โรคหัวใจ…อันตราย ตรวจเช็กก่อนสาย

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก เพราะมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นไปอีก

หัวใจทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เคยได้หยุดพักเลยตลอดชีวิตของคนเรา เปรียบเหมือนกับเครื่องจักรหนึ่งตัวในโรงงานใหญ่ที่ไม่เคยปิดพักเครื่องเลยแม้แต่นาทีเดียว จึงมีความเสี่ยงจะชำรุดเสียหายมากกว่าส่วนอื่นที่ได้หยุดพัก โรคภัยที่เกิดขึ้นที่หัวใจจึงมีมากมายหลายอาการ เรียกรวม ๆ ว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease)

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของผู้คนทั่วโลก ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ประมาณ 17.7 ล้านคน คิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ ของอัตราการตายทั้งหมดทั่วโลก แบ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ประมาณ 7.4 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) 6.7 ล้านคน

ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2557 บอกว่า มีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน พบได้ทุกช่วงอายุ แต่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป จากสถิติ โรคหัวใจติดอันดับ 1 ใน 3 ของโรคที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

เมื่อปี 2012 สหพันธ์หัวใจโลกได้กำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปีเป็น วันหัวใจโลก (World Heart Day) โดยมีจุดมุ่งหมายจะลดจำนวนผู้ป่วย และลดอัตราการเสียชีวิต

การศึกษาวิจัยจากทั่วโลกบอกว่า พันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีโรค 4 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความอ้วน ที่เป็นตัวเร่งสำคัญ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือหลอดเลือดตีบตันแคบ

อะไรบ้างที่เป็นความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจ เทคนิคการแพทย์ กัญจนา สาเอี่ยม ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ N Health กล่าวว่า ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจมีทั้งแบบควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคนี้ และแบบที่ควบคุมได้ เช่น การทานอาหารเยอะเกิน ทำให้น้ำหนักตัวเยอะเกินไป ทานอาหารหวาน มัน หรือเค็มเกินไป

สัญญาณที่บอกว่า โรคหัวใจจะเกิดขึ้นแล้ว

อาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ เหนื่อยง่าย แน่นและเจ็บหน้าอก หอบ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ขาบวม เป็นลม วูบ และท้ายที่สุด คือ หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

การตรวจหัวใจ

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แนะนำการตรวจโรคหัวใจพื้นฐานไว้ 4 แบบ คือ

1.ตรวจร่างกาย ดูน้ำหนักและส่วนสูง ดูว่าอ้วนหรือไม่ จับชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอหรือไม่ ตรวจความดันโลหิต

2.ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

3.เอกซเรย์ทรวงอก


4.ตรวจเลือด หาระดับสารต่าง ๆ ในเลือด ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจโดยตรง แต่ดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง