หมายความว่าอย่างไร? จีนตั้งเป้ายอดขายบุหรี่เพิ่ม…ขณะที่บอกให้คนเลิกสูบบุหรี่

เรียบเรียงจาก เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์

เป็นความย้อนแย้งชวนตั้งคำถามถึง “รัฐบาลจีน” ในฐานะเป็นเจ้าของโรงผลิตยาสูบ และออกมาประกาศว่า “ปีนี้ทำยอดขายใกล้ตามเป้า” เมื่อวันพุธที่ผ่านมา(14 พ.ย.) ในขณะที่อีกด้านก็บอกคนว่า “สูบบุหรี่น้อยๆ หน่อย” … ความจริงใจที่จะผลักดันให้คนเลิกสูบบุหรี่อยู่ตรงไหน แล้วทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไรกัน?

บริษัทยาสูบแห่งชาติของจีน หรือ China National Tobacco Corp รัฐวิสาหกิจซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1982 แห่งนี้ถือเป็นผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่ที่สุดในโลกหากพูดในเชิงรายได้ ล่าสุดประกาศก้าวความสำเร็จยอดขายว่าใกล้เข้าเป้าที่ 47.5 ล้านลังบุหรี่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2 %

หนังสือพิมพ์ “Communist Youth League” ของจีน เผยว่า เมื่อถึงปลายปีนี้ ยอดขายบุหรี่จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 122,000 ลังบุหรี่ หรือ 6.1 พันล้านมวน

ปี 2017 บริษัทยาสูบแห่งชาติของจีนขายบุหรี่ราว 47.4 ล้านลัง เพิ่มขึ้น 0.8 % จากปี 2016

อย่างไรก็ดี ในจีน การสูบบุหรี่มีผลให้ป่วยเป็นโรคถึงขั้นเสียชีวิตประมาณปีละ 1 ล้านคน

“อัตราการสูบบุหรี่ในจีนสูงที่สุดในโลก ขณะที่อัตราสูบบุหรี่ของทั่วโลกกำลังลดลง และจีนยังคงต้องการเพิ่มยอดขายบุหรี่” Cui Xiaobo แห่ง Beijing’s Capital Medical University กล่าว

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรสูบบุหี่มากที่สุดในโลกราว 315 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด ด้วยเพราะบุหรี่มีราคาถูกและซื้อหาได้ง่าย รวมทั้งในอดีตการสูบบุหรี่ถือเป็นบรรทัดฐานความนิยมของสังคม ทำให้มากกว่าครึ่งของชายจีนนั้นสูบบุหรี่

แบรนด์ยาสูบหลายแบรนด์อยู่ใต้การบริหารของบริษัทยาสูบแห่งชาติของจีน อาทิ “Hongtashan”, “Baisha” และ “Double Happiness” กินส่วนแบ่งทางการตลาดบุหรี่ในจีนถึง 98 % และมีภาษีจ่ายคืนให้กับรัฐถึง 11 %

ความต้องการบุหรี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนจากให้รัฐบาลให้ผู้คนลดการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะตามเมืองใหญ่อย่าง “ปักกิ่ง”, “เซี่ยงไฮ้” และ “เซินเจิ้น” ทั้งนี้ยังมีข้อบังคับให้ระบุคำเตือนด้านสุขภาพข้างกล่องบุหรี่ด้วย

ปี 2015 จีนดำเนินการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะในร่ม (indoor public place) ข้อห้ามดังกล่าวมีผลให้จำนวนนักสูบลดลงเล็กน้อย มีนักสูบซึ่งเป็นผู้ใหญ่เหลือจำนวน 22.3 % ในปี 2018

ความคาดหวังด้านรายได้ของบริษัทยาสูบแห่งชาติของจีนทำให้เกิดการวิพากวิจารณ์จากกลุ่มผู้ต่อต้านการสูบบุหรี่อย่างองค์กรควบคุมยาสูบ (Chinese Association on Tobacco Control)

“เป้าหมายรายได้ยาสูบนั้นขัดแย้งกับกรอบการดำเนินงานควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และขัดแย้งกับเป้าหมายในการลดจำนวนนักสูบในจีน ซึ่งเป็นแผนงานด้านสุขภาพ ปี 2030” รองประธานของกลุ่ม “Zhi Xiuyi” กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Beijing Youth Daily 

งานวิจัยจำนวนมากระบุว่า การสูบบุหรี่และการได้รับควันมือสองต่างก็มีผลต่อสุขภาพ อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ต่อสายไปยังบริษัทยาสูบแห่งชาติของจีน แต่ไม่รับคำตอบแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้บริษัทได้แถลงการณ์ว่าจะลด “ทาร์” ในบุหรี่มวนที่ผลิต เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของสาธารณชน


ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จีนจำนวนมากแสดงความเห็นว่า แถลงการณ์ประกาศรายได้บุหรี่ใกล้เข้าเป้าที่ตั้งไว้นั้นไม่ไปในทิศทางเดียวกับความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่จะส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน

หนึ่งในผู้ใช้งานเว่ยป๋อ (Weibo) สื่อสังคมออนไลน์ของจีน แสดงความเห็นว่า “คนที่สูบบุหรี่มีส่วนร่วมกับประเทศอย่างมาก เพราะว่าจ่ายภาษีมากกว่า (ผ่านการซื้อบุหรี่) และตายก่อน”