มะเร็งเต้านม โรคร้ายอันดับท็อป จำเป็นต้องตระหนักรู้และเข้าใจ

“มะเร็งเต้านม” เป็นภัยเงียบสำหรับผู้หญิงที่มักจะมาเยือนโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่ง 1 ใน 8 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยมีจำนวนสูงกว่า 11.7 ล้านคนต่อปี และกว่า 30% เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจ่าย ซึ่ง 90% ของผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

ระยะของโรคมะเร็งเต้านมจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จัดเป็นระยะเริ่มต้น ระยะที่ 3 มักจะพบมีการลุกลามที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ส่วนระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย พบการลุกลามแพร่กระจายไปในอวัยวะอื่น ๆ นอกเหนือจากก้อนบริเวณเต้านม ได้แก่ ปอด ตับ สมอง กระดูก (ดังภาพประกอบ)

กว่า 45% ของกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษา เมื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเข้าสู่ระยะการแพร่กระจายทำให้รู้สึกหมดหวังในชีวิต เนื่องมาจากต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและต้องเข้ารับการรักษาตลอดชีวิต ซึ่งกว่า 64% ของผู้ป่วยในระยะลุกลามประสบปัญหาด้านสภาวะจิตใจและอารมณ์ โดยเป็นผลมาจากความกังวลใจเกี่ยวกับการดูแลครอบครัวถึง 50% และความรู้สึกโดดเดี่ยวแยกตัวออกจากกลุ่มผู้ป่วยระยะเริ่มต้นถึง 40%

อย่างไรก็ตาม ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบันจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะช่วยยืดอายุและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในระยะลุกลามและแพร่กระจายได้ แม้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีและเหมาะสมจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีพลังและทัศนคติที่ดีในการรักษาอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี

การสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ถือเป็นปัจจัยสำคัญต้องอาศัยการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ เครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพลังต้านภัยมะเร็งเต้านมในประเทศไทย ดังนั้นสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย จึงเชิญชวนบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ญาติ ผู้ดูแลผู้ป่วยฯ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานประชุมมะเร็งเต้านมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (4th Annual South East Asia Breast Cancer Symposium 2019: SEABCS) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 30 สิงหาคม – 1 กันยายนนี้ เวลา 9.00 – 16.00 น. ณ โรงแรมเอเชีย โฮเทล กรุงเทพมหานคร