โรคกระดูกพรุน ปัญหาสุขภาพที่มาคู่สังคมสูงวัย

จำนวนผู้สูงวัยในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นทุกปี และประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2574 ดังนั้น โรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัย จึงเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรตระหนัก 

ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจกับเรื่องกระดูกหักในผู้สูงวัยจากโรคกระดูกพรุนค่อนข้างมาก เนื่องจากสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทยกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ในยุโรปและอเมริกามีผู้หญิงสูงวัยมากกว่า 7 แสนราย ประสบปัญหากระดูกสะโพกหัก มีอัตราการตาย 20-25% ในปีแรก ขณะที่คนไข้มากกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถกลับไปใช้

ชีวิตตามปกติได้ และประมาณ 1 ใน 5 ต้องนอนบนเตียงตลอดไป ส่วนในประเทศไทยมีข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐสูงถึง 2-3 แสนราย และต้องการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 22.7 วัน

กระดูกในร่างกายคนเราสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง และเติบโตได้ตามอายุ มีหน้าที่สำคัญเป็นแกนหลักในการยึดเกาะของเอ็นกล้ามเนื้อต่าง ๆ

ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่เคลื่อนไหวได้ และทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายใน รวมทั้งเป็นแหล่งสะสมแคลเซียมและฟอสฟอรัส อันเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะสำคัญในร่างกาย

ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนฯยกกรณีตัวอย่างปัญหากระดูกพรุนว่า มีผู้หญิงอายุ 65 ปีคนหนึ่งมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกสันหลังหักยุบและมีอาการปวดหลัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุของโรคกระดูกพรุน ถ้าหากแพทย์ให้ความสนใจแค่การให้ยาระงับปวด แต่ไม่ได้ดูแลรักษาโรคกระดูกพรุนผ่านไป 4 ปี ผู้ป่วยคนนี้กลับมาหาหมอ

ด้วยปัญหากระดูกสะโพกหักเนื่องจากล้ม ถือว่าเป็นภาวะกระดูกหักซ้ำ มีโอกาสจะเสียชีวิตได้ประมาณ 20-25% ผู้ป่วยคนนี้มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วตั้งแต่กระดูกสันหลังหักยุบ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้องตั้งแต่แรก

“การผ่าตัดดามกระดูกหรือการเปลี่ยนข้อเทียมใด ๆ ไม่สามารถรักษาโรคกระดูกพรุน หรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ ได้ หลายคนยังเข้าใจว่า กระดูกพรุนเป็นเรื่องของโรคคนชรา ไม่มีทางรักษาได้ แต่ในปัจจุบันทางการแพทย์ถือว่าโรคกระดูกพรุนสามารถรักษาได้ ถึงแม้จะทำให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ โดยให้การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการป้องกัน การให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และให้ได้รับวิตามิน D ที่เพียงพอ รวมทั้งการออกกำลังกายที่เหมาะสม และถ้าจำเป็นสามารถใช้ยาบางอย่างช่วยเพิ่มมวลกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้”

ด้าน รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล ประธานชมรมรักษ์กระดูก กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันหนึ่งของโรคกระดูกพรุน คือ อายุมากขึ้น และผู้หญิงเป็นได้ง่ายกว่าผู้ชาย

สำหรับแนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน ปัจจุบันมียากระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่ และยายับยั้งการสลายกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะ

มุ่งเน้นการป้องกันการเกิดโรค คือ ให้ผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นออกกำลังกายตามความเหมาะสม รับแสงแดดอ่อน ๆ เป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามิน D ให้เพียงพอ แต่ไม่ใช่ไปหาซื้อยารับประทานโดยไม่ปรึกษาแพทย์


สุดท้ายคุณหมอแนะว่าอาหารที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กาแฟ น้ำอัดลม อาหารรสเค็มจัด และอย่ารับประทานโปรตีนมากเกินพอดี เพราะจะไปทำให้เกิดการขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป