วนได้ แต่ถ้าใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ก็จะใช้อมบ้วนปากทันทีหลังแปรงแห้งได้ ซึ่งจะได้ฟลูออไรด์เพิ่มเติมจากน้ำยาบ้วนปากอีกเล็กน้อย (ปล. ห้ามบ้วนน้ำตามอีกรอบนะครับ)

8. ถ้าไม่อยากแปรงแห้ง จะทำอย่างไร?
ตอบ ถ้ายังไม่ชินและรู้สึกแปลกอยู่ แต่ยังอยากได้ประสิทธิภาพของฟลูออไรด์ในการป้องกันฟันผุ ผมแนะนำให้บ้วนน้ำ 1 ครั้งแทนการแปรงแห้ง แม้ฟลูออไรด์จะลดลงบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าบ้วนน้ำหลายๆครั้ง เพราะฟลูออไรด์จะไม่หลงเหลืออยู่ในช่องปากเลย

ปล. แปรงแห้งต้องใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เท่านั้นนะครับ ถ้าใช้ยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์ จะแปรงแห้งหรือแปรงเปียกก็ไม่ช่วยป้องกันฟันผุแต่อย่างใด

อ้างอิงจาก
บทความวิชาการ เรื่องแปรงแห้ง ของ ศ.ทพญ.ดร.สุดาดวง กฤษฎาพงษ์ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสาธารณสุข ปีที่ 26 ฉบับเพิ่มเติม 2, กันยายน-ตุลาคม 2560 หน้า 348-59

บทความ Post-brushing rinsing for the control of dental caries: exploration of the available evidence to establish what advice we should give our patients. Br Dent J 2012, 212:315-20

ที่มา:มติชนออนไลน์