ปัญหาโรคกระดูกสันหลัง อย่าปล่อยไว้ เพราะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

ปัญหากระดูกสันหลังไม่ใช่เรื่องเล็ก หากมีอาการปวดหลังเพียงไม่นานและหายได้จากการดูแลตัวเองคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าปวดหลังเรื้อรังเป็นเวลานานและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ด้านกระดูกสันหลัง เพราะหากปล่อยไว้จนอาการหนักอาจจะสายเกินแก้ 

นายแพทย์สาริจฉ์ ศรีสุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงปัญหาของโรคกระดูกสันหลังว่า แนวโน้มการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บกระดูกสันหลังของคนไทยมีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในวัยทำงานหรือวัยกลางคนก็สามารถพบปัญหาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทได้ เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันมีหลายสาเหตุที่นำไปสู่การบาดเจ็บกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในท่าที่ไม่ถูกต้อง การนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ

การยกของที่หนัก การก้มหรือบิดเอี้ยวตัวผิดท่า รวมทั้งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ

สำหรับวิธีการรักษาปัญหากระดูกสันหลัง นายแพทย์สาริจฉ์บอกว่า อาการปวดที่รุนแรงไม่ได้บ่งชี้ว่าต้องผ่าตัดเสมอไป โดยส่วนใหญ่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีวิธีการรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์จึงมีหลายทางเลือกในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังแก่ผู้ป่วยมากขึ้น ประกอบด้วย

1.การรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด (non operative treatment) เป็นการรักษาด้วยวิธีการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยฟื้นคืนความแข็งแรงและความสามารถในการเคลื่อนไหว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนไข้ รวมถึงการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ หากอาการต่าง ๆ ยังไม่ทุเลาลง จึงค่อยทำการรักษาขั้นถัดไป

2.วิธีระงับความปวด (spinal intervention) ตัวช่วยในการวินิจฉัยหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา (pain intervention) และเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดตำแหน่งของความปวดหากต้องเข้ารับการผ่าตัด ช่วยให้แพทย์ผ่าตัดทราบบริเวณที่จะผ่าได้จำเพาะเจาะจงมากขึ้น และไม่ต้องผ่าตัดกว้างเกินความจำเป็น

“ถ้าคนไข้มีอาการปวดหลัง อันดับแรกแพทย์ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า จุดกำเนิดหรือสาเหตุของความปวดมาจากอะไร การใช้ยารับประทานเพื่อแก้ปวดอาจช่วยทุเลาอาการได้ แต่หากสาเหตุของอาการปวดยังคงอยู่ อาการปวดก็จะกลับมาอีก ซึ่งคนไข้แต่ละคนอาจให้คำจำกัดความของอาการปวดที่แตกต่างกัน แพทย์จึงต้องรับฟังและนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการวินิจฉัยให้กับผู้ป่วยแต่ละราย การดูเพียงภาพจากรังสีวินิจฉัยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ pain intervention จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยวินิจฉัย เพื่อหาตำแหน่งเส้นประสาทและระดับของกระดูกสันหลังที่มีปัญหา แล้วเริ่มต้นรักษา อาทิ การฉีดยาลดการอักเสบแบบตรงจุด หรือใช้การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ถ้าการฉีดยายังไม่ได้ผลจึงจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลง”

3.การผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็ก (minimally invasive spine surgery : MISS) เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็ก ที่ช่วยให้คนไข้เสียเลือดน้อย ลดการทำลายโครงสร้างกระดูกสันหลัง เนื้อเยื่อข้างเคียงบาดเจ็บน้อยลง ช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าการผ่าตัดเปิดแผลกว้าง ประกอบด้วย 3 วิธี ได้แก่

microscopic discectomy เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กแบบมาตรฐาน ด้วยกล้องจุลทรรศน์ (microscope) เหมาะกับผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในคนวัยทำงาน ผู้ป่วยโพรงประสาทตีบแคบทับเส้นประสาทจากภาวะเสื่อมของกระดูกสันหลัง ข้อต่อ และหมอนรองกระดูกสันหลังในผู้สูงอายุ เป็นต้น

microendoscopic discectomy เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก โดยใช้ท่อโลหะขยายทางเข้าของช่องทางผ่าตัด จากนั้นส่องกล้องเข้าไปในโพรงแผลที่มีขนาดเล็ก เพื่อเข้าไปผ่าตัดในตำแหน่งที่ต้องการ ลดการทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียงโดยไม่จำเป็น และต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์

วิธีนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อโดยรอบบาดเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน ฟื้นตัวเร็ว แต่มีข้อจำกัดในการผ่าตัดที่ทำได้ในพื้นที่จำกัด ไม่เหมาะจะทำในคนไข้ที่มีกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทหลาย ๆ ข้อ หรือภาวะกระดูกสันหลังไม่มั่นคง เป็นต้น

endoscopic discectomy เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (endoscope) แผลผ่าตัดมีขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผ่านท่อขนาดเล็กเพียงแผลเดียว (single port) วิธีนี้ช่วยให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อโดยรอบบาดเจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อน ฟื้นตัวเร็ว แต่ยังมีข้อจำกัดในการผ่าตัดที่ทำได้ในพื้นที่จำกัด ไม่เหมาะที่จะทำในคนไข้ที่มีกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทหลาย ๆ ข้อ หรือภาวะกระดูกสันหลังไม่มั่นคง เป็นต้น


มีวิธีการรักษาให้เลือกหลายแนวทางขนาดนี้ ถ้ามีอาการควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ ไม่ควรปล่อยให้รุนแรงและเรื้อรัง เพราะถ้าถึงตอนนั้น มันจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