“อัลไซเมอร์” กับ “โรคสมองเสื่อม” ต่างกันอย่างไร

โรคอัลไซเมอร์ เป็นชื่อโรคหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ส่วนโรคสมองเสื่อม ก็เป็นอีกโรคที่ได้ยินบ่อยเช่นกัน อาการของทั้งสองโรคก็คือ หลง ๆลืม ๆ เราจะพาไปทำความรู้จักว่า เจ้าสองโรคนี้มันคือโรคเดียวกันหรือไม่ และถ้าไม่ใช่ มันมีส่วนเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

ข้อมูลจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เขียนโดย ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล และ รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง ให้ข้อมูลว่า โรคสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเสื่อมของความจำ การคิดอ่าน การวางแผน ตัดสินใจการใช้ภาษา ทักษะในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืออาชีพที่เคยทำได้ตามเดิม และอาจมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 พบถึงร้อยละ 60-70 ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากการที่เซลล์สมองเสื่อม ส่วนสาเหตุที่พบบ่อยอันดับ 2 คือ สมองเสื่อม

จากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งพบในผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

สูบบุหรี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาการสมองเสื่อมอาจจะเกิดจากทั้ง 2 สาเหตุผสมกัน

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ สมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน และสมองเสื่อมจากเซลล์สมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ นอกจากนั้น ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ที่สมองเสื่อม เกิดจากภาวะสมองเสื่อมที่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์, ขาดวิตามินบี 12, โพรงสมองคั่งน้ำ, ภาวะซึมเศร้า, ยาบางชนิดที่รบกวนการทำงานของระบบประสาท และดื่มเหล้าจัด เป็นต้น

ดังนั้น คำถามที่ว่า อัลไซเมอร์กับโรคสมองเสื่อม คือ โรคเดียวกันหรือไม่

คำตอบคือ โรคสมองเสื่อมเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากหลายโรค หนึ่งในนั้นคือ โรคอัลไซเมอร์ สรุปก็คือ อัลไซเมอร์เป็นเซตย่อยในกลุ่มโรคต่าง ๆ ที่ทำให้สมองเสื่อมนั่นเอง

ส่วนการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ มีข้อมูลจากการประชุม Alzheimer”sAssociation International Conference2017 (AAIC 2017) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่บอกว่า ถ้าสามารถลดปัจจัยเสี่ยง 9 อย่าง ก็จะป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 1 ใน 3 ของปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งจัดแบ่งออกตามอายุดังนี้ คือ วัยเด็ก มีปัจจัยเสี่ยง คือ การศึกษาน้อย วัยกลางคน

ปัจจัยเสี่ยง คือ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหูตึง ส่วนวัยผู้สูงอายุ ปัจจัยเสี่ยง คือ โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ และการไม่เข้าสังคม

ดังนั้น การป้องกันโรคอัลไซเมอร์สามารถทำได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดย 1.มีการศึกษาที่เหมาะสมตามเกณฑ์ 2.รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดทั้งหลาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน โดยการควบคุมน้ำหนัก 3.แก้ไขโรคหูตึง โรคซึมเศร้า ตั้งแต่วัยกลางคน 4.ปรับปรุงการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 5.การพูดคุยพบปะผู้อื่นบ่อย ๆ 6.พยายามมีสติในสิ่งต่าง ๆที่กำลังทำ และฝึกสมาธิตลอดเวลา