มารู้จัก RQ เลี้ยงลูกสมัยใหม่ ฉลาดด้านอารมณ์ ฉบับ #สร้างเกราะให้ใจเเกร่ง ล้มเเล้วลุกได้

ในปัจจุบันเมื่อสังคมดูเร่งรีบ ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยน้อยลงการดูเเลเอาใจใส่คนรอบข้างก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อเเม่ผู้ปกครองที่ต้องทำงานหนักในยุคเศรษฐกิจใหม่ การเลี้ยงลูกอย่างไรให้มี “จิตใจเเข็งเเกร่ง” ที่เเท้จริงไปพร้อมๆ กับมีสุขภาพกายที่เเข็งเเรง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้

ภาวะการพัฒนาการทางด้านจิตใจของเด็กเเต่ละคนช้าเร็วไม่เหมือนกัน บางครั้งเกิดความผิดปกติขึ้นบ้างเเละมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ บางครั้งก็เป็นเพียงอาการทางสุขภาพจิตเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นได้เป็นโรคเเละไม่ต้องกินยา เเต่ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมเเละการดูเเลเอาใจใส่จากพ่อเเม่ ซึ่งจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือกันทั้งครอบครัวเเละได้รับคำเเนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินคำว่า IQ (Intelligence Quotient) , EQ (Emotional Quotient) , AQ (Adversity Quotient) หรือ  CQ (Creativity Quotient) มามากมายหลายคำนิยามในการพัฒนาจิตใจของเด็กเเละเยาวชน

 

วันนี้เราจะมารู้จักกับ RQ คำที่เพิ่งคิดขึ้นมาใหม่ในปัจจุบันย่อมาจาก Resilience Quotient จาก “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ผู้อำนวยการศูนย์ Samitivej Parenting Center อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากสหราชอาณาจักร ในงานเปิด Samitivej Parenting Center เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา

นพ.ธีระเกียรติ อธิบายว่า RQ  เป็นคำนิยามในช่วงที่เราเจอสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจ เหตุการณ์ร้ายเเรง เเต่เราก็สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ เหมือนคนที่ “ล้มเเล้วลุก” ได้ ซึ่งสะท้อนภาพอะไรได้หลายอย่างว่าเด็กที่จิตใจเเข็งเเกร่งนั้น ข้างในต้องมี “Growth Mindset” กรอบความคิดหรือทัศนคติ แนวคิดแบบยืดหยุ่นและเติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้า ประกอบรวมกับ EF ซึ่งย่อมาจาก Executive Function ความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ดังนั้นการมี RQ จึงผสมกันทั้งการมี Growth Mindset เเละ EF ซึ่งเด็กทุกคนสามารถมีได้ หากได้รับการดูเเลอบรมที่ดี พ่อเเม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจในเรื่องนี้อย่างมาก

Advertisment

“สุขภาพจิตของเด็กเป็นปัญหาสำคัญ เด็กบางคนเริ่มตั้งแต่ ขี้กลัว อ่อนไหว ดื้อ และลุกลามไปจนถึงการฆ่าตัวตาย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเด็กในการปรับตัวต่อสภาวะที่ยากลำบาก หรือความยืดหยุ่นในการปรับตัวลดลง  อย่างไรก็ตาม ความเเกร่งในจิตใจไม่ใช่อยู่ดีๆ จะผุดขึ้นมาต้องสะสมมาเรื่อยๆ สภาพเเวดล้อมก็มีส่วน โดยเด็กที่โตในสังคมเมืองมีอัตราการมีปัญหาทางจิตใจมากกว่าเด็กต่างจังหวัด 2 เท่า ไม่ใช่เเค่ในไทยเเต่เป็นกันทั่วโลก”

Advertisment

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า การทำหน้าที่ของพ่อเเม่ ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตทางจิตใจของบุตรหลาน เปรียบเทียบกับการที่คนเรากว่าจะเชี่ยวชาญในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง จะต้องผ่านการเทรนนิ่ง สั่งสมประสบการณ์นานนับ 10 ปี เเต่การได้มาเป็นพ่อเเม่ของคนๆหนึ่ง พอลูกคลอดออกมาเรากลายเป็นพ่อเเม่เลย จึงไม่ค่อยรู้ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรดี ส่วนใหญ่ยังเลี้ยง “ตามความรู้สึก” เลี้ยงตามที่ตัวเองถูกเลี้ยงมา หรือเลี้ยงตามพรรคพวก

“ผมอยากให้มีการดูเเลสุขภาพจิตเด็กอย่างเป็นระบบในเมืองไทย ส่งต่อระบบความรู้ไปให้จิตแพทย์รุ่นน้องเพื่อช่วยเหลือคนในสังคม ถึงเวลาที่ทุกคนต้องมาเรียนรู้ถึงกระบวนการสร้างให้เด็กมีจิตใจที่เเข็งเเกร่งอย่างแท้จริง รู้จักองค์ความรู้ที่จะให้เข้าใจสุขภาพจิตเด็กมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างครอบครัวที่อบอุ่น โดยทุกคนต้องร่วมมือกัน พ่อแม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมี EF มากขึ้นตามลูกด้วย ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถเปลี่ยนได้”

สำหรับโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มีวิสัยทัศน์ที่จะดูแลเด็กแบบ Total Health Solution หรือการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาต่างๆ กว่า 150 คน จึงได้จัดตั้ง Samitivej Parenting Center ขึ้น เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้สุขภาพจิตเด็กเเละการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

โดยจะดูแลเด็กในขั้น  Advanced   ที่ไม่ใช่เพียงแค่รักษาอาการต่างๆ ของเด็ก แต่เป็นศูนย์ในการรวมพลังของแพทย์และพ่อแม่ผู้ปกครองในการเรียนรู้วิธีรับมือกับลูกอย่างมีแบบแผนถูกต้อง และตรงจุด ตัวอย่างเช่น เด็กต่ำกว่าอายุ 6 ขวบที่มีปัญหาในเรื่องดื้อหรือสมาธิสั้น จะไม่แนะนำให้ใช้ยา  พ่อแม่เป็นยาที่ดีที่สุดในการปรับพฤติกรรมของลูก  เด็กมีความเก่งอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบในยุคนี้แลัว แต่เด็กต้องเติบโตมาด้วยคุณภาพทางอารมณ์ด้วย

ในระยะแรก Samitivej Parenting Center จะเปิดโปรแกรมสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อการรักษาเด็กสมาธิสั้น (ADHD) และเด็กดื้อ(ODD) อายุระหว่าง 2-12 ปี โดยเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีโครงสร้างลักษณะเฉพาะและมีแบบแผนชัดเจนอิงตาแนวทางของ Russell A. Barkley ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมาธิระดับโลก โดยพ่อแม่และผู้ปกครองจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เรื่องโรคสมาธิสั้น และพฤติกรรมดื้อต่อต้าน อย่างครบวงจร อาทิ ฝึกสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก ฝึกการออกคำสั่งแบบมีประสิทธิภาพ ฝึกทักษะการปรับพฤติกรรม การเลือกโรงเรียน การรักษาโรคสมาธิสั้น เป็นต้น

“จากผลวิจัยซึ่งทำต่อเนื่องระยะยาวพบว่า เด็กที่มีความสามารถรอได้เมื่อตอน 4 ขวบ เมื่อมีอายุมากขึ้นส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ดี และมีหน้าที่การงานดี มีรายได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการฝึกให้รอเป็นตั้งแต่เด็ก พ่อแม่จึงต้องฝึกฝน โดยต้องการเลือกสถานการณ์ให้ถูกต้อง ตามหลักพัฒนา 5 Point of EF intervention ได้แก่ Choose Situation – Change Situation – Choose Attention – Change Thoughts – Change Response พัฒนาไปพร้อมกับลูก เพราะถ้าจะเเก้ปัญหาจิตใจเด็ก เเต่ตราบใดที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังไม่ได้เรื่อง เเม้จะมีเทคนิควิเศษสุดก็จะไม่เปลี่ยน ดังนั้นจึงต้องทุ่มเทให้กับการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกก่อน แล้วค่อยไปสอนพ่อเเม่ว่าต้องจัดการกับลูกอย่างไร เเต่หลายครอบครัวมักไม่สนใจขั้นตอนพื้นฐานเหล่านี้ อยากกระโดดไปสเต็ปที่ 4-5 เลย แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา”

นอกจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ ได้แชร์ประสบการณ์ที่ได้โอกาสสัมภาษณ์ทีมหมูป่า ผู้รอดชีวิตทั้ง 13 คน โดยเป็นการเข้าไปพูดคุยเรื่องสภาพจิตใจ การเอาตัวรอด การปรับตัว การตัดสินใจเเล้วนำมาวิเคราะห์การก้าวผ่านในปัจจัยต่างๆ แบบไม่อิงเรื่องดราม่าและกระแสสังคมว่า หัวใจสำคัญคือทีมเวิร์ก มนุษย์เราอย่าเเก้ปัญหาคนเดียว เเละความเป็นผู้นำของโค้ชก็มีส่วนช่วยได้มาก เด็กต้องมีตัวอย่างเเละผู้นำที่ดี มีความคิดในเเง่ดีจึงทำให้มีความหวังเเละกำลังใจ เป็นพื้นฐานที่ดีมากของสุขภาพจิตใจเด็ก อีกทั้งการเล่นกีฬาก็มีส่วนในการพัฒนา EF เเละ RQ อย่างมาก ซึ่งถ้ามองถึงสังคมปัจจุบัน เด็กในเมืองกรุง อาจไม่ได้มีความสัมพันธ์เช่นนั้น เนื่องด้วยการอยู่อาศัยเเละการดำรงชีวิตที่เร่งรีบและเป็นปัจเจกกว่า