ผลศึกษาชี้ “การผ่าคลอด” ทั่วโลกพุ่งทวีคูณ เตือนแม่-ลูกเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

รายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม เผยให้เห็นแนวโน้มการผ่าตัดคลอดบุตรในทั่วโลก ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นเกือบทวีคูณในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยในบางประเทศมีการใช้วิธีนี้อย่างแพร่หลายถึงขั้นเรียกได้ว่า “การระบาด”

รายงานระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้หญิงนับหลายล้านคนที่เอาตัวเองและทารกไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็นในการเลือกผ่าตัดคลอด โดยในปี 2558 มีการผ่าตัดคลอดเกิดขึ้นทั่วโลก 29.7 ล้านราย คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดของทารกทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีการผ่าตัดคลอดราว 16 ล้านราย หรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดทั้งหมด ขณะที่มีกรณีที่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการผ่าตัดคลอดทารกอยู่ที่ราว 10-15 เปอร์เซ็นต์

การศึกษายังพบอีกว่าอัตราการใช้วิธีผ่าตัดคลอดยังมีแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ที่ปัจจัยสถานะทางเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญ โดยในอย่างน้อย 15 ประเทศ มีการผ่าตัดคลอดมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นในกลุ่มผู้หญิงที่มีฐานะดีที่ใช้สถานบริการเอกชน

ในบราซิล อียิปต์ และตุรกี กว่าครึ่งเป็นการผ่าตัดคลอด ขณะที่สาธารณรัฐโดมินิกัน เป็นประเทศที่มีอัตราการผ่าตัดคลอดสูงสุด อยู่ที่ 58.1 เปอร์เซ็นต์

คณะผู้เขียนรายงานการศึกษาชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่า มีการใช้วิธีผ่าตัดคลอดอย่างมากในกลุ่มชนชั้นกลางและกลุ่มคนมีรายได้สูง ส่วนกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้ต่ำมักยังไม่สามารถเข้าถึง

เจน แซนดัลล์ นักวิชาการจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน และหนึ่งในผู้เขียนรายงานการศึกษานี้บอกว่ามีเหตุผลหลายประการแตกต่างกันไปสำหรับผู้หญิงในการเลือกวิธีผ่าคลอดทารก เช่นในประเทศยากจน อัตราการผ่าคลอดมีอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการเข้าถึงบริการดังกล่าวยังมีปัญหา แต่ในกลุ่มผู้หญิงที่มีฐานะที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่เข้าถึงการบริการของภาคเอกชนได้ ก็จะเลือกใช้วิธีผ่าคลอดสูง

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่บ่อยครั้งแพทย์และโรงพยาบาลยังโน้มน้าวให้คนไข้เลือกการผ่าคลอดเพื่อที่จะระบายคนไข้ตั้งครรภ์ที่รอเข้ารับบริการอยู่ ประเด็นการเงินก็เป็นอีกแรงจูงใจของแพทย์และโรงพยาบาลที่จะทำการผ่าคลอด และยังมีประเด็นที่แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าคลอด แต่อาจจะสูญเสียความเชื่อมั่นเมื่อต้องทำการคลอดโดยธรรมชาติ

รายงานการศึกษายังแนะนำให้มีการให้ข้อมูลความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ ให้มีการวางแผนการคลอดเพื่อให้มั่นใจว่าจะใช้วิธีผ่าคลอดในกรณีจำเป็นเท่านั้น รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงความเสี่ยงที่จะมีจากการผ่าคลอด

 


ที่มา  มติชนออนไลน์