เปิดกฎเกณฑ์อนุญาต ปลูก ผลิต กัญชาทางการแพทย์ ประเดิม ‘อภ. -กรมแพทย์แผนไทย-ไบโอเทค’

เป็นประเด็นมาตลอดภายหลังพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องมีกฎหมายลำดับรอง หรือพูดง่ายๆ คือกฎหมายลูก จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ออกกฎหมายลูกมาเพื่อบังคับใช้ล้อตามกฎหมายใหญ่

นับตั้งแต่กฎหมายลูกเกี่ยวกับการนิรโทษครอบครองกัญชาใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มองค์กร หน่วยงาน สถาบันการศึกษาที่ทำการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ รวมทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย เป็นต้น กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ และกลุ่มบุคคลอื่นๆ ซึ่งอาจหมายถึงผู้ปลูก ผู้ผลิต หรือที่รู้จักกันดีว่า กลุ่มชมรมใต้ดิน จิตอาสาที่ให้กัญชาแก่ผู้ป่วย โดย 3 กลุ่มนี้หากมาแจ้งยื่นการครอบครองกับทาง อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ทั่วประเทศ ภายใน 90 วันจะถูกละเว้นโทษ แต่หากต้องการขอปลูก ขออนุญาตผลิต จะต้องเข้าเกณฑ์ตามกฎหมาย แน่นอนว่า ขณะนี้ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการขออนุญาตการปลูก การผลิต ฯลฯ ได้ผ่านความคิดเห็นแล้ว เหลือเพียงการรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมด และเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ พิจารณาในวันที่ 8 มีนาคมนี้

ปัญหาที่กำลังถูกพูดกันมาก คือ การขออนุญาตการปลูก และการผลิตสารสกัดกัญา เพื่อใช้ทางการแพทย์นั้น ตามร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. …. กำหนดไว้ดังนี้

1.เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือสภากาชาดไทย

2. สถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและ จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์หรือเภสัชกรรม

3. ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตาม กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ และกำกับดูแลของผู้ขออนุญาต ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมดังกล่าว สามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของผู้ขออนุญาต

4.ผู้ขออนุญาตอื่นๆ แบ่งเป็น ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้า หรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา, ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งยาแผนโบราณ ตามกฎหมายว่าด้วยยา, ผู้รับอนุญาตผลิต หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร, ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรม และเป็นคู่สัญญากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อการจ้างผลิตหรือการจัดซื้อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา

นอกจากนี้ กฎกระทรวงฯ ยังระบุถึงกรณีผู้ป่วยเดินทางและจำเป็นต้องมียาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ว่า ต้องเป็นผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 เฉพาะกัญชาติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร สำหรับใช้รักษาเฉพาะตัวภายใน 90 วันตาม คำสั่งของแพทย์ ซึ่ง

ทั้งหมดต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด 7 ประเภท คือ 1.เพื่อใช้ทางการแพทย์ในประเทศ 2.เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ทางด้านการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม 3.เพื่อประโยชน์ทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและความร่วมมือระหว่างประเทศ 4.เพื่อการผลิตเพื่อส่งออก 5.เพื่อการผลิตสำหรับคนไข้เฉพาะรายของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน 6.เพื่อการผลิตที่ไม่ได้ผ่านการรับรองตำรับเพื่อรักษาโรคกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และ7.กรณีผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศนำติดตัวเข้ามาในหรือออกนอกประเทศสำหรับใช้รักษาเฉพาะตัวภายใน 90 วัน

สรุป คือ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ตัวกฎหมายรองรับเพียงใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ดังนั้น หากจะอนุญาตการปลูก การผลิตแล้ว ยังต้องมีเงื่อนไขต่างๆอีกมาก ซึ่งได้กำหนดไว้ในตัวกฎหมายทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเน้นความปลอดภัย มีมาตรฐาน


แน่นอนว่าเมื่อเร็วๆนี้ องค์การเภสัชกรรมได้เปิดตัวโครงการผลิตระยะแรก ในการปลูกกัญชาในโรงเรือนระบบปิด เพื่อควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย และการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมเพื่อนำไปสู่การสกัดน้ำมันกัญชาคุณภาพเพื่อรักษาโรคในแต่ละกลุ่มโรค ทั้งอาการข้างเคียงของผู้ป่วยมะเร็งที่รับคีโม อาการลมชัก อาการปลอกประสาทอักเสบ และปวดเรื้อรัง โดยใช้งบ 10 ล้านบาทเพื่อพัฒนายาสู่เมดิคัล เกรด

เรื่องนี้ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(บอร์ดอภ.) บอกหลายครั้งว่า ที่ต้องลงทุนและทำในระบบโรงปิด เพื่อให้ได้มาตรฐานเมดิคัล เกรด เพื่อให้ได้สารสกัดที่มีคุณภาพรักษาเฉพาะแต่ละกลุ่มโรค ซึ่งการทำแบบนี้ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานตามข้อกฎหมายกำหนด แน่นอนว่า มาตรฐานนี้ได้ผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว และไม่ใช่แค่อภ. แต่ยังมีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) ในการขออนุญาตด้วยเช่นกัน

ผศ.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้นการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์พืช องค์การเภสัชกรรม ยังอธิบายว่า พืชทุกชนิดมีคุณสมบัติใจการดูดสารอาหารและโลหะหนักแตกต่างกันกัญชาจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของพืชที่มีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับโลหะหนัก 4 ประเภทได้ดี คือตะกั่ว แคทเมียม สารหนู และปรอท ซึ่งจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ที่ อภ. นำเอากัญชาของกลางที่เคยคิดว่าจะนำมาสกัดใช้ทางการแพทย์ ไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบปนเปื้อนโลหะหนัก อภ.จึงทำโครงการปลูกกัญชาเพื่อเป็นวัตถุดิบเอง โดยได้ฤกษ์ปลูก “กัญชา” ถูกกฎหมายต้นแรกของไทย และของอาเซียนไปแล้ว ไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบนเนื้อที่ 100 ตารางเมตร ของโรงงานผลิตยารังสิต คลอง 10 ขณะที่ยังเปิดส่วนอื่นๆในการพัฒนาสายพันธุ์ สารสกัดที่เหมาะสม ซึ่งมีการเตรียมพร้อมกันมาก่อนและเมื่อกฎหมายเปิด จึงทำการขออนุญาตตามขั้นตอน
การปลูกกัญชาทางการแพทย์ต้องมีความเข้มงวดตามมาตรฐานเมดิคัล เกรด คือ ต้องปลอดสิ่งปลอมปนทุกประเภทและมีปริมาณสารสำคัญสูงในระดับที่คงที่ทุกต้น

ซึ่งปกติมีการปลูกอยู่ 3 แบบ คือ 1. ปลูกในดิน ไม่ว่าจะเป็นดินแท้หรือดินเทียมก็ตาม 2.ปลูกแบบไฮโดรโปนิก หรือปลูกให้รากจุ่มน้ำ และ 3.ปลูกแบบรากลอย (Aeroponics) โดยวิธีที่ 3 เป็นวิธีที่ให้ผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว แต่หลายประเทศกังวล อเมริกา แคนาดาก็เคยคิดจะทำ แต่ไม่ได้ทำเพราะมีความเสี่ยงเกิดความเสียหายสูง เนื่องจากต้องควบคุมคุณภาพการปลูกอย่างเข้มงวด พลาดนิดเดียวกัญชาเสียหายหมด แต่อภ.พัฒนาวิธีการแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งถือเป็นความลับไม่สามารถบอกได้


