ทำความเข้าใจ “วัคซีน” และ “ภูมิคุ้มกัน” คืออะไร ทำงานอย่างไร

เครดิตภาพ pixabay.com/thedigitalartist

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนของทุกปี (24-30 เมษายน) เป็นสัปดาห์แห่งการสร้างภูมิคุ้มกัน (World Immunization Week) ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงคุณค่าในการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการปกป้องคนนับล้านชีวิตให้รอดพ้นจากความเสี่ยงของโรคติดต่อมากมายที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งหนึ่งในวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ประสบความสำเร็จและคุ้มค่าที่สุดในโลกคือการฉีดวัคซีน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เราต่างรอคอยวัคซีน ส่วนนักวิจัยก็กำลังเร่งคิดค้นและผลิตวัคซีนซึ่งเป็นความหวังในภาวะวิกฤตครั้งนี้ ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความสำคัญของวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีผู้คนส่วนหนึ่งที่เข้าใจผิดว่าการฉีดวัคซีนอาจส่งผลต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดภาวะเรียนรู้ช้าหรือพิการได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จากนานาประเทศต่างก็ยืนยันว่าการฉีดวัคซีน “มีความปลอดภัยสูง” และ “มีความจำเป็นอย่างมาก” ในการจำกัดวงจรการระบาดของโรคร้ายที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง หรืออาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะแพทย์ผู้บุกเบิกเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ยาปฏิชีวนะในโรคติดเชื้อ และโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ให้ข้อมูลว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีความจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดโรคอุบัติใหม่และยังเป็นโรคระบาดอีกด้วย เช่นเดียวกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ในช่วงเวลานี้

กลไกในการสร้างภูมิคุ้มกัน

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ อธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันว่า ปกติแล้วร่างกายของคนเรามีกลไกในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรคหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ

1. ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองตามธรรมชาติ มีความสามารถในการป้องกันหรือทำลายจุลินทรีย์หรือสิ่งแปลกปลอมได้ในระดับหนึ่ง โดยจะป้องกันโรคได้หลายชนิด ไม่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ พันธุกรรม ฮอร์โมน และภาวะโภชนาการของแต่ละบุคคล

2. ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับสิ่งแปลกปลอม โดยจะตอบสนองจำเพาะกับเชื้อโรคผ่านเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ซึ่งจะจดจําเชื้อโรคได้และจะตอบสนองในครั้งหลัง ๆ ได้เจาะจงและรวดเร็วขึ้น รวมถึงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กรณีของการสร้างภูมิคุ้มกันโดยวัคซีนนั้น จัดว่าเป็นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ เป็นการแนะนำให้ร่างกายให้ได้รู้จักกับเชื้อโรคหรือบางส่วนของเชื้อโรค โดยที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถเรียนรู้วิธีต่อสู้ป้องกันตนเอง

เสมือนกับเป็นการซ้อมรบ เมื่อถึงคราวได้รับเชื้อหรือติดเชื้อนั้นเข้าจริง ๆ โดยสารที่เรียกว่าแอนติเจนในวัคซีนก็จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้หรือสารที่สามารถต้านทานเชื้อขึ้นมาได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลอีกว่า การผลิตวัคซีนนั้น จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12–18 เดือน การที่จะนำวัคซีนไปฉีดในร่างกายมนุษย์ที่แข็งแรงนั้นยิ่งต้องมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยจริง ๆ และสามารถป้องกันโรคได้จริง ๆ โดยปกติแล้ว การพัฒนาวัคซีนจะต้องผ่านการทดสอบขั้นต้นในห้องปฏิบัติการและทดลองในสัตว์ก่อน จึงจะมาถึงขั้นตอนการทดลองทางคลินิก (clinical trials) หรือการทดลองกับมนุษย์

การทดลองทางคลินิก คืออะไร ?

การทดลองทางคลินิก (clinical trials) หรือการทดลองกับมนุษย์ นั้นมีอยู่ 3 ระยะด้วย ได้แก่ ระยะแรก เป็นการทดสอบในกลุ่มเล็กเพื่อดูเรื่องความปลอดภัย วิธีให้ ขนาดของยา และผลข้างเคียงเป็นหลัก, ระยะที่สอง ทดลองในกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นที่ผู้มีลักษณะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของวัคซีน เช่น มีอายุหรือข้อมูลสุขภาพแบบเดียวกัน รวมทั้งทดสอบในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรค, ระยะที่สาม ทดลองกับประชากรในวงกว้างเป็นกลุ่มใหญ่หลายพันคน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคและผลข้างเคียงเปรียบเทียบกับยาหลอก

นอกจากนั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ ให้ความเห็นว่า กรณีที่มีการผลิตวัคซีนสำเร็จและประกาศใช้แล้ว ในระยะแรก วัคซีนย่อมมีราคาค่อนข้างสูงและมีปริมาณจำกัด จึงจำเป็นจะต้องจำกัดกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงให้ได้รับวัคซีนเป็นอันดับแรก ๆ ก่อน คือ 1.กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบสร้างภูมิเริ่มเสื่อม และถ้าอายุ 80 ปีขึ้นไป ระบบก็จะทำงานได้น้อยลง 2.กลุ่มที่มีโรคประจำตัวทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด และโรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม ยิ่งเสี่ยงสูงเพราะปกติก็หายใจลำบากอยู่แล้ว เพราะมีไขมันเต็มช่องท้อง ทำให้ดันเนื้อที่ปอดเหลือนิดเดียว เป็นต้น เมื่อมีวัคซีนที่ได้ผลดีรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ มิฉะนั้นจะกลายเป็นวัคซีนของคนที่มีเงินเท่านั้น

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี อาจจะต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ระบบสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อให้ต่อสู้กับเชื้อใหม่ ๆ ได้ สังเกตได้ว่าไม่มีเด็กเสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะสามารถสู้กับเชื้อไวรัสนี้ได้ ทำให้เด็กไทยติดเชื้อจำนวนไม่มากและมักเป็นเด็กที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนเด็กที่ติดเชื้อพบว่ามีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการ แต่สิ่งที่กังวล คือเด็กที่ติดเชื้ออาจนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้สูงวัยในบ้านได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กไม่ค่อยติดเชือ้โควิด-19 แต่ยังมีโรคอื่น ๆ อีกมากมายในวัยเด็กที่ผู้ปกครองควรตระหนักรู้และจำเป็นต้องพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบตามกำหนด เช่น โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคโปลิโอ โรคหัด ไวรัสตับอักเสบ บี และไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

“การฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากโรคที่ป้องกันได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่คุ้มค่า ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้แก่คนไทย” ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าว