นักวิจัยผุด “ครีมสารสกัดข้าวหอมนิล”ยับยั้งไวรัสก่อโรคเริม หวังต่อยอดเชิงพาณิชย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยิ่งมณี ตระกูลพัว อาจารย์สาขาวิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ถึงผลงานวิจัยเรื่อง “ประสิทธิภาพของสารสกัดข้าวหอมนิลเพื่อการยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคเริม และการอักเสบ” โดยนำมาจัดแสดงในงานประชุมวิชาการ หัวข้อ “จุดประกายความคิด สร้างเศรษฐกิจนวัตกรรม ด้วยพลังงานวิจัย” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

โดย ผศ.ดร.ยิ่งมณี หนึ่งในทีมวิจัยร่วมกับจักรพรรณ ขุมทรัพย์ นักวิจัยปริญญาโทสาขาวิชาจุลชีววิทยาประยุกต์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ครีมที่มีสารสกัดจากข้าวหอมนิลเพื่อใช้ในการยับยั้งไวรัสก่อโรคเริมและการอักเสบ หลังพบว่า สารสกัดจากข้าวหอมนิลมีประโยชน์ในการยับยั้งการติดไวรัสก่อโรคเริมในเซลล์เพาะเลี้ยง และยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสก่อโรคเริม

“เมื่อทดสอบการยับยั้งการติดไวรัสก่อโรคเริมในเซลล์เพาะเลี้ยงโดยสารสกัดจากข้าวหอมนิลที่ความเข้มข้นไม่เป็นพิษต่อเซลล์พบว่าพบว่า สารสกัดน้ำจากตัวอย่างข้าวหอมนิล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคเริมทั้งชนิดที่ 1 และ 2 หลังเกาะติดกับเซลล์ได้โดยสามารถยับยั้งได้ 98.23 % และ 100% ตามลำดับ ส่วนสารสกัดน้ำของข้าวหอมนิลสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสก่อโรคเริมชนิดที่ 1 และ 2 ได้ร้อยละ 50 และ 73.60 ที่ 36 ชั่วโมงหลังจากการติดเชื้อไวรัส และสามารถต้านการอักเสบได้” อาจารย์สาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว และต่อว่า อาจจะนำความรู้นี้ต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอนาคต

นักวิจัยระบุถึงหลักการของโรคว่า เชื้อไวรัสก่อโรคเริมมี 2 ชนิดคือ ชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 เมื่อติดเชื้อครั้งแรกไวรัสก่อโรคเริมสามารถแอบแฝงในปมประสาท และเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด แสงแดด การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน และภูมิคุ้มกันที่ลดลง เชื้อไวรัสแอบแฝงจะถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวน ทำให้เกิดอาการของโรค

“การรักษาทั่วไปมักใช้ยา acyclovir ซึ่งมีกลไกยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสจึงมีผลให้ไวรัสไม่สามารถสังเคราะห์ดีเอ็นเอ แต่การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้ไวรัสดื้อยา และอาจก่อปัญหาในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกับต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์” ผศ.ดร.ยิ่งมณี กล่าว และต่อว่า การใช้สารสกัดจากธรรมชาติจึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสก่อโรคเริม และการอักเสบ ซึ่งประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยสารสกัดธรรมชาติ

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนานักวิจัย และงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (MSD58I0103) และห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฟว์สตารส์ เฮอร์เบิล แกลเลอรี่