เช็กสุขภาพจิตง่ายๆ ด้วย 5 แอปพลิเคชั่น

สถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี ด้วยปัจจัยหลายอย่าง มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตที่เปิดเผยว่า ปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,419 ราย และใน 6 เดือนแรกของปี 2563 มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 2,551 ราย เพิ่มขึ้นจาก 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 2,092 ราย

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เราต้องตระหนัก และถ้าพยายามป้องกันตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้เผชิญปัญหานี้ได้ก็จะดี ซึ่งการจะป้องกันปัญหาได้ก็ต้องเริ่มจากการรู้เท่าทันสภาพจิตใจและร่างกายของตัวเอง ต้องหมั่นสังเกตว่าตัวเองมีความผิดปกติที่เสี่ยงหรือไม่

ลักษณะอาการเกี่ยวกับสุขภาพจิตเบื้องต้นที่สามารถสังเกตได้ เช่น มีปัญหาในการนอน ปวดศีรษะ ปวดท้อง เหนื่อยอ่อนเพลียไม่มีแรง เบื่ออาหาร เครียด กังวล สับสนฟุ้งซ่าน เหม่อลอย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย คิดฆ่าตัวตาย จิตใจหดหู่ หงุดหงิดง่าย เหม่อลอย ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรคทางจิตเวชที่คนไทยส่วนใหญ่เป็น 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.โรคซึมเศร้า (depression) 2.โรคจิตเภท (schizophrenia) 3.โรควิตกกังวล (anxiety) 4.โรคจิตเวชเนื่องมาจากสารเสพติด (substance induced mental illness) 5.โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder)

ตามคำแนะนำทางการแพทย์คือหากพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีความเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช แต่ปัญหาก็คือหลายคนอาจจะไม่มีเวลา หรือรู้สึกอาย รู้สึกกลัวที่จะไปพบจิตแพทย์ ซึ่งถ้าใครติดขัดไม่สะดวกไปพบจิตแพทย์ หรือบุคลากรผู้ให้คำปรึกษาอย่างที่ว่ามา ก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือการปรึกษาทางออนไลน์ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้เลือก 5 แอปพลิเคชั่นให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ iOS และ android มาแนะนำเป็นตัวเลือกสำหรับการปรึกษาง่าย ๆ ที่ช่วยเราได้เพียงปลายนิ้วจิ้ม

SabaiJai

เรตติ้ง : iOS 5 ดาว, Android 4.8 ดาว

สบายใจ (Sabaijai) แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง

เนื้อหาและบริการหลัก ๆ ในแอปจะมีส่วน “ไขคำถาม…ไขข้อข้องใจ” ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุการฆ่าตัวตาย ความเสี่ยง สัญญาณเตือน การป้องกันแก้ไขปัญหา, “แบบคัดกรอง” ซึ่งมีคำถามให้ตอบ 9 ข้อเพื่อประเมินว่าผู้ใช้มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองหรือไม่,

“ใครสักคนที่อยากคุยด้วย” ให้บันทึกชื่อและเบอร์โทร.ของคนที่ผู้ใช้รู้สึกใกล้ชิด ไว้ใจ อยากคุยด้วย เพื่อที่จะโทร.ไปหาใครคนนั้นได้ทันทีที่รู้สึกไม่สบายใจ จิตตก โดยไม่ต้องคิดนานว่าจะโทร.หาใครดี เพราะบุคคลนี้คือคนที่เราเลือกแล้วว่าสบายใจที่จะคุยด้วยมากที่สุด, “เติมพลังใจ…กันเถอะ” ส่วนนี้นำเสนอเนื้อหาบทความให้กำลังใจในการใช้ชีวิต และมีหน้า“สายด่วนสุขภาพจิต” ให้กดโทร.ออกได้เลยโดยไม่ต้องหาเบอร์ให้ยาก

Mindfit

เรตติ้ง : Android 3 ดาว

มายด์ฟิต (Mindfit) แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกโรค ปัจจุบันมีให้บริการในระบบ Android เท่านั้น แอปพลิเคชั่นนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีการประเมินที่เรียกว่า การประเมินพลังใจ 9 ข้อ เป็นการวัดความเศร้าของตัวเอง

หากผลประเมินออกมาว่าพลังใจมีน้อย ก็จะมีแบบฝึกหัดเป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพลังใจ ซึ่งคล้ายกับการเล่นเกม เน้นการปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม และการคิดบวก ในแต่ละวันจะมีการแจ้งเตือนจากแอป โดยการ์ตูนที่มีชื่อว่าน้องมายด์คอยให้กำลังใจและรางวัล ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ก็จะแนะนำให้ไปปรึกษาจิตแพทย์

MyLife Meditation

เรตติ้ง : iOS 4.5 ดาว, Android 4.7 ดาว

MyLife Meditation แอปพลิเคชั่นสำหรับวัดระดับอารมณ์ในแต่ละวัน โดยเริ่มจากให้ผู้ใช้ประเมินตนเอง เลือกระดับอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้น ระบบจะประเมินออกมา แล้วมีแบบฝึกสมาธิให้ทำและฟังไปด้วย จะเป็นการอธิบายว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีความเครียด นอกจากนี้ยังสามารถติดตามดูพัฒนาการทางอารมณ์ของผู้ใช้งานได้ด้วย

Mental Health Check Up

เรตติ้ง : iOS 3.3 ดาว, Android 4.3 ดาว

แอปพลิเคชั่นที่ทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา พัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถประเมินอาการได้ 6 รายการ ได้แก่ 1.ความเครียด 2.ภาวะซึมเศร้า 3.ภาวะสมองเสื่อม 4.ดัชนีวัดความสุข 5.พลังสุขภาพจิต (RQ) 6.ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หลังจากทำแบบประเมินเสร็จแล้ว ระบบจะสรุประดับความเครียดหรือระดับความเสี่ยง หากอยู่ในระดับสูง ก็จะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ หรือโทร.หาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ทันที

Ooca

เรตติ้ง : iOS 3.2 ดาว, android 3.7 ดาว

อูก้า (Ooca) แอปพลิเคชั่นสำหรับปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล จะเป็นรูปแบบการคุยอย่างเดียว เพราะจิตแพทย์ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางสีหน้า

ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าอยากปรึกษาเรื่องอะไร โดยมีอัตราค่าใช้บริการปรึกษานักจิตวิทยาอยู่ที่ 1,000 บาท ต่อ 30 นาที และปรึกษาจิตแพทย์ 1,500 บาท ต่อ 30 นาที หากยังไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือไม่ ก็สามารถทำแบบทดสอบประเมินอาการก่อนได้

อูก้าจะเน้นการพูดคุยปรึกษาปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น หากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์มีความเห็นว่าควรจะได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็จะแนะนำให้ไปสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้กับผู้ใช้บริการ