มะเร็งลำไส้ใหญ่คร่าชีวิตคนไทยพุ่ง 3 พันคนต่อปี

สช.ห่วงแนวโน้ม ‘โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่’ ทำคนไทยตายพุ่ง ๓,000 คนต่อปี ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผย ๔ ปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะการรับประทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูป ปิ้งๆ ย่างๆ ด้านสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อฯ ย้ำคุมเข้มฟาร์มปศุสัตว์และเจ้าของเขียง หลังตรวจพบสารเร่งเนื้อแดงบ่อยครั้ง นักวิชาการหนุนปฏิบัติตามประกาศอย. เพจสุขภาพชวนปรับไลฟ์สไตล์ชีวิต ขณะที่ สช. นำประเด็นความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ เข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑ ปลายปีนี้

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด เวทีสช.เจาะประเด็น ครั้งที่ ๓/๒๕๖๑ เรื่อง “กินเปลี่ยนชีวิต หยุดวิกฤตมะเร็งลำไส้ใหญ่” วันอังคารที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมบองมาร์เช่ มาร์เก็ต ประชานิเวศน์ ๑ โดยมีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนกว่า ๕๐ คน

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “คนไทยกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบบ่อย ๑ใน ๕ ของประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องและมีผู้เสียชีวิตกว่า ๓,๐๐๐ รายต่อปี ปัจจุบันพบผู้ป่วยชาย ๖,๘๗๔ รายต่อปี ผู้ป่วยหญิง ๕,๕๙๓ รายต่อปี จัดเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ ๓ ในเพศชาย และอันดับ ๔ในเพศหญิง

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและควรระมัดระวังได้แก่ ๑. ผู้ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อแดง เนื้อแปรรูป หรืออาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และกินอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย ๒. ผู้ที่ชอบสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ๓. ผู้มีประวัติหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ชนิด Adenomatous polyps และ ๔. ผู้มีปัญหาระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้อักเสบ ท้องผูกเรื้อรัง ภาวะลำไส้แปรปรวน เป็นต้น ทั้งนี้ มักพบโรคในผู้สูงอายุ วัย ๕๐-๗๐ ปี ส่วนกลุ่มอายุน้อยกว่า ๕๐ ปีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ฯ อาจมีโอกาสเกิดโรคสูงขึ้นเช่นกัน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งป้องกันได้หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และตรวจคัดกรองตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จะทำให้การรักษาได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติรณรงค์ให้ความรู้และแนวทางป้องกัน ควบคู่กับโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงให้ผู้อายุ ๕๐-๗๐ ปี เข้ารับการตรวจเลือดแฝงในอุจจาระที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ประเทศไทยมีแนวโน้มอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปคล้ายชาวตะวันตก โดยปัจจุบันเรามี แผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค”

ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิษวิทยาศาสตร์ทางอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในหัวข้อ “กินไม่คิด ชีวิตเปลี่ยน” ว่า ภาวะโภชนาการที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่คือผู้ที่กินผักผลไม้น้อย ชอบกินเนื้อหมู เนื้อวัว และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม กุนเชียง หรือท้องผูกเป็นประจำ

ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับประชาชนคือรับประทานเนื้อแดงควรไม่เกิน ๕๐๐ กรัม (ครึ่งกิโลกรัม) ต่อสัปดาห์ และสลับกับเนื้อไก่ เนื้อปลา ไม่กินเนื้อสัตว์แปรรูปบ่อย ขณะเดียวกันให้กินผัก ผลไม้ เพราะใยอาหารจะช่วยเร่งการขับถ่ายทำให้ของเสียไม่ตกค้างในลำไส้และเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีที่เจริญในลำไส้ใหญ่ ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้ นอกจากนั้น ควรมีการควบคุมปริมาณการใช้วัตถุเจือปนในอาหารแปรรูป เช่น สารไนไตรท์ ให้เป็นตามกำหนดในประกาศของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างจริงจัง

นายสิทธิพร บุรณนัฏ ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าวในหัวข้อ “ผลิตภัณฑ์ปลอดสาร From Farm to Table” ว่าปัจจุบันการบริโภคเนื้อวัวของประเทศไทย แบ่งเป็น ๓ ตลาด ได้แก่ ๑. ตลาดพรีเมี่ยม ๒. ตลาดโมเดิร์นเทรด และ ๓. ตลาดเขียง โดยส่วนที่เป็นปัญหาใส่สารเร่งเนื้อแดงส่วนมากเกิดจาก ตลาดเขียงหรือตลาดล่าง ซึ่งกรมปศุสัตว์มีตรวจพบสารเร่งฯตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์ม เนื่องจากผู้ผลิตไม่ต้องการให้เนื้อวัวมีไขมันและเมื่อนำมาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคก็จะไม่ทราบเพราะดูไม่ออก

“สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารที่ผิดกฎหมาย และทางเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ออกตรวจตราเป็นพิเศษ จับกุมผู้กระทำผิดอยู่บ่อยครั้ง ส่วนตัวคิดว่าจะลงโทษฟาร์มอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษเจ้าของเขียงที่นำมาจำหน่ายด้วย รวมถึงให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีระบบตลาดสอบสินค้าที่รวดเร็ว”
สำหรับสมาชิกของสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตกว่า ๑๐๐ ราย มุ่งจำหน่ายเนื้อในตลาดพรีเมี่ยมหรือเนื้อวัวราคาสูงที่มีไขมันแทรกอยู่ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงไม่มีการใส่สารเร่งเนื้อแดงอย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของสหกรณ์ฯ ขายให้ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านปิ้งย่างที่มีชื่อเสียง เป็นต้น

ด้าน นายจาคี ฉายปิติศิริ ผู้ดูแลเพจ ‘จาคี มะเร็งไดอารี่’ กล่าวในหัวข้อ “เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านโรคร้าย” ว่า ตนเองเกิดอาการของโรคในช่วงปี ๒๕๔๙-๒๕๕๐ เริ่มปวดท้อง ระบบขับถ่ายผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้และไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งผลการตรวจพบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย เมื่อเริ่มการรักษาก็ต้องพบกับผลข้างเคียงหลายอย่าง แต่พยายามทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวแข็งแรงมากพอที่จะรับการรักษาต่อไป โดยปรับปรุงเรื่องอาหาร วิธีออกกำลังกาย ดูแลสภาพจิตใจตัวเองและคนรอบข้างให้ดีที่สุด ทำให้การรักษาผ่านไปได้อย่างราบรื่น

สำหรับเพจ ‘จาคีมะเร็งไดอารี่’ จัดทำขึ้นระหว่างที่เจ็บป่วยเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในแง่มุมที่เป็นประสบการณ์ตรงจากการรักษา นำเสนอในสิ่งที่ตนเองเคยเป็นหรือเคยทำมาแล้ว ซึ่งแพทย์และพยาบาลเป็นผู้แนะนำ

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสู้โรค คือการสู้กับความไม่รู้ อันจะนำมาซึ่งความวิตกกังวลและความกลัวตามมา เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้นเพียงพอก็จะเข้ารับการรักษาด้วยความเข้าใจและจะพยายามสอดแทรกเนื้อหาส่งเสริมสภาพจิตใจให้ผู้ที่ติดตามรู้สึกเหมือนเราเป็นเพื่อน”

ปัจจุบัน พยายามใช้ชีวิตให้อยู่ใน มาตรฐานคนสุขภาพดี ทั่วไป คือเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำว่าทุกคนควรหันมาดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะคนที่มีต้นทุนทางสุขภาพดี ย่อมจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยดูแลสุขภาพมาก่อน

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “รู้เท่าทันสุขภาพ ห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่” ว่า ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการรณรงค์ผู้บริโภคให้มี ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ หรือ Health Literacy สำคัญมากในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์มาเกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายจึงต้อง รู้เท่าทันเรื่องดิจิทัล (Digital Literacy) และ รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ด้วย เพื่อเสพข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณและช่วยกันจับตาข้อมูลที่บิดเบือนในยุค ๔.๐

อย่างไรก็ดี การรณรงค์ให้ความรู้เท่าทันสุขภาพด้านอาหารนับเป็นเรื่องข้างยาก เช่นคำแนะนำให้ “หลีกเลี่ยง” หรือดู “ความเหมาะสม” หมายถึงผู้บริโภคต้องมีความเข้าใจและตระหนักในการเลือกรับประทาน มากกว่าความชอบส่วนตัวและรสชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “you are what you eat” สุขภาพอยู่ที่เราเลือก

“ทุกภาคส่วนสามารถสร้างสังคมสุขภาวะร่วมกัน ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ลดความเสี่ยง สร้างคำเตือนหรือไม่โฆษณาที่กระตุ้นการบริโภคเกินปริมาณ ขณะที่สื่อมวลชนก็ควรแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ไม่โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง มีพื้นที่หรือเวลาเผยแพร่ข้อมูลที่เอื้อต่อสุขภาพ”

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี เพื่อป้องกันและควบคุมปัจจัยคุกคามสุขภาวะ รวมทั้งอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และการประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑” จะเป็นเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน วันที่ ๑๒-๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ภายใต้ธีมงานว่า “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาร่างข้อเสนอเรื่องรู้เท่าทันของโรคไม่ติดต่อ ผู้ที่สนใจติดตามความคืบหน้าที่ www.nationalhealth.or.th หรือ www.samatcha.org