สำหรับระบบที่อภ.ทำนั้น จะเป็นโรงเรือนระบบปิด มีการควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมแสง อย่างแสงสีชมพูม่วงที่ เห็นมีการเผยแพร่ออกมานั่นคือแสงแดดเทียม ซึ่งต้องมีการควบคุมความเข้มข้นของแสงให้พอเหมาะกับช่วงอายุของกัญชา เช่น 2 เดือนแรกจะเปิดตลอด 8 ชั่วโมง หลังพ้น 2 เดือนแรกไปแล้วจะเปิดตลอด 12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเร่งให้กัญชาออกดอกได้เร็ว ส่วนเมล็ดกลมๆ สีชมพู คือดินเหนียวเผาขยาย ให้ปรุ บางแห่งใช้ดินเหนียวผสมถ่านหินเผาด้วยอุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส คุณสมบัติของมันคือเป็นตัวยึดต้นกัญชาให้รากลอย และเก็บน้ำ ออกซิเจน รวมถึงสารอาหารต่างๆไว้


ในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ร่วมกับทางไบโอเทคนั้น ก็เป็นอีกหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตจาก อย.ในการปลูกและผลิตกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ เบื้องต้นได้ที่การสังเคราะห์ตำรับยาไทยจำนวน 96 ตำรับ ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มที่ คือ 1.กลุ่ม ก. มี 16 ตัว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สูตรชัด วิธีการชัดสามารถใช้ได้เลย ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษากลุ่มอาการ ปวด นอนไม่หลับ เป็นต้น 2.กลุ่ม ข.กลุ่มที่มีสูตรชัด แต่วิธีการปรุงยายังไม่ชัด ต้องศึกษาเพิ่มเติม3.กลุ่ม ค. ต้องศึกษาวิจัย และ 4.กลุ่ม ง. กลุ่มที่ยังติดขัดในข้อกฎหมายอื่นๆ เช่น อนุสัญญาไซเตส เพราะมีการห้ามใช้สมุนไพรบางตัว

โดยกลุ่ม ก.ที่มี 16 ตำรับ ประกอบด้วย 1.ยาอัคคินีวคณะ จากคัมภีร์ธาตุพระนารายน์ แก้คลื่นเหียน อาเจียน 2.ยาศุขไสยาศน์ จากคัมภีร์ธาตุพระนารายน์ แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีก้าลังกินเข้าได้ หลับสบาย 3.ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย จากตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 4.ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ จากตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 5.ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง จากตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 6.ยาไฟอาวุธ จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1 พระยาพิศณุประสาทเวช 7.ยาแก้นอนไม่หลับ ยาแก้ไข้ผอมเหลือง จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ 8.ยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 พระยาพิศณุประสาทเวช แก้ลมเสียดแทง 9. ยาอัมฤตโอสถ จากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 2 พระยาพิศณุประสาทเวช 10. ยาอไภยสาลี จากตำราเวชศึกษา พระยาพิศณุประสาทเวช 11. ยาแก้ลมแก้เส้น จากตำราเวชศาตร์วัณ์ณณา 12. ยาแก้โรคจิต จากตำรายาอายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2

13. ยาไพสาลี จากตำราอายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2 14. ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง จากตำราอายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2 15. ยาท้าลายพระสุเมรุ จากคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ และ 16. ยาทัพยาธิคุณ จากคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์

ทั้งหมดเป็นหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตจากอย. แต่ในอนาคตน่าจะมีหน่วยงานที่เข้าข่ายตามร่างกฎกระทรวงทยอยเข้ามาขออนุญาตอีก อย่างล่าสุดสภาเกษตรกรแห่งชาติ ก็ได้หารือร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตเกี่ยวกับความร่วมมือจุดนี้

เพราะเรื่องกัญชาถือเป็นเรื่องร้อนที่ถูกจับตามอง และแน่นอนว่ามูลค่าการตลาดย่อมสูงไปตามกัน

 

ที่มา:มติชนออนไลน์ ,สกู๊ปหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์