ไบโพลาร์ รักษาได้ถ้าเข้าใจ

ปัญหาสุขภาพจิต เป็นหนึ่งปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย มีข้อมูลจากคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 71,235 คน ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศ 32,502 คน ซึ่งหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่พบมากคือโรคไบโพลาร์ 

รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า อาการของผู้ป่วยไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนที่ผิดปกติแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 2 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 อารมณ์เศร้า ในช่วงระยะซึมเศร้าจะมีอาการแบบนี้ติด ๆ กันนาน 2 สัปดาห์-1 เดือน ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร รู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีคุณค่า มองตัวเองในแง่ลบและมีความคิดฆ่าตัวตาย แบบที่ 2 อารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกตินานติด ๆ กันนาน 2 สัปดาห์-1 เดือน ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดีมากกว่าปกติ มีความมั่นใจมากขึ้น แต่ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว บางรายจะคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ หรือมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่น จนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไบโพลาร์ รศ.นพ.ชวนันท์ บอกว่ามีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู ซึ่งทางพันธุกรรมนั้น ในครอบครัวที่พ่อแม่ป่วยโรคนี้ ลูกก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นไบโพลาร์มากกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทุกคน ในส่วนการเลี้ยงดูนั้น หากเลี้ยงลูกจนทำให้เกิดความเครียด ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคได้ ส่วนสิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง ทำให้การควบคุมอารมณ์เปลี่ยนไป

ด้าน ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า โรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ หากได้รับการติดตามและดูแลอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 โดยมีหลายปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น เช่น เหตุการณ์สะเทือนใจ เหตุการณ์พลิกผันในชีวิต ภาวะเครียดรุมเร้า รวมถึงการใช้สารเสพติด ดังนั้นการรักษาโดยการทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด

“ผู้ป่วย ครอบครัว ญาติ และสังคม จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษา ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการกำเริบ ตลอดจนสังคมต้องเข้าใจ ให้โอกาสและลดอคติ มองผู้ป่วยจิตเวชและไบโพลาร์ไม่ต่างจากโรคอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป” ศ.นพ.รณชัยกล่าว

เพื่อสร้างพลังในเชิงบวกให้กับกลุ่มผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงสร้างความเข้าใจแก่คนในสังคมเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯจึงเปิดตัว “โครงการอุ่นรัก อุ่นใจ ไบโพลาร์ Healthy mind, Happy life” ขึ้น โดยจะทำกิจกรรมสัญจรให้ความรู้ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยมีเป้าหมายให้คนในสังคมมีความเข้าใจ ช่วยกันสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ชิด และเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกวิธี