โรคเดียวที่พูดถึงกันไปทั่วโลกในขณะนี้ หนีไม่พ้นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หนึ่งในอาการ หากติดเชื้อโควิด-19 คือ เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก ซึ่งใกล้เคียงกับอาการของโรคหัวใจบางประเภท ฉะนั้น เรามาดูวิธีสังเกตอาการกันว่าจะแยกอาการของโควิด-19 ออกจากโรคหัวใจได้อย่างไร
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาการของการติดเชื้อโควิด-19 คือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีอาการที่ทางเดินหายใจส่วนบนเป็นอันดับแรก เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ร่วมกับอาการไข้จนถึงไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ปวดตามข้อ หลังจากนั้นอาการจะมีการเปลี่ยนแปลงและลุกลามไปจนถึงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ปอด จุดนี้ที่จะทำให้คนไข้เริ่มมีอาการเหนื่อย เกิดภาวะเมตาบอลิซึมสูงร่วมกับการติดเชื้อในปอด ทำให้ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง คนไข้จะหายใจหอบ เหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว
อาการโรคโควิด-19 ที่ว่ามา จะมีความแตกต่างจากอาการเจ็บหน้าอกจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ที่จะไม่มีอาการของไข้หวัดมาก่อน โดยมากอาการเจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดตีบจะสัมพันธ์โดยตรงกับการออกแรงและออกกำลังกาย
ส่วนอาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดนั้น หากเกิดขึ้นจากภาวะน้ำเกินจะไม่มีอาการเป็นไข้หวัดนำมาก่อนหรือร่วมด้วย แต่ลักษณะอาการของโรคหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดนั้นจะเป็นตอนขณะที่นอนราบ และอาการจะมากขึ้นจนถึงนอนราบไม่ได้ นอนลงไปแล้วจะมีอาการไอ ต้องนอนหมอนสูงหลายใบ และหนักสุดคือนั่งหลับ เพราะนอนราบไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือ คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว หากติดเชื้อโควิด-19 จะไปกระตุ้นให้อาการของโรคหัวใจกำเริบจนแยกอาการได้ค่อนข้างยาก
นพ.ชาติทนง บอกอีกว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจหากติดเชื้อโควิด-19 อาการจะรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตได้สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ความรุนแรงของโควิด-19 ไม่ได้เกิดเฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น แต่กลุ่มต่อไปนี้ ได้แก่ ผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรังเดิม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไต โรคตับแข็ง และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่เดิม ล้วนแต่เป็นภาวะที่จะทำให้การติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง และมีอัตราการเสียชีวิตสูงได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรมีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่รักษาโรคได้โดยตรง การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วจะมีอาการแสดงมากขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิด คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือล้มเหลว ถ้าได้รับเชื้อเข้าไปจะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเมตาบอลิซึมสูงขึ้น จนกระทั่งกระตุ้นให้โรคหัวใจล้มเหลวกำเริบ อีกกรณีหนึ่งคือ ติดเชื้อโควิดรุนแรงจนทำให้ไตวายและไตไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้ จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมปอด ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้เสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมามากมาย
สุดท้าย นพ.ชาติทนงแนะนำว่า สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจหากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 อาจต้องสังเกตอาการของตนเองอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น อาการที่คล้ายหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ร่วมกับอาการไข้จนถึงไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ปวดตามข้อ ควรต้องรีบติดต่อสถานพยาบาลและเตรียมพร้อมที่จะมาตรวจเพื่อรักษาอาการตั้งแต่เริ่มต้น หากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายได้