กัญชาทางการแพทย์ ช่วยผู้ป่วยบรรเทาโรคร้ายได้ด้วยตัวเอง

เป็นกระแสที่ได้รับการถกเถียงมานานนับปีกับการปลดล็อกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ว่า สรุปแล้วการใช้กัญชาควบคู่กับยาแผนปัจจุบันจะมีส่วนช่วยส่งเสริมขั้นตอนการรักษาได้จริงหรือไม่ เพราะหลายฝ่ายก็กลัวว่า พืชกัญชาที่คล้ายจะมีฤทธิ์มอมเมาจะถูกหยิบไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องมากกว่าการผลักดันเพื่อการแพทย์ โดยเฉพาะกับโรคที่ยาแผนปัจจุบันยังไม่สามารถให้การรักษาได้หายขาดอย่าง พาร์กินสัน สมองเสื่อม เป็นต้น

ในงาน Healthcare 2019 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า หลายคนยังมีความเข้าใจว่ากัญชาเป็นยาพื้นบ้านที่เชื่อถือไม่ได้ บ้างก็คิดว่าเป็นสิ่งเสพติดที่มีฤทธิ์ในการมอมเมามากกว่า ซึ่งคุณหมอได้ชี้ให้เห็นว่า มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ 28 ปีที่แล้วว่า กัญชามีฤทธิ์ช่วยส่งเสริมการรักษาภายในร่างกายได้ ประกอบกับร่างกายของคนเราก็มีตัวรับที่พอดีกับฤทธิ์ของกัญชาเช่นกัน หมายความว่า สารบางอย่างที่อยู่ในตัวกัญชาเป็นสารชนิดเดียวกับที่ร่างกายของเราผลิตขึ้นมาด้วย

คุณหมอให้ข้อมูลว่า กัญชาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ กัญชา THC และกัญชา CBD ซึ่งกัญชาเหล่านี้ต้องดูให้ดีว่าตัวไหนมีฤทธิ์เมาหรือไม่เมา หากชนิดไหนมีฤทธิ์เมามากก็ต้องสกัดสารเหล่านั้นออกไปให้หมดก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการรักษา

นอกจากนี้ในตัวกัญชาก็ยังมีปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ ที่คุณหมออธิบายให้ฟังอย่างเห็นภาพว่า เป็นการ “เคาะประตูผิดห้อง” นั่นคือ ใช้กัญชาสกัดเพื่อที่จะไปรักษาโรคหนึ่ง แต่กัญชาดันออกฤทธิ์ผิดจุด

“สมมุติว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเข่าเสื่อม ขั้นตอนปกติคือการรักษาด้วยการทานยาแก้ปวด แล้วยิ่งปวดมาก ๆ ต้องทานยาต่อเนื่องในปริมาณมาก รวม ๆ แล้วมากถึง 40 เม็ด

ซึ่งการรับประทานยาแบบนี้อาจส่งผลให้ตับวายได้ หรือบางคนทานยาแก้ปวดชนิดหายไวก็ทำให้กระเพาะอาหารตกเลือดหรือไตวายเช่นกัน ในผู้สูงอายุเองถ้าต้องทานยาแก้ปวด หากทานติดต่อกัน 2 อาทิตย์อาจเกิดอาการเส้นเลือดหัวใจตันได้ ในกรณีอย่างนี้ถ้าเราใช้กัญชาเป็นจึงแทบไม่ต้องเสียเงินไปกับยา แต่ข้อควรระวังก็คือ กัญชาที่เราได้เอาเข้าไปในร่างกายมันอาจจะไปเคาะประตูผิดห้อง ไปเคาะห้องนอนหลับ ห้องความจำอะไรแบบนี้ จึงเป็นที่มาว่า บางคนใช้กัญชาวันนี้พรุ่งนี้หายเลย บางคนมีอาการแบบเดียวกัน ใช้วันนี้อีกสิบวันค่อยดีขึ้น เพราะมันเคาะไม่ถูกห้อง บริษัทยาทั่วโลกตอนนี้จึงพยายามที่จะผลิตยากัญชาขึ้นมาเพื่อจะเคาะได้ถูกห้อง เพราะฉะนั้นจึงมีการผลิตยากัญชาบวกสายพันธุ์นั้นนี้เข้าไป ถ้าปวดเข่าจะได้เคาะห้องไม่ผิด”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ยังเสริมต่อด้วยว่า คนไข้เองต้องมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับกัญชาให้ดีก่อน ต้องรู้ว่าใช้จุดไหนแล้วจะรักษาได้ตรงจุด หรือจุดไหนที่ควรหลีกเลี่ยง รวมถึงต้องรู้โรค หรืออาการแทรกซ้อนที่ตัวเองเป็นอยู่ด้วย เพราะบางครั้งฤทธิ์ของกัญชาก็ส่งผลให้โรคประจำตัวบางอย่างรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

“เราต้องรู้ธรรมชาติของกัญชาก่อน ถ้าใช้แบบดูดเข้าโดยตรง มันจะตกไปถึงท้อง ปริมาณดูดซึมจะไม่คงที่ กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานาน 1-4 ชม. ถ้าหยดใต้ลิ้นนิดเดียวและค้างที่ลิ้นไว้ครึ่งนาทีถึง 1 นาทีโดยไม่กลืนทั้งสิ้น มันจะดูดซึมผ่านเส้นเลือดใต้ลิ้นใช้เวลา 15-45 นาที แต่ส่วนใหญ่จะรู้สึกปะแล่ม ๆ ก็เผลอกลืนไปเลยใช้เวลาออกฤทธิ์นานกว่า 1-4 ชม. และที่ควรระวังอย่างมากอีกอย่าง คืออาการความดันตก บางคนไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะอื่น ๆ แทรกซ้อน เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมอง หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ หากความดันตกจะทำให้เส้นเลือดตันได้ และอีกประเภทคือไม่มีความรู้ว่าใช้ยาแผนปัจจุบันบางตัวอยู่แล้ว หากไปเจอกับฤทธิ์ของกัญชาจะเกิดผลข้างเคียงอย่างไร กัญชาไปเสริมหรือขัดกับฤทธิ์ยาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่หรือเปล่า ถ้ามันไปเสริมก็เท่ากับไปเสริมให้ยาปัจจุบันออกฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น ฉะนั้นถ้าเรามีข้อมูล หรือทฤษฎีต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ใช้กัญชาเป็นยาได้อย่างถูกต้องมากขึ้น”

นอกจากโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมแล้ว คุณหมอได้ให้ข้อมูลว่า กัญชายังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพระเอกในการรักษามะเร็งได้ด้วย หากใช้กัญชาควบคู่กับการรักษาเคมีบำบัด จะเป็นการส่งเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บางรายผ่านการทำเคมีบำบัดแล้วเกิดอาการอาเจียนหนัก ๆ กัญชาก็จะช่วยทุเลาตรงนี้ได้ส่วนหนึ่ง หรือกระทั่งคนไข้ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต หรืออาการเบื่ออาหารกัญชาก็ยังมีส่วนช่วยในการรักษาได้เช่นเดียวกัน

คุณหมอฝากทิ้งท้ายว่า ประการแรก คือต้องมีการให้ข้อมูลการรักษาด้วยกัญชากับคนไทยมากขึ้น เพราะหากใช้อย่างถูกวิธี น้ำมันสกัดจากกัญชาก็เหมือนยาสามัญประจำบ้าน ผลดีจะเกิดขึ้นทั้งกับตัวคนไข้ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาแพง หรือยาบางตัวที่หากใช้ไปนาน ๆ แล้วเกิดผลข้างเคียง คนไข้ก็มีทางเลือกในการหันมารักษาด้วยพืชธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นการช่วยบาลานซ์ค่าใช้จ่ายจากโครงการหลักประกันสุขภาพด้วย