ปวดท้องแบบไหนควรระวัง สัญญาณเตือน 9 โรคอันตรายในช่องท้อง

ปวดท้องแบบไหนควรระวัง สัญญาณเตือน 9 โรคอันตรายในช่องท้อง

ปวดท้องแบบไหนควรระวัง? อวัยวะภายในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน ล้วนเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่ที่เรารับประทานเข้าไป รวมทั้งย่อยและขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เมื่อใดก็ตามที่อวัยวะเหล่านี้ทำงานผิดปกติย่อมส่งสัญญาณเตือนอันตรายออกมา ที่สังเกตได้ง่ายคือ อาการปวดท้อง ซึ่งเราไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะแม้อาการปวดเพียงเล็กน้อยก็อาจมีภาวะผิดปกติอย่างร้ายแรงที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้

นพ.คมเดช ธนวชิระสิน ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้องและส่องกล้อง รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า โรคในช่องท้องแต่ละโรคมีอาการแสดงถึงความผิดปกติ เช่น การปวดท้องที่คล้ายคลึงกันจนหลาย ๆ ครั้งอาจได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดหรือผู้ป่วยนิ่งนอนใจคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะ จนได้รับการวินิจฉัยล่าช้าและส่งผลอันตรายได้

จริง ๆ แล้วอาการปวดท้องในแต่ละโรคนั้นไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการสังเกตและความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางในการวินิจฉัย รวมทั้งการตรวจสุขภาพด้วยการเจาะเลือดเพียงอย่างเดียวก็อาจไม่พบความผิดปกติ การเข้ารับการตรวจภายในช่องท้องด้วยการอัลตราซาวนด์จึงนับเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อการวินิจฉัยให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที

นพ.คมเดชให้ข้อมูลอีกว่า โรคในช่องท้องที่พบได้บ่อย ได้แก่ 9 โรคดังนี้

1. นิ่วในถุงน้ำดี

สัญญาณเตือนเบื้องต้น คือ ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แต่จะไม่ปวดแสบเหมือนโรคกระเพาะ ผ่านไปสักพักคนไข้จะรู้สึกดีขึ้นเองจนบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่ากินแค่ยาลดกรดขับลมก็หาย แต่หากในกรณีที่ปล่อยทิ้งไว้ถึงขั้นถุงน้ำดีอักเสบอาการอาจรุนแรงขึ้นได้ เช่น คนไข้จะมีอาการปวดจุก ๆ ขยับตัวไม่ได้ หายใจเข้าก็เจ็บ เพราะเวลาหายใจเข้ากระบังลมจะดันลงต่ำจนไปดันถุงน้ำดีที่อักเสบอยู่ ปวดชายโครงขวาหรือร้าวไปหลัง และอาจเกิดเป็นหนองและติดเชื้อในกระแสเลือดได้ หรือถ้านิ่วหลุดและหล่นลงมาอุดตันบริเวณท่อน้ำดี คนไข้จะมีอาการไข้หนาวสั่น ตัวเหลือง ตาเหลือง เกิดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินท่อน้ำดี ต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และหากมีนิ่วค้างอยู่เป็นเวลานาน อาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้

2. ไส้เลื่อนหน้าท้อง ขาหนีบ

คือการที่ผนังกล้ามเนื้ออ่อนแอลง หรือความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้เกิดการหย่อนหรือฉีกขาด ส่งผลให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อน อาการของไส้เลื่อนคือคนไข้จะปวดท้องแบบจุก ๆ รู้สึกแน่น ๆ บริเวณใกล้ ๆ ก้อน หากสังเกตว่ามีส่วนใดบริเวณหน้าท้องหรือขาหนีบนูนขึ้นมาเป็นก้อนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ หากเป็นอาการจากไส้เลื่อนไม่สามารถหายได้เอง ถ้าปล่อยทิ้งไว้มีโอกาสที่จะรุนแรงหรือมีความยุ่งยากในการผ่าตัดมากขึ้น เช่น ลำไส้เน่า หรืออุดตันเพราะลำไส้ไม่สามารถกลับเข้าไปได้ โดยคนไข้จะมีอาการปวดที่ก้อนมาก อาเจียน ปวดท้องแบบบีบ ๆ ถ่ายไม่ออก

3. ไส้ติ่งอักเสบ

เกิดจากเศษอาหารอุดตันไส้ติ่ง อาการในช่วงแรกจะคล้ายคลึงกับโรคกระเพาะ ต้องอาศัยการซักประวัติตรวจอย่างละเอียด โดยคนไข้จะมีอาการเบื้องต้น คือ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ร่วมกับอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือกลางท้อง ต่อมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านขวามากขึ้นหรือร้าวไปด้านหลังก็ได้ ขึ้นกับตำแหน่งการวางตัวของไส้ติ่ง หากอาการปวดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนไข้มักขยับตัวไม่ค่อยได้ จะรู้สึกเจ็บมาก เริ่มมีไข้ ซึ่งอาการปวดไส้ติ่งไม่สามารถหายเองได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตก เป็นอันตรายได้ ทั้งนี้ ควรสังเกตตนเองหากมีอาการปวดท้องด้านขวาสักพักแล้วไม่หาย และยังมีอาการเจ็บเพิ่มขึ้นควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

4. แผลในกระเพาะอาหาร/ลำไส้อักเสบ

คนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบมักมีอาการปวดท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร แต่จะค่อย ๆ หายไปเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปสักพัก ไม่สบายท้องส่วนบน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเหมือนมีลมในท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนโรคลำไส้อักเสบ อาการเบื้องต้นคือ อาการแสบท้อง คนไข้จะมีอาการแสบท้องก่อนรับประทานอาหาร แต่เมื่อได้ทานเข้าไปแล้วจะมีอาการดีขึ้น การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดภายในลำไส้

5. กรดไหลย้อน

อาการเบื้องต้นของโรค เช่น เรอเปรี้ยว ปวดแสบปวดร้อนในช่องท้องส่วนบนไปถึงบริเวณกลางอก บางคนอาจมีอาการไอ สะอึก เจ็บคอบ่อย ๆ ก็มีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

6. ตับอ่อนอักเสบ

จะมีอาการปวดท้องและคลื่นไส้อาเจียนมาก โดยเฉพาะคนที่ดื่มเหล้าหนัก ๆ จะมีอาการปวดท้องจนต้องงอตัวเพื่อให้ความปวดทุเลาลง ซึ่งมักพบบ่อยในเพศชาย สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยอาการอัลตราซาวนด์

7. ตับอักเสบ

อาการที่พบโดยส่วนใหญ่ คือ มีไข้และปวดท้องด้านบนขวา ตัวเหลืองขึ้น การวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดช่วยให้พบค่าการทำงานของตับผิดปกติได้

8. กระเปาะลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ

ผู้ป่วยมักมีประวัติท้องผูกเรื้อรัง อาการที่พบมักเป็นการปวดท้องบริเวณด้านล่างขวา หรือด้านล่างซ้าย นอกจากนี้ เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาจมีการแตก หรือการอุดตัน หรือถ่ายเป็นเลือดได้ การรักษาเริ่มตั้งแต่การให้ยาไปจนถึงการผ่าตัด

9. โรคทางนรีเวช

อาการสังเกตคือ การปวดบริเวณท้องน้อยด้านล่าง ตรงกลางหรืออาจจะซ้ายและขวา อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับมดลูก หรือปีกมดลูก หรือการสังเกตความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ มากระปริดกระปรอย คุณผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจภายในหรืออัลตราซาวนด์เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น