ชีวาแคร์ คลินิกทางเลือกครบวงจร ตอบโจทย์สังคมสูงวัย

อีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ ageing society หรือสังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้

เมื่อคนเราอายุเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ ร่างกายค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ทั้งอาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ และโรคร้ายที่รุมเร้าเข้ามาอย่างเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ อาการเกี่ยวกับไขข้อ-กระดูก และโรคที่เกี่ยวกับสมองอย่างอัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน ซึ่งโรคเหล่านี้ขึ้นชื่อว่ารักษาให้หายขาดยาก และต้องมีการรับประทานยาในปริมาณเยอะเป็นพิเศษ แต่การรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานก็ไม่ทำให้เกิดผลดีกับร่างกายอย่างที่ควรจะเป็น ซ้ำร้ายอาจทำให้คนไข้ดื้อยามากขึ้นไปอีก

ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามาจึงทำให้เกิดไอเดียคลินิกทางเลือกใหม่อย่าง “ชีวาแคร์คลินิก” ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญนักกายภาพบำบัด เปิดเผยว่า คอนเซ็ปต์ของชีวาแคร์ คือ การมองการรักษาแบบ holistic หรือองค์รวม ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการรับประทานยา หรือการผ่าตัดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการปรับวิถีชีวิตของผู้ป่วยในทุก ๆ ด้านให้เป็นปกติมากที่สุด

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช กรรมการด้านการแพทย์ชีวาแคร์คลินิกให้ข้อมูลว่า หัวใจสำคัญของคลินิกนี้มีอยู่สองส่วน ส่วนแรก คือ การทำให้ชีวาแคร์เป็น integrate medicine คือ เป็นการรักษาแบบผสมผสานระหว่างแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด รวมถึงการผนวกเอาศิลปะหรือกิจกรรมยามว่างที่มีส่วนช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยด้านจิตใจได้ และส่วนที่สอง คือ การมองคนไข้แบบ as a person เป็นการมองแบบองค์รวมที่ไม่ได้เน้นการ

รักษาเฉพาะส่วน ตรงนี้คุณหมออธิบายว่า ต้องดูให้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกายที่ต้องใช้การกายภาพเข้าช่วย ด้านจิตใจ เกี่ยวข้องกับสภาพครอบครัว และภาวะทางความรู้สึกของผู้ป่วย ด้านอารมณ์และจิตวิญญาณ มีเรื่อง mindfulness เข้ามาเกี่ยวข้อง และสุดท้าย คือ เรื่องของสังคม หากมองรวมกันทุกด้านแบบนี้จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

ผศ.นพ.สุรัตน์อธิบายต่อด้วยว่า แม้จะมีการดึงกิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาเสริมการรักษา แต่ไม่ใช่ว่าชีวาแคร์จะละทิ้งการรักษาด้วยยารักษาโรค เพราะอย่างไร

การแพทย์ยังต้องคง evidence based medicine เอาไว้ คือ ใช้วิธีการที่มีหลักฐานทางการแพทย์ชัดเจน แต่ทางคลินิกก็มีความพยายามจะให้ผู้เข้ารักษาลดการกินยาให้น้อยลงมากที่สุด โดยมุ่งเน้นการใช้กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และการทำกิจกรรมกลุ่มระหว่างคนไข้เข้าไปให้มากขึ้น หลัก ๆ คุณหมอบอกว่า ต้องช่วยให้คนไข้เหล่านี้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติมากที่สุด ซึ่งส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดมาช่วยฟื้นฟูอีกแรง

“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักกิจกรรมบำบัดแตกต่างจากนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมจะช่วยให้คนไข้สามารถกลับไปทำกิจกรรมที่บ้านได้ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่กายภาพบำบัดฝึกเกี่ยวกับการเดิน แต่นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยฝึกเกี่ยวกับการกินข้าว เปิดประตู ขับรถ การพูด การจับช้อนส้อม คือ เป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และอีกส่วนของกิจกรรมบำบัดก็คือ เอาไว้ฟื้นฟูความคิดความจำของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ซึ่งอันนี้ก็ใช้นักกิจกรรมบำบัดเหมือนกัน ในไทยเองยังมีเทรนนิ่งแบบนี้น้อยมาก ๆ ประมาณสองแห่งในไทยด้วยซ้ำ ชีวาแคร์จึงให้ความสำคัญตรงนี้ค่อนข้างมาก”

ด้าน มาร์ติน เฟ็นสกี้ สตาล์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการชีวาแคร์คลินิก เสริมต่อว่า ปัจจุบันคนไทยยังมีความเข้าใจผิดอีกมากเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดและการรักษาโรค

มาร์ตินบอกว่า คนไทยโชคดีที่มีวัฒนธรรมนวดแผนโบราณที่ช่วยในเรื่องการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือความอ่อนล้า แต่การนวดที่ว่าไม่สามารถนำไปเหมารวมกับการทำกายภาพบำบัดได้ เพราะเป็นคนละส่วนกันอย่างชัดเจน บางคนเส้นพลิก หรือรู้สึกไม่สบายตัวก็เลือกใช้การนวดเพื่อบรรเทา บางรายอาจส่งผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน หรือเมื่อไปพบแพทย์แล้วแพทย์มีคำสั่งให้ทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องก็คิดว่าสามารถให้ลูก ๆ หลาน ๆ ที่บ้านช่วยทำได้ ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะการทำกายภาพต้องได้รับการฟื้นฟูโดยนักกายภาพบำบัดวิชาชีพเท่านั้นจึงจะช่วยให้ร่างกายเป็นปกติได้


ผศ.นพ.สุรัตน์ยังฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า จริง ๆ แล้วการทำกายภาพบำบัดไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยแล้วจึงจะทำ เพราะอันที่จริงการทำกายภาพเป็นการช่วยป้องกันการเกิดโรค และการออกกำลังกายที่เน้น flexibility ก็จะช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและให้ประโยชน์กับผู้สูงวัยได้ครอบคลุมเช่นกัน โดยคุณหมอแนะนำว่า ควรเป็นการออกกำลังกายแบบหนักสลับเบาที่ไม่ได้เน้นไปที่การวิ่ง แอโรบิก หรือการเวตเทรนนิ่งเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเน้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้กระดูกไขข้อเสื่อมเร็วขึ้นได้