อ้วน-เตี้ย-ไอคิวต่ำ แก้ได้ด้วยโภชนาการช่วงแรกของชีวิต

โภชนาการมีผลต่อการดำรงชีวิต ประเด็นนี้ถูกหยิบมาเป็นหัวข้อหลักในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2561 จัดโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลากหลาย ทั้งกุมารแพทย์ นักกำหนดอาหาร นักวิชาการด้านโภชนาการ และบุคลากรด้านสาธารณสุขร่วมนำเสนอข้อมูลชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลโภชนาการช่วงแรกของชีวิต (early life nutrition) อย่างสมดุลและเหมาะสม เป็นการสร้างพื้นฐานของสุขภาวะที่ดีไปตลอดชีวิต
 
ปัญหาด้านโภชนาการของเด็กไทยที่ต้องแก้ไขมีอยู่ 3 เรื่องคือ 1.ภาวะโภชนาการเกิน ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนตั้งแต่วัยเด็ก2.ภาวะโภชนาการไม่พอแบบเรื้อรัง ส่งผลให้การเจริญเติบโตชะงักและทำให้เด็กเตี้ย 3.ภาวะโภชนาการไม่สมดุล ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก ทั้ง 3 ประเด็นนี้ป้องกัน
 
และแก้ไขได้ด้วยการดูแลโภชนาการที่ดีในช่วงแรกของชีวิต หรือมหัศจรรย์พันวันแรก นั่นคือตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึง 3 ขวบ
 
ลดอ้วน ต้องลดหวานมันเค็ม
 
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และประธานกรรมการวางแผนกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะโภชนาการ
 
เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบในภาพรวมดีขึ้นมาก แต่ปัญหาที่พบคือ ความไม่สมดุลด้านโภชนาการ ซึ่งหลายฝ่ายพยายามร่วมกันแก้ไข โดยหลักการคือ ทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโภชนาการให้มากขึ้น และให้หันมาเน้นการดูแลโภชนาการ ณ จุดเริ่มต้นของชีวิต
 
สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ ภาวะโภชนาการเกิน เด็กอ้วนมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในเมืองใหญ่ ครอบครัวมักจะคิดว่าเลี้ยงลูกให้อ้วนจะทำให้เติบโตดี แต่ในข้อเท็จจริง เด็กที่อ้วนตั้งแต่เล็กมีแนวโน้มจะโตไปแล้วเป็นโรคอ้วนมากกว่า
 
“หลักใหญ่ ๆ ต้องลดหวาน ลดเค็ม ลดมัน อาหารที่ลูกกินต้องลด 3 รสชาตินี้ให้ได้ แล้วสอนให้เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และสร้างนิสัยการกินที่ดีให้ลูก”
 
ไม่อยากให้ลูกเตี้ย โภชนาการต้องเพียงพอ
 
พ.อ.นพ.เรืองวิทย์ ตันติแพทยางกูร กุมารแพทย์โรคโภชนาการเด็ก กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นำเสนอข้อมูลภาวะเตี้ยโดยอ้างอิงข้อมูลสำรวจ พบว่าร้อยละ 10.5 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ขวบมีภาวะเตี้ย
 
ปานกลางถึงมาก และร้อยละ 2.6 อยู่ในเกณฑ์เตี้ยมาก พร้อมกับระบุว่า ภาวะเตี้ยเป็นดัชนีชี้ให้เห็นภาวะโภชนาการไม่เพียงพอแบบเรื้อรัง โดยมีสาเหตุมาจากการกินอาหารไม่พอ หรือมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง แม้ว่าความสูงของเด็กเมื่อเติบโตจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมจากแม่และพ่อ แต่การเลี้ยงดูให้มีโภชนาการที่ดีและสมดุลต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตก็เป็นปัจจัยเสริมให้เด็กไม่ประสบปัญหาภาวะเตี้ย
 
ทั้งนี้ มีการเสนอยุทธศาสตร์เพื่อความสูงเต็มศักยภาพของเด็กไทย ประกอบด้วย 1.การลดอัตราการเกิดทารกน้ำหนักตัวน้อย 2.ป้องกันภาวะเตี้ยจากภาวะโภชนาการไม่เพียงพอแบบเรื้อรัง 3.ส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสมตลอดช่วงวัยเด็ก และ 4.ส่งเสริมสุขนิสัยที่ดีอื่น ๆ
 
สำหรับโภชนาการที่ช่วยส่งเสริมความสูงตั้งแต่วัยเด็ก ได้แก่ โปรตีนและแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญ รวมทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น ฟอสฟอรัส สังกะสี เหล็ก ทองแดง แมงกานีส วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินเค สารอาหารที่กล่าวมานี้มีอยู่ในอาหาร 5 หมู่และนม
 
นายแพทย์ไกรสิทธิ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เด็กวัย 1-3 ขวบมีความต้องการแคลเซียมมาก อาหารที่มีแคลเซียมสูงก็คือนม สำหรับการเลือกนมให้ลูกกินขึ้นอยู่กับความสะดวกด้านงบประมาณของครอบครัว รวมถึงปัจจัยเรื่องการแพ้อาหารของเด็ก ถ้าบางคนแพ้นมวัว สามารถกินนมถั่วเหลืองแทนได้
 
“ข้อสำคัญคือการจัดอาหารมื้อหลักให้ลูก ต้องจัดให้กินหลากหลายให้ครบ 5 หมู่และกินนมเสริม และขอเพิ่มเรื่องการฝึกนิสัยการกินที่ดีให้ลูกด้วย เรื่องนี้สำคัญ เพราะจะเป็นนิสัยที่ติดตัวไปจนโต พอเป็นผู้ใหญ่ก็จะเลือกกินและกินเป็น มันมีผลต่อสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต” นายแพทย์ไกรสิทธิ์กล่าว
 
กินดี มีความฉลาด
 
ในประเด็นเรื่องโภชนาการมีผลต่อระดับสติปัญญา รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า สารอาหารที่มีการศึกษาถึงผลที่มีต่อสติปัญญาของเด็ก มี 6 กลุ่ม ได้แก่
 
1.โอเมก้า 3 2.วิตามินบี, โฟลิก, โคลีน ช่วยสร้างสมอง ช่วยพัฒนาการด้านภาษา ช่วยเรื่องความจำและความสามารถในการเรียนรู้ 3.สังกะสี ช่วยเรื่องความมีสมาธิจดจ่อ 4.เหล็ก 5.ไอโอดีน ซึ่งสองกลุ่มนี้เป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และ 6.วิตามินรวมและเกลือแร่ เป็นตัวแสดงออกด้านสติปัญญาที่ไม่ต้องใช้คำพูด
 
“โครงสร้างสมองมีการแบ่งขยายเซลล์ตลอดเวลา ในช่วง 2-3 ขวบ โครงสร้างเหล่านี้จะขยายเร็วมาก และจะทำลายตัวเองด้วยถ้าไม่ถูกใช้ สารอาหารที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา ได้แก่ วิตามินบี โคลีน สังกะสี และโอเมก้า 3 โภชนาการกลุ่มนี้ใช้ในการสร้างแขนงเครือข่ายสมองให้เชื่อมต่อ ส่วนวิตามินรวมและเกลือแร่ต่าง ๆ ก็มีส่วนส่งเสริมการทำงานของสมองเช่นกัน สารอาหารเหล่านี้ต้องการทำงานร่วมกัน ดังนั้นจะไม่เป็นผลดีถ้าเด็กได้รับการเสริมสารอาหารตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป”
 
รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์บอกอีกว่า มีการศึกษาพบว่ากรดไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 ได้แก่ EPA และ DHA มีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กจริง ทำให้คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติให้มีการเติม DHA ในอาหารสำหรับเด็ก และจะเห็นว่านมสำหรับเด็กเล็กทุกยี่ห้อมีการเติม DHA ลงไป ยกตัวอย่างอาหารตามธรรมชาติที่มีสารอาหารที่กล่าวมา เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ไข่ นม ปลาทะเล หมู ไก่ ตับ กุ้ง แครอต ฟักทอง มะเขือเทศ ถั่วต่าง ๆ ผักใบเขียว แอปเปิล มะม่วง สับปะรด เป็นต้น
 
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่มีหน้าที่ดูแลโภชนาการของเด็ก ควรใส่ใจในการจัดสรรโภชนาการสำหรับเด็กให้เหมาะสม