ภาวะตาแห้ง พบบ่อยในยุคชีวิตติดหน้าจอ

ในยุคดิจิทัล การใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาสุขภาพสายตา เพราะการเพ่งมองหน้าจอมากจนเกินไปอาจทำให้ตาเกิดอาการตาล้า แสบตา เคืองตา ตาแดง หรืออาจจะเป็นภาวะตาแห้งได้

นายแพทย์ประธาน ปิยสุนทร แพทย์ประจำคลินิกจักษุและคลินิกโรคผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลในกิจกรรม “รักษ์นี้เพื่อตาและผิว Healthy Eye and Skin” ว่า ภาวะตาแห้ง เป็นภาวะที่น้ำตาน้อยเกินไป หรือน้ำตาไม่มีคุณภาพ เพราะโดยปกติแล้วตาของคนเราจะมีน้ำตาเคลือบอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าอายุมากขึ้นการผลิตน้ำตาสามารถลดน้อยลงได้ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือคนที่ต้องใช้สายตานาน ๆ ทำให้น้ำตาระเหยออกไปเร็ว เมื่อน้ำตาระเหยออกไปเยอะ จึงเกิดภาวะตาแห้ง ซึ่งทำให้เกิดอาการแสบตา เคืองตา

ปัญหาตาแห้งพบได้บ่อยทั่วไป สามารถเกิดได้กับทุกคน นอกจากปัจจัยที่กล่าวไปแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ก็มีผลต่อการเกิดภาวะตาแห้งได้เช่นกัน อย่างปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เช่น ปัญหาเรื่องฝุ่น เพราะฝุ่นจะไปสะสมอยู่ตามเปลือกตา ซึ่งเปลือกตามีต่อมไขมันที่ช่วยเคลือบไม่ให้น้ำตาระเหยออกจากดวงตา เมื่อฝุ่นไปสะสมอยู่ที่เปลือกตาจึงเกิดผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไขมันด้วย หรือการแต่งหน้า การเจอมลพิษต่าง ๆ การโดนลมเป่าหน้าอยู่ตลอดเวลา การอยู่ในสภาพอากาศแห้ง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลทำให้เกิดปัญหาตาแห้ง

นายแพทย์ประธานบอกว่า การรักษาอาการตาแห้งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน เพราะเมื่ออายุมากขึ้นน้ำตาจะน้อยลงตามอายุ จึงควรปรับตัวตามอายุ เช่น พฤติกรรมการใช้สายตา ควรใช้สายตาน้อยลง มีการพักสายตาจากทำงานหรือการมองหน้าจอ หลีกเลี่ยงอากาศที่แห้งจนเกินไป หรือการใช้น้ำตาเทียมก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่สามารถช่วยได้ ซึ่งน้ำตาเทียมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.แบบที่ไม่มีสารกันบูด เป็นลักษณะแบบหลอด สามารถเปิดใช้ได้เลย และสามารถใช้ได้เป็นประจำ ไม่มีผลข้างเคียงต่อดวงตา 2.แบบที่มีสารกันบูด เป็นลักษณะขวด หรือเป็นน้ำยาล้างตา ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำ เพราะมีสารกันบูด การหยอดเป็นประจำจะทำให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลข้างเคียงต่อตาได้

ด้าน นายแพทย์ธัชปชา กะสีวัฒน์ แพทย์ประจำคลินิกจักษุและคลินิกโรคผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวเสริมว่า การดูแลดวงตาขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคน แนะนำโดยภาพรวมคือ ควรหลีกเลี่ยงที่จะเจอฝุ่นมาก ๆ เลี่ยงการเจอแดดที่จ้าเกินไป หรือเลี่ยงบริเวณที่มีสิ่งสกปรกเยอะ ๆ

“ดวงตาก็เหมือนร่างกายของเรา ต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอ ต้องมีการพักสายตาบ้าง ไม่ควรใช้สายตาต่อเนื่องนาน 4-5 ชั่วโมง การอยู่ในที่ที่มีแสงพอเหมาะ ไม่สว่างเกินไปหรือมืดเกินไป จะเป็นการถนอมดวงตาได้อีกทางหนึ่ง การใส่แว่นตาก็เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง” นายแพทย์ธัชปชากล่าว


สำหรับใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา หรือมีคำถามอยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสายตา สามารถโทร.สอบถามคลินิกจักษุและคลินิกโรคผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ที่เบอร์ 0-2765-5734-35