‘บิ๊กตู่’ เสพโซเชียลหนัก นักวิชาการแนะทางแก้ปัญหาข่าวสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์

ในงานสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “Hate Speech บนโลกออนไลน์ บาดแผลร้ายที่ใครต้องรับผิดชอบ” โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า Hate Speech รุนแรงกว่าดูถูก หมิ่นประมาท เพราะทำให้เกิดการแบ่งแยก ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อบุคคลหรือกลุ่มคน บนอัตลักษณ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ เพศสภาพ ความพิการ หรือแม้แต่อุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีลักษณะเป็นลัทธิล่าแม่มดบนโลกออนไลน์ การขุดคุ้ยประวัติ ต้นตระกูล มาเผยแพร่ให้เกิดความเกลียดชัง ให้ร้าย และปลุกเร้าความรุนแรง

“งานวิจัยเมื่อปี 2553 มีการใช้ Hate Speech ในการทางการเมือง สร้างความเกลียดชังในหลากหลายระดับ ทั้งปลุกกระแสให้เกิดความแตกแยกของแต่ละกลุ่ม จนไปถึงความรุนแรง” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว

ศ.ดร.พิรงรอง บอกด้วยว่า แนวทาวป้องกันและแก้ไขปัญหาต้องดูว่า มีการใช้ Hate Speech ในระดับไหนถ้าเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่นำไปสู่รุนแรงก็ควรให้สื่อกำกับกันเอง หรือสร้างความรับรู้และความเข้าใจในสังคม แต่ถ้ารุนแรงถึงขนาดส่งผลกระทบในวงกว้างก็มีกฎหมายอาญามาตรา 116 ดำเนินคดีได้ ส่วนในอนาคต Hate Speech จะเป็นอุปสรรคต่อระบอบประขาธิปไตยในระยะยาวและส่งผลกระทบต่อการปรองดองที่อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีการเปิดกว้างทางความคิด ซึ่งภาครัฐต้องเปิดเวทีรับฟังเพื่อแก้ปัญหานี้

ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี พิธีกรและนักแสดง เปิดเผยว่า ลักษณะของการใช้ Hate Speech มีมาตั้งแต่ยุคที่มีแต่สื่อหนังสือพิมพ์บันเทิงที่ลงข่าวไปก่อนแล้วให้ดารานักแสดงชี้แจงหลังจากตีพิมพ์ไปแล้ว 1 สัปดาห์

“ที่เคยโดนให้ร้ายและเป็นแผลในใจจนถึงทุกวันนี้ คือการลงข่าวว่าบุ๋มไปขายที่นาที่ประเทศบรูไน ทั้งที่ไปเป็นพิธีกรงานคอนเสิร์ตสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ส่วนสาเหตุที่โดนให้ร้ายเพราะเจ้าของสื่อชวนไปทานข้าวแล้วไม่ได้ด้วยเลยกุข่าวโจมตี ตอนนั้นเครียดมากจนคิดจะออกจากวงการบันเทิง แต่ก็ผ่านมาได้ในที่สุดเพราะเชื่อมั่นในความจริง แต่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์” ดร.ปนัดดา กล่าว

ดร.ปนัดดา ยืนยันด้วยว่า ไม่เคยเรียกร้องให้ข่มขืนเท่ากับประหาร เพียงแต่ตามเสียงเรียกร้องของคนในโลกโซเซียล เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย จึงเป็นแกนนำรวบรวมรายชื่อประชาขนผลักดันให้เพิ่มโทษคดีข่มขืนทางแพ่งและอาญาจนสำเร็จ

น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร น.ส.พ.บางกอกโพสต์ บอกว่า ที่ทำข่าวการเมือง และทหาร มีการใช้ Hate Speech อยู่ตลอด แต่ในแง่ดีของโซเซียลก็เป็นที่ระบายของสังคม ไม่ค่อยมีผู้ชุมนุมออกมาบนท้องถนน ส่วนหนึ่งเพราะอากาศร้อนด้วย ยกเว้นเป็นเรื่องที่ใหญ่จริงๆ เหมือนกับที่ประเทศฮ่องกงที่มีผู้ชุมนุมออกมาคัดค้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

น.ส.วาสนา เปิดเผยด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชอบดูข้อมูลข่าวสารทางโซเซียลมาก และไล่อ่านในคอมเมนท์แล้วอารมณ์เสีย ติดโซเซียลหนักจนถึงขนาดต้องสวดมนต์ แต่สุดท้ายก็ยังอ่าน เพราะบอกว่า ถ้าไม่อ่านก็โง่ ไม่เสพก็บ้า

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักอัยการสูงสุด บอกว่า Hate Speech ในเมืองไทยส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในการแสดงคามคิดเห็นทางการเมือง แตกต่างจากต่างประเทศที่มีความรุนแรงมากกว่าประเทศไทยมากทั้งในด้านการเหยียดสีผิว เหยียดศาสนาและความรุนแรงทางเพศ ในทางกฎหมายยิ่งเพิ่มโทษแรงยิ่งทำให้เกิดการใช้ Hate Speech ในทางรุนแรงมากขึ้น ทางออกในการแก้ปัญหานี้ต้องมีเครื่องมือที่ทำให้สังคมตระหนักว่ากำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ซึ่งภาครัฐต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่แก้ไขปัญหา