เช็กอาการบ่งชี้ โรคลิ้นหัวใจรั่ว ถ้าเข้าข่ายควรรีบพบแพทย์

โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก คำที่เราเรียกกันว่า “โรคหัวใจ” นั้น ความจริงแล้วเป็นคำเรียกรวมของหลายโรคหลายอาการที่เกิดความผิดปกติขึ้นกับหัวใจ และส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งโรคหรืออาการผิดปกติอย่างหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มโรคหัวใจคือ โรคลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ


นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ลิ้นหัวใจทำหน้าที่กั้นห้องหัวใจในแต่ละห้องซึ่งมี 4 ห้อง โดยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 1.ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง 2.ลิ้นหัวใจที่กั้นอยู่บริเวณหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงถือได้ว่าลิ้นหัวใจมีความสำคัญมาก เพราะหากเกิดความผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ เปิดออกได้ไม่เต็มที่หรือลิ้นหัวใจรั่วปิดไม่สนิท หัวใจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และต้องทำงานหนักกว่าเดิม หากเกิดความผิดปกติติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบ รั่ว และอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นหัวใจวาย

ด้าน นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ อธิบายลงรายละเอียดว่า โรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจได้แก่ 1.ลิ้นหัวใจรูมาติค เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อ ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเกิดพังผืดและหินปูนมาเกาะจนไม่สามารถเปิด-ปิดได้เหมือนคนปกติทั่วไป ทำให้ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ส่งผลให้หัวใจวายได้ 2.ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามวัย มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพทำให้ลิ้นหัวใจผิดรูป เปิด-ปิดไม่สนิท เกิดอาการลิ้นหัวใจรั่วได้ 3.เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากกล้ามเนื้อตาย อ่อนแรง เมื่อหัวใจตีบนาน ๆ จะทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว ส่วนใหญ่เกิดกับคนอายุ 50-60 ปี

อาการที่อาจบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ มีอาการบวมของท้อง หรือขา เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรืออยู่เฉย ๆ ยังมีอาการเหนื่อย และไม่สามารถนอนราบได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้มาพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษาลิ้นหัวใจสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซ่อมแซมลิ้นหัวใจเดิม ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของอายุรแพทย์หัวใจ

นอกจากนี้ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก แนะนำว่า ผู้ป่วยต้องรู้จักดูแลตนเองภายหลังการรักษา โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่ควรหักโหม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม เลิกสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