ตรวจเลือดคัดกรองมะเร็งเต้านม ความหวังใหม่ของหญิงไทย

มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย สถาบันมะเร็งแห่งชาติเปิดเผยว่าการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ ไม่จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงที่อายุมากเท่านั้น โดยมีตัวเลขว่าผู้หญิงอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปล้วนมีความเสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งเต้านม

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมต้องเริ่มตื่นตัวเพื่อรู้เท่าทันภัยเงียบนี้ เพราะหากตรวจพบไวก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ทุกคน จึงแนะนำให้หมั่นสังเกตความผิดปกติด้วยตนเอง และตรวจสุขภาพเต้านมเป็นประจำด้วยการคลำโดยบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งพิจารณาเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองโรคทั้งสองวิธีนี้ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง ยังมีข้อจำกัดในด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ และแม้ว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน แต่มีต้นทุนสูงไม่คุ้มค่าสำหรับประเทศไทย หากจะนำมาเป็นนโยบายในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นให้กับผู้หญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้และช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการคัดกรองมะเร็งเต้านมมากขึ้นในราคาที่ถูกลง สถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงริเริ่มโครงการวิจัยพัฒนาวิธีคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบใหม่ด้วยการตรวจสารบ่งชี้ในเลือดมาตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้การสนับสนุนจากภาคเอกชนต่าง ๆ อย่างเช่น “วาโก้” ซึ่งสนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ร.อ.นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล และหัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้งานวิจัยคืบหน้าไปอีกขั้น โดยอยู่ในช่วงเฟส 2-3 ซึ่งทำคู่ขนานไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้ประหยัดเวลาการดำเนินโครงการไปได้ประมาณ 6 เดือน-1 ปี

การวิจัยนี้ได้ทำการค้นหาสารชีวโมเลกุลในเลือด (biomarker) ของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะต่าง ๆ เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีก้อนเต้านมผิดปกติแต่ไม่ใช่มะเร็ง และเลือดในคนปกติจำนวน 1,784 ชนิด จนสามารถคัดแยกสารเอกลักษณ์ที่มีความเป็นไปได้รวม 64 ชนิด

เนื่องจากมะเร็งแต่ละระยะมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ทำให้องค์ประกอบในเลือดมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน ขณะนี้ ทีมวิจัยอยู่ในช่วงการตรวจสอบความถี่ของสารแต่ละตัว เพื่อคัดเลือกสารชีวโมเลกุลที่มีโอกาสพบสูงสุดในมะเร็งเต้านมแต่ละระยะ ก่อนนำมาสร้างรูปแบบของการแสดงออก เพื่อคัดแยกมะเร็งเต้านมแต่ละระยะออกจากกัน ถ้าหากผลลัพธ์เป็นไปตามที่คาด ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพัฒนาสารที่มีความไวมากพอที่จะทำปฏิกิริยากับสารชีวโมเลกุลเหล่านี้พัฒนาเป็นอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น


“หากประสบผลสำเร็จ งานวิจัยชิ้นนี้ก็จะเป็นเสมือนความหวังใหม่ที่ช่วยให้ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมในอนาคต” นพ.สมชายกล่าว