หน้าฝน ยอดคนป่วยพุ่ง Healthcare 2019 จับมือ 30 รพ. เรียนรู้…สู้โรคเขตร้อน

คนที่อยู่ในเขตร้อนอย่างประเทศไทยเราเสี่ยงที่จะประสบกับโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าคนที่อยู่ในเขตอื่น เนื่องจากสภาพอากาศ ภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อมในเขตร้อนนั้นเอื้อให้เกิดโรคมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนคนในเขตร้อนต้องเผชิญความเสี่ยงสารพัดโรคติดต่อที่มากับฤดูกาล

ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน คนไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากโรคติดต่อช่วงฤดูฝน 11 โรคติดต่อใน 5 กลุ่มโรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคติดต่อทางระบบหายใจ โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคเลปโตสไปโรซิส และโรคติดต่ออื่น ๆ คือ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งโรคที่พบอุบัติการณ์มากคือ โรคไข้เลือดออก ที่อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ และโรคไข้หวัดใหญ่ อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางระบบหายใจ

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 รายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมระหว่างวันที่ 1 มกราคม-5 มิถุนายน 2562 รวม 26,430 ราย เสียชีวิต 41 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่มีผู้ป่วย 14,973 ราย เสียชีวิต 19 ราย จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.8 เท่า และ 2.15 เท่าตามลำดับ

ขณะที่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ มีข้อมูลที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ว่า ขณะนี้ประเทศในเขตอบอุ่นของซีกโลกใต้ สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค ส่วนในประเทศไทย สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2562 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-6 มิถุนายน 2562 โดยระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยารายงานว่า มีผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 167,377 รายเสียชีวิต 13 ราย จำนวนผู้ป่วยสะสมในภาพรวมสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าปีที่ผ่านมา

รศ.ดร.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเขตร้อนโดยอธิบายเริ่มต้นตั้งแต่ความหมายของคำว่าเขตร้อนว่า คำว่า tropical หรือเขตร้อน คือพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเส้นเหนือเส้นศูนย์สูตร 23.5 องศา และเส้นใต้เส้นศูนย์สูตร 23.5 องศา มีประเทศต่าง ๆ อยู่ในเขตนี้จำนวน 140 ประเทศ รวมทั้งหมู่เกาะต่าง ๆ มีประชากรอยู่ในพื้นที่เขตร้อนคิดเป็น 42% ของคนทั้งโลก ประเทศส่วนใหญ่ในเขตร้อนเป็นประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา โรคติดต่อเกิดขึ้นในเขตนี้มากกว่า 90% อีกทั้งระบบการดูแลสุขภาพไม่ค่อยดี ทำให้คนในเขตนี้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยกว่าเขตอื่น คืออายุเฉลี่ยประมาณ 79 ปี

ส่วนคำว่า “โรคเขตร้อน” ความหมายตรงตัว คือ โรคที่เกิดในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งมักจะเป็นโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค (เขตหนาวมีแมลงน้อยกว่าจึงเกิดโรคน้อยกว่า-ผู้เขียน) โรคในเขตร้อนที่สำคัญคือ โรคไข้เลือดออก ปัจจุบันทั้งโลกมีคน 7,300 ล้านคน ในพื้นที่เขตร้อนมีคนที่เสี่ยงต่อไข้เลือดออก 2,500 ล้านคน ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อประมาณ 100 ล้านคน คนที่ติดเชื้อ 70% ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อครั้งที่ 2 เป็นคนละสายพันธุ์กับที่ได้รับเชื้อครั้งแรก

“โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่มียารักษา จึงต้องป้องกันดีกว่ารักษา ปัจจุบันการป้องกันโรคไข้เลือดออกเรายังทำได้ไม่ดีพอ ปีนี้มีผู้ป่วยเกือบ 27,000 ราย เสียชีวิต 40 กว่าคน มากกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา แต่มีวัคซีนป้องกันแล้ว จึงแนะนำว่าคนที่เคยติดเชื้อครั้งแรกควรฉีดวัคซีนป้องกัน ทั้งนี้ก็ไม่ทราบว่าใครเคยติดเชื้อมาแล้วบ้าง เพราะว่าอาจจะมีการติดเชื้อและไม่แสดงอาการ อีกหนึ่งข้อแนะนำคือทำลายแหล่งยุงลาย” รศ.ดร.นพ.ประตาปกล่าว

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อโรคเขตร้อนในฤดูฝน บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานเฮลท์แคร์ (Healthcare) ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 จึงได้เลือกจัดงานปีนี้ในธีม “เรียนรู้ สู้โรค 2019” ในวันที่ 27-30 มิถุนายนนี้ เวลา 10.00-20.00 น. และได้แถลงข่าวการจัดงานไปเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยมีผู้บริหารและพาร์ตเนอร์ร่วมแถลงข่าวและให้ข้อมูลงาน

