ทางเลือกผู้ป่วยเริ่มเป็นจริง! ใช้ ‘กัญชา’ ทางการแพทย์ พ.ค. 62 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่จะปลดล็อกให้สามารถนำกัญชามาวิจัยทางการแพทย์ในมนุษย์ได้ ซึ่งจากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 และมีเวลาให้คณะกรรมาธิการพิจารณา 90 วัน จึงคาดว่า กฎหมายดังกล่าวจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้ช่วงเดือนตุลาคมนี้ และจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน คือช่วงเดือนเมษายน 2562 ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 จะต้องสามารถนำกัญชามาใช้เป็นยาทางการแพทย์ หรือศึกษาวิจัยในมนุษย์ได้

“คณะกรรมการฯ จะมีคณะทำงาน 4 คณะ ซึ่งแต่ละคณะต้องไปวางกรอบระยะเวลาในการทำงานให้ชัดเจน เช่น คณะทำงานเพื่อพัฒนาการสกัดฯ จะทำอย่างไรให้มีน้ำมันกัญชาหรือยากัญชาใช้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 หรือคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมฯ ที่มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหลัก ก็ต้องไปออกกติการะเบียบต่างๆ ทำอย่างไรให้มีผลิตภัณฑ์ใช้ ใช้ทางการแพทย์ทำอย่างไร ใครจะเป็นคนสั่งจ่าย การศึกษาวิจัยทำอย่างไร ผลิตระดับอุตสาหกรรมทำอย่างไร เป็นต้น โดยการประชุมครั้งหน้าแต่ละคณะทำงานต้องวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนแล้ว ว่า การผลิต การสกัดจะเริ่มได้เมื่อไร จำนวนน้ำมันกัญชาต้องใช้มากเท่าไร ซึ่งจะช่วยเรื่องของการวางแผนผลิต ถ้าไม่ทันต้องนำเข้าหรือไม่ เป็นต้น เพื่อให้ทั้งหมดมีการใช้ได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการรายงานความคืบหน้าของแต่ละคณะทำงานนั้น คณะทำงานเพื่อพิจารณาการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และ แพทย์แผนไทย รายงานว่า ในส่วนแผนปัจจุบันพบว่า โรคที่มีการศึกษาวิจัยชัดเจนแล้วว่าใช้กัญชาได้มี 3 กลุ่ม คือ แก้คลื่นไส้อาเจียนในคนไข้มะเร็งที่รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักในเด็ก และปลอกประสาทอักเสบ ส่วนโรคที่มีการศึกษาวิจัยแต่ยังไม่ชัดเจน เช่น ลมชักที่ดื้อยาอื่นๆ การมีผลต่อเซลล์มะเร็งในคนหรือไม่ พาร์กินสัน และจิตเวช อย่างอัลไซเมอร์ ส่วนแพทย์แผนไทยมีการยกเข้ามา 4 ตำรับ ซึ่งขอให้คณะทำงานฯ ไปศึกษาว่า ตำรับที่ต้องใช้ประกอบด้วยแคนนาบิดอยล์ หรือ CBD และเตตระไฮโดรแคนนาตินัล หรือ THC อัตราส่วนเป็นอย่างไร ปริมาณคนไข้ทั้งหมดเยอะหรือไม่ เพื่อจะได้ทราบว่าจะต้องมีน้ำมันกัญชาหรือยากัญชามากเท่าไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีโซเชียลมีเดียระบุวิธีสกัดกัญชาแบบพื้นบ้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า คิดว่ากัญชาน่าจะสกัดง่ายด้วยเอทานอล แต่อาจจะอันตราย ก็ไม่แนะนำให้ไปทำเอง ส่วนในระดับอุตสาหกรรมจะมีระบบการควบคุม แต่ในต่างประเทศบางแห่งหันมาใช้คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นระบบที่ปลอดภัยกว่า อภ.ก็ต้องไปดูว่า สกัดด้วยวิธีไหนปลอดภัย หรือได้ตัวยามากกว่ากัน และเปรียบเทียบความคุ้มค่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เกิดกระแสว่ากัญชาสามารถนำมาใช้ได้แล้ว นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขอย้ำว่า ขณะนี้กัญชายังไม่สามารถใช้มนุษย์ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย ทำได้เพียงแค่ขออนุญาตปลูก นำเข้า และสกัด แต่จากที่คาดคือ พ.ค. 2562 จะนำกัญชามาใช้ในมนุษย์ได้ แต่เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น และต้องใช้ตามข้อบ่งชี้ ซึ่งคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมฯ จะเสนอคณะกรรมการยาเสพติดว่า กัญชาทางการแพทย์ต้องมีข้อบ่งชี้อะไรบ้างที่จะอนุญาต ซึ่งถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ก็จะไม่มีการอนุญาตให้ผลิตด้วย ส่วนแพทย์หากจะสั่งจ่ายไม่ต้องมีการขออนุญาต แต่ต้องสั่งจ่ายตามข้อบ่งชี้ มิเช่นนั้นถือว่าผิด โดยอยู่ระหว่างยกร่างเป็นกฎหมายลูก ซึ่งจะมีทั้งประเด็นการวิจัยในคน การเอาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยา

เมื่อถามถึง อภ.ที่กำลังเสนอโครงการขอปลูกและวิจัยทำสารสกัดจากกัญชา นพ.โสภณ กล่าวว่า อภ.จะเสนอโครงการเป็น 2 โครงการ คือ โครงการขอของกลางมาสกัด ซึ่งขณะนี้เสนอไปเรียบร้อยแล้ว และอีกโครงการ คือการขอปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการเพื่อเสนออยู่

ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาสิทธิบัตรกัญชา นพ.โสภณ กล่าวว่า ตนไปพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์มาแล้ว ท่านก็บอกว่าจะช่วยเฝ้าระวังให้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ประกาศให้สิทธิบัตร เพียงแต่ที่ผ่านมาช่วงที่ยื่นขอและประกาศโฆษณานั้นไม่มีใครคัดค้าน จึงต้องเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการ แต่หากเป็นการขอสิทธิบัตรสารสกัดจากพืช ซึ่งกฎหมายระบุว่าไม่สามารถทำได้ ก็จะถูกตีตกไป ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็เฝ้าะรวังให้ในเรื่องนี้

เมื่อถามถึงการสกัดกัญชาจะใช้ของกลางหรือพัฒนาสายพันธุ์ นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้คงใช้ของกลางไปก่อน ซึ่งก็จะมีมาตรา 101 ทวิ และ 102 ทวิ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่กำหนดว่าเมื่อมีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณยาเสพติดแล้ว กระทรวงสาธารณสุขสามารถทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่ระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่ต้องรอให้คดีสิ้นสุด ตอนนี้ก็ต้องนำของกลางมาลองสกัด หากรู้ว่าดี เมื่อครั้งหน้าสามารถจับกัญชาแบบนี้ได้ก็ต้องเก็บในคลังไว้ให้ดี ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์นั้น อย่างแพทย์แผนไทยก็ระบุเลยว่าต้องใช้กัญชาพันธุ์ไทย เพื่อให้เป็นไปตามสูตรตำรับ คงไม่ใช้สายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ

 


ที่มา มติชนออนไลน์