พฤติกรรมคนกรุงเสี่ยงโรค สปสช. ลุยทำ 4 โครงการเสริมสร้างสุขภาพ

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 62 ที่ฮอลล์ 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เครือมติชน ผนึกกำลังโรงพยาบาลชั้นนำกว่า 30 แห่ง จัดงาน “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019” บนเวที Health Talk ในหัวข้อ “ทิศทาง สปสช. รุก 4 โครงการ มุ่งสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคชาวกทม.” โดย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีประชากร 10 ล้านคน มี 8 ล้านคน ที่มีสิทธิรักษาพยาบาล แต่เข้าถึงการส่งเสริมและป้องกันโรคไม่เกิน 20% จากจำนวน 8 ล้านคน

พฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่นำไปสู่โรค อาทิ งานเยอะ ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารขยะ ส่งผลต่อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง จากความผิดปกติของเมตาบอลิก โรคเบาหวาน และสภาวะแวดล้อมของเมืองส่งผลต่อภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ปอดบวม หรือเหตุจากควันพิษ PM 2.5 โรคข้อจากออฟฟิศ ซินโดรม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบกว่า ชาวกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วนสูงที่สุด เพราะพฤติกรรมการออกกำลังกายน้อย กินผักผลไม้เพียง 22% ทำให้ความชุกของความดันโลหิตสูงอยู่ที่ 23% และความชุกของโรคเบาหวานอยู่ที่ 8% อีกทั้งคนกรุงเทพฯ ยังเข้าถึงระบบการคัดกรองโรคน้อยด้วยเช่นกัน

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ในปี 2562 สปสช. จึงได้เดินหน้าจัดทำ 4 โครงการ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพชาวกรุงเทพฯ ได้แก่ 1. โครงการคัดกรองโรคให้กับแรงงานนอกระบบ อาทิ คนขับรถสาธารณะ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถเมล์ จากการคัดกรองโรคพบว่า ส่วนใหญ่พบปัญหาด้านสายตาและโรคปอด 2.โครงการสุขภาพช่องปาก จัดหน่วยร่วมทันตกรรมกับคลินิกทันตกรรมหลายแห่ง เพื่อคัดกรองสุขภาพช่องปากและให้บริการขูด อุด ถอน ฟรีตามสิทธิ์

เนื่องจากกรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงได้เกิดโครงการที่ 3 ซึ่ง สปสช.ร่วมกับสำนักอนามัย กทม.จัดทำคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร คัดกรองความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ตาต้อกระจก และโครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ โดยขณะนี้มีโรงพยาบาล 30 แห่ง มีคลินิกนี้ให้บริการผู้สูงอายุครบจงจรได้

โครงการล่าสุด โครงการที่ 4 ร้านยาชุมชนอบอุ่น ซึ่งนำร่องไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ใน 11 เขต ทั่วกรุงเทพฯ ร้านยาชุมชนอบอุ่น จะทำหน้าที่คัดกรอง เบาหวาน ความดัน เจาะเลือดเบื้องต้น และให้ความรู้เรื่องยา โดยผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน นอกจากนี้ในกรณีของผู้ป่วยติดเตียง จะเชิญร้านยาไปดูแลและปรับการใช้ยาของคนไข้ สุดท้ายคือ ร้านยาจะเป็นคลินิกเลิกบุหรี่ เป้าหมายคือต้องการให้คนเลิกบุหรี่ให้ได้ ซึ่งปี 2563 ตั้งเป้าจะขยายพื้นที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นให้มากขึ้น


“อนาคตในปีงบประมาณ 2563 สปสช.จะมีแอปพลิเคชั่นชื่อ “ยูซีมีสุข@NHSO” เพื่อประเมินสุขภาพให้ชาวกรุงเทพฯ วิธีการคือ ดาวน์โหลดและลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อเข้ารับบริการจากโรงพยาบาล ด้วยการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เช่น การฝากครรภ์ การฉีดวัคซีนในเด็ก ป้องกันโรคตามฤดูกาลของแต่ละช่วงวัย พร้อมทั้งการวางแผนครอบครัว โดยเพิ่มเติมการคัดกรองและเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุด้วย” นพ.วีระพันธ์กล่าว