ภูมิแพ้อาหารแฝง ภัยเงียบสู่โรคเรื้อรัง

การแพ้อาหาร หรือโรคภูมิแพ้อาหารแบบเฉียบพลัน หลายคนคงพอจะนึกภาพออก คือเมื่อกินอาหารอะไรที่ร่างกายแพ้แล้วจะมีอาการแสดงออกมาทันที แต่ยังมีโรคภูมิแพ้อาหารอีกประเภทหนึ่งที่เรายังรู้จักน้อย ก็คือ โรคภูมิแพ้อาหารแฝง เนื่องจากไม่ได้แสดงอาการแพ้ออกมาทันที จึงไม่ทราบว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการจากการแพ้อาหาร 

การแพ้อาหารทั่วไปคือการที่ร่างกายตอบสนองต่อสารบางชนิดในอาหาร โดยทั่วไปมักแสดงอาการฉับพลันทันที หรือหลังกินอาหารไม่นาน

ส่วนโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั้น ไม่ได้แสดงอาการเฉียบพลัน แต่จะค่อย ๆ สะสมเป็นภัยเงียบ โดยอาหารจะไปกระตุ้นอิมมูโนโกลบูลินชนิดจี (Ig G) ในแบบที่ต่างจากการแพ้อาหารปกติ จึงไม่แสดงอาการแพ้ Ig G จะทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ดังนั้นถ้ากินอาหารเดิม ๆ ที่ร่างกาย

ต่อต้าน ก็จะยิ่งกระตุ้นการสร้าง Ig G มากจนกำจัดออกไม่หมด ร่างกายก็จะโดน Ig G ทำลาย นำไปสู่เกิดโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรง

นายแพทย์ชวภณ กิจหิรัญกุล แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์การแพทย์บูรณาการโนวาวิด้า กล่าวให้ความรู้ในงาน Healthcare 2018 ว่า โรคภูมิแพ้อาหารแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โรคภูมิแพ้แบบเฉียบพลันที่เกิดอาการแพ้ทันที มีความรุนแรงสูง กับโรคภูมิแพ้อาหารแฝง (hidden food allergies) ที่มีอาการคล้ายกับโรคภูมิแพ้แบบเฉียบพลัน แต่รุนแรงน้อยกว่า เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการทันที แต่จะสะสมอาการแพ้ก่อนแสดงอาการหลังจากทานไปแล้ว 4-5 วัน

อาการโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นเกิดขึ้นทั้งระบบร่างกาย เช่น การท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง มีอาการมึน อ่อนเพลีย และเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคหัวใจ โรคอ้วน มะเร็ง

สาเหตุของโรคภูมิแพ้อาหารแฝง คุณหมอบอกว่า เกิดจากหลายปัจจัย อย่างการทานอาหารที่ไม่ค่อยดี ภาวะทุพโภชนาการ ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ได้รับสารพิษสารเคมี หรือยาต่าง ๆ ที่ทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา และอีกหนึ่งสาเหตุคือ ภาวะลำไส้รั่วหรือภาวะอักเสบในลำไส้เรื้อรัง เนื่องจากภาวะนี้ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานมากจนกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ นำไปสู่ปัญหาด้านลำไส้โดยตรง รวมทั้งปัญหาด้านการอักเสบ การควบคุมน้ำตาล ไปจนถึงเรื่องสมอง

นายแพทย์ชวภณให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผลสำรวจพบว่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคภูมิแพ้อาหารแฝง ส่วนจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยแม้ไม่มีสถิติ แต่เท่าที่รักษามาเชื่อว่ามีผู้ป่วยมากพอสมควร

สำหรับวิธีตรวจสอบว่าตัวเองแพ้อาหารอะไรหรือไม่ คุณหมอแนะนำว่าสามารถทำง่าย ๆ โดยการตั้งข้อสังเกตว่าตัวเองแพ้อาหารอะไร จากนั้นเลี่ยงการทานอาหารชนิดนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ แล้วสังเกตว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ แต่ถ้าไม่มั่นใจ ไม่ได้ข้อสรุปว่าอาหารชนิดไหนที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการตามที่กังวล ก็ต้องไปตรวจทางการแพทย์ โดยการตรวจเลือดวัดระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นเมื่อทานอาหารชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะสะท้อนว่าร่างกายแพ้อาหารชนิดใด

ถึงแม้คุณหมอบอกว่าสาเหตุหนึ่งของโรคนี้คือการกินอาหารไม่ดี ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แต่ในอีกด้านหนึ่งคุณหมอ

บอกว่า ในทางโภชนาการเรารู้ว่าอาหารอะไรที่ดีต่อสุขภาพและอะไรไม่ดีต่อสุขภาพ แต่เราไม่รู้เลยว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพอาจจะเป็นอาหารที่เราแพ้และทำร้ายร่างกายเรา ดังนั้นถ้ารู้ว่าแพ้อะไรก็ควรหยุดกิน แม้จะเป็นอาหารที่ดีในทางโภชนาการก็ตาม