สำรวจสัญญาณอันตรายของโรคไตเรื้อรัง

มีรายงานพบว่าคนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกันมากขึ้น ข้อมูลการศึกษาจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8-10 ล้านราย มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตประมาณ 1,439 รายต่อล้านประชากร และมีแนวโน้มเป็นมากขึ้นทุกปี ๆ โรคไตจึงไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไป

ผศ.พญ.วรางคณา พิชัยวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลว่า โรคไตเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคภาวะความดันโลหิตสูง โรคเอสแอลอี (SLE) หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงที่มาจากการใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด หรือยา NSAID รวมทั้งโรคไตที่เกิดจากพันธุกรรม

สัญญาณอันตรายของโรคไต ได้แก่ อาการบวม บวมรอบดวงตา ขากดบุ๋มสองข้าง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะแดงเป็นเลือด หรือมีฟองปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปวดบั้นเอว ขณะที่ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากมักไม่ปรากฏอาการใด ๆ

การจะทราบว่าเป็นโรคไตหรือไม่ต้องอาศัยการคัดกรองโรคไต ซึ่งทำได้ไม่ยากด้วยการตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจเลือดหาค่าเซรั่มครีเอตินิน หรือค่าอัตราการกรองของไต (eGFR) เพื่อหาระดับการทำงานของไต ร่วมกับตรวจปัสสาวะ ซึ่งประชาชนทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคัดกรองโรคไตและหาความเสี่ยงอื่น ๆ ในการเกิดโรค ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงควรตรวจติดตามการทำงานของไตถี่มากขึ้น

ผศ.พญ.วรางคณาบอกอีกว่า หากพบว่าการทำงานของไตเริ่มลดลง โรคไตเรื้อรังจะไม่หายขาด แต่สามารถชะลอความเสื่อมของไตได้เพื่อลดการเข้าสู่ระยะที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ผู้ป่วยอาจสอบถามแพทย์ผู้ดูแลว่าไตของตนเองมีความเสื่อมอยู่ในระดับใด

ระยะของไตเรื้อรังมีทั้งหมด 5 ระยะแบ่งตามอัตราการ

กรองของไต ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำการรักษาจากอายุรแพทย์โรคไต หากการทำงานของไตอยู่ในระดับ 4 หรือ 5 เนื่องจากไตเรื้อรังระดับ 5 เป็นระยะที่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการบำบัดทดแทนไต

“แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริบาลได้ทุกราย มีสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษา แต่หากมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินไปจะเป็นภาระงบประมาณทางสาธารณสุขในอนาคตและส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาได้ ดังนั้น การคัดกรองหาความเสี่ยง รวมถึงการชะลอความเสื่อมของไตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด”

ผศ.พญ.วรางคณาแนะนำว่า การป้องกันการเกิดโรคไตทำได้โดยการดื่มน้ำสะอาดเป็นประจำ ออกกำลังกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกรับประทานอาหารโดยเฉพาะลดการบริโภคเค็ม งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จะช่วยป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตได้

“มีข้อมูลพบว่าคนไทยบริโภคเค็มมากกว่าปกติกว่า 2 เท่า มากกว่าค่าที่กำหนด หรือมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (โซเดียม 4,320 มิลลิกรัม) หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 10.8 กรัมต่อวัน โดยทั่วไปแนะนำไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 5 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับ 1 ช้อนชาต่อวัน น้ำปลาหรือซอสปรุงรสไม่เกิน 4 ช้อนชา หรือ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน การลดความเค็มในอาหารจะลดการเกิดโรคที่เกิดจากการบริโภคโซเดียมเกินได้ ซึ่งรวมถึงโรคไตเรื้อรังและโรคภาวะความดันโลหิตสูง” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมโรคไตกล่าว


นอกจากระมัดระวังการบริโภคเค็มในอาหารปรุงสุกทั่วไปแล้ว ความเค็มที่มีอยู่ในอาหารแปรรูปและอาหารกระป๋องก็เป็นสิ่งที่ควรระวังเช่นกัน เพราะในปัจจุบันคนเรามีพฤติกรรมบริโภคอาหารสำเร็จรูปกันเยอะ สำหรับการระวังความเค็มในอาหารสำเร็จรูปสามารถทำได้โดยการดูปริมาณโซเดียมในข้อมูลฉลากผลิตภัณฑ์ หากหยิบขึ้นมาชิ้นไหนมีโซเดียมเยอะจงวางมันลงไปซะ