คอนเซ็ปต์ของงานปีนี้โรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์ที่เป็นพาร์ตเนอร์กว่า 30 ราย จะร่วมมือกันให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคเขตร้อนและป้องกันโรคเขตร้อนที่มาในหน้าฝน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานผ่านพ้นฤดูฝนปีนี้ไปอย่างสุขภาพดี และมีความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเองต่อไป

นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดงานเฮลท์แคร์ทุกครั้งที่ผ่านมามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยใส่ใจป้องกัน และดูแลรักษาสุขภาพตนเองอย่างถูกต้อง การจัดงานได้สร้างสรรค์แนวคิดการจัดงานแต่ละปีให้สอดคล้องกับกระแสภาวะคุกคามของโรคภัยไข้เจ็บในปีนั้น ๆ ในครั้งนี้จึงเกิดแนวคิด “เรียนรู้ สู้โรค 2019” ซึ่งโฟกัสที่โรคเขตร้อน

“งานเฮลท์แคร์ปีนี้เป็นปีที่ 11 สิ่งที่งานเฮลท์แคร์ทำมาตลอดเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า คนไทยมีความสนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น สำหรับในปีนี้เป็นปีมหามงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานได้ร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำระดับประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 30 แห่ง ให้บริการตรวจรักษาฟรี ครอบคลุมทุกโรค และที่สำคัญมีนิทรรศการ ‘จากน้ำพระทัยสู่การสาธารณสุขไทยยั่งยืน’ เพื่อเทิดพระเกียรติ”

นายสมหมายให้ข้อมูลรายละเอียดงานเฮลท์แคร์ 2019 ว่า งานปีนี้เป็นครั้งแรก ที่ย้ายไปจัดที่อิมแพ็ค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี มีการขยายพื้นที่เมืองสุขภาพบนพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร รองรับผู้ร่วมงานได้ 6,600 คน มีบริการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำด้านสุขภาพโดยแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ครอบคลุมการตรวจรักษา 30 รายการ มีร้านจำหน่ายสินค้าสุขภาพมากกว่า 100 ร้านค้า มีเวที Health Talk โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ และมี Health Activity โดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน

ไฮไลต์ในงานจะมี Tropical Health Center โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโซนให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือโรคเขตร้อนอย่างเข้าใจ ให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยา ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และตรวจคัดกรองโรคซิกา, เมืองสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุข, Tropical Herbs Garden โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จัดนิทรรศการสมุนไพรเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และแจกพันธุ์สมุนไพรฟรี, โรงพยาบาลบ้านแพ้วให้บริการลอกต้อเนื้อฟรี จำนวน 66 ราย

ในเรื่องสถานที่จัดงาน ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานไปจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี หลายคนอาจจะกังวลเรื่องการเดินทางที่เดินทางค่อนข้างยาก แต่ผู้จัดงานมีบริการรถรับ-ส่งพิเศษให้บริการฟรี โดยการสนับสนุนของเชิดชัยทัวร์ โดยขาไปมีรถรับจากบีทีเอส หมอชิต (ทางออก 2 และ 4) ไปส่งที่งาน เวลา 08.00 น. และ 11.00 น. และขากลับ มีรถรับจากเมืองทองธานีมาส่งที่บีทีเอส หมอชิต เวลา 13.00 น. และ 17.00 น. ตลอดทั้ง 4 วัน

ส่วนผู้ที่จะเดินทางเองก็มีหลายทางให้เลือก ทั้งรถยนต์ส่วนตัวที่มีที่จอดรถรองรับจำนวนมากกว่า 10,000 คัน และมี free shuttle service รับ-ส่ง หน้างานตั้งแต่เวลา 09.15-18.45 น. รถตู้ สามารถเดินทางได้ 6 เส้นทาง ได้แก่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, รามคำแหง, สนามหลวง, เดอะ มอลล์งามวงศ์วาน และสถานีบีทีเอส จตุจักร รถสองแถว สามารถเดินทางได้ 2 สาย ได้แก่ สายเมืองทอง-ถนนแจ้งวัฒนะ และสายเมืองทอง-ถนนติวานนท์ ส่วนรถเมล์สามารถเดินทางได้ดังนี้ เส้นทางวิภาวดีรังสิต-แจ้งวัฒนะ สาย 52, 59, 150, ปอ.4, 10, 13, 19, 29 เส้นทางห้าแยกปากเกร็ด สาย 32, 33, 51, 90, 104, 359, 367 เส้นทางเมืองทองธานี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สาย ปอ.166