ปลูกถ่ายตับ ทางรอดเดียว ของผู้ป่วยโรคตับระยะสุดท้าย

ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย และมีความสำคัญมากต่อร่างกาย ดังนั้นโรคเกี่ยวกับตับทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนเรามาก อย่างเช่นผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง เคยมีผู้ประเมินไว้ว่าโรคตับแข็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรโลก 25,000 คน/ปี

นพ.สอาด ตรีพงษ์กรุณา หัวหน้ากลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลว่า สาเหตุหลักของการเกิดโรคตับแข็งเกิดจากไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ทั้งชนิดบีและซี ส่วนสาเหตุที่พบมากรองลงมาในประเทศไทยคือการดื่มสุรา ส่วนสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลันมักเกิดจากตับอักเสบเฉียบพลันที่รุนแรง และอาจเกิดจากการทานยาสมุนไพรบางประเภท หรือการทานยาที่มีพิษกับตับในปริมาณที่มากเกินไป เช่น ยาแก้ปวด (พาราเซตามอล)

การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ เป็นทางรอดเดียวของผู้ป่วยโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และผู้ป่วยตับวายเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายให้ทันท่วงทีจะมีผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ส่วนสำคัญที่สุดในการปลูกถ่ายตับคือการได้รับบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิต ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการรับบริจาคอวัยวะ ณ ขณะนี้คือศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับบริจาคอวัยวะ โดยเป็นผู้ประสานไปยังศูนย์การปลูกถ่ายตับทั่วประเทศ และจัดลำดับคิวในการรับอวัยวะของแต่ละศูนย์ ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่มีผู้ป่วยตับวายเฉียบพลัน ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่สภากาชาดฯกำหนด จะได้จัดลำดับพิเศษเป็นคิวแรก เนื่องจากภาวะดังกล่าวเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่จะทำให้คนไข้เสียชีวิตหากไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับทันเวลา

เมื่อมีผู้บริจาคตับเข้ามาที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะตรวจสอบข้อมูลของผู้บริจาคและแจ้งไปยังศูนย์ปลูกถ่ายตับลำดับแรกที่มีผู้ป่วยที่เข้ากันได้กับผู้บริจาคตับ จากนั้นทางศูนย์ปลูกถ่ายตับที่ได้รับตับจะแบ่งทีมศัลยแพทย์ออกเป็น 2 ทีม และดำเนินตามขั้นตอนดังนี้

ทีมศัลยแพทย์ทีมแรกจะทำหน้าที่ผ่าตัดนำตับออกจากตัวของผู้บริจาค โดยจะตรวจดูความสมบูรณ์ของอวัยวะว่าสามารถนำมาปลูกถ่ายได้หรือไม่ ถ้าหากอวัยวะมีความสมบูรณ์สามารถนำมาปลูกถ่ายได้ก็จะต้องนำอวัยวะแช่ในน้ำหล่อเลี้ยง แล้วแช่เย็นไว้ที่อุณหภูมิประมาณ 4 องศา ระยะเวลาการนำอวัยวะออกจากร่างผู้บริจาคและนำอวัยวะมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยไม่ควรเกิน 16-17 ชั่วโมง เนื่องจากตับที่นำออกจากร่างกายแล้วไม่สามารถมีชีวิตอยู่นานกว่า 24 ชั่วโมง

ขณะที่ทีมศัลยแพทย์ไปรับอวัยวะจากผู้บริจาค ทางโรงพยาบาลก็จะเรียกตัวผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ มาเตรียมตัวในการผ่าตัด เจาะเลือด เช็กเลือด เตรียมเลือดสำรอง สำหรับใช้ในการผ่าตัด และทำสิ่งที่จำเป็นสำหรับเตรียมการผ่าตัดเปลี่ยนตับ แล้วศัลยแพทย์อีกทีมจะเริ่มทำการผ่าตัดในผู้ที่จะรับอวัยวะ โดยจะจัดเวลาให้พอดีกับเวลาที่ตับจะเดินทางมาถึง ทั้งนี้เพื่อให้เวลาที่นำตับออกจากผู้บริจาคจนปลูกถ่ายเสร็จสิ้นทันในเวลา 16-17 ชั่วโมง

เมื่อการผ่าตัดปลูกถ่ายตับสำเร็จแล้ว ผู้ป่วยต้องพักฟื้นอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และสังเกตการทำงานของตับที่ปลูกถ่ายใหม่ว่าทำงานได้ปกติหรือไม่ โดยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 สัปดาห์ แพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับบ้าน

นพ.สอาดบอกอีกว่า โรงพยาบาลราชวิถีเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และยังเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่าย 2 อวัยวะพร้อมกัน คือ หัวใจและปอดสำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2532 และต่อมาเริ่มผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ไต รวมถึงเนื้อเยื่อกระจกตา

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลราชวิถีผ่าตัดปลูกถ่ายตับให้กับผู้ป่วยไปแล้ว 36 ราย โดยผู้ป่วยแต่ละรายมีค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายตับประมาณ 4-5 แสนบาท ยังไม่รวมค่ายากดภูมิเดือนละประมาณ 10,000 บาท คนไข้ส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ โรงพยาบาลจึงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยการสนับสนุนของมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด

จึงไม่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยได้มากเท่าที่ควร จึงขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์กับโรงพยาบาลราชวิถี โดยร่วมบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 051-2-76128-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี (ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า) หรือสอบถามโทร.0-2354-8108-37 ต่อ 3032 หรือกรอกข้อมูลผ่าน http://www.rajavithi.go.th