อนุทิน เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์ พรุ่งนี้ ให้ความรู้การปลูก-ซื้อขาย

อนุทินเตรียมเปิดสถาบันกัญชาเพื่อการแพทย์
ภาพจากเพจ Like Anutin

“อนุทิน” เปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์พรุ่งนี้! (22 ก.พ.) ให้ความรู้ประชาชน ครอบคลุมตั้งแต่ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์-ปลูก-ซื้อ-ขาย-นำไปใช้

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า การผลักดันนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ที่รัฐบาลวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้มีการนำมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อสร้างพืชเศรษฐกิจตัวใหม่สร้างรายได้ให้กับประชาชน

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. จะเป็นประธานเปิดสถาบันกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ พร้อมมอบนโยบายการทำงาน

นพ.กิตติกล่าวว่า ทั้งนี้ สถาบันกัญชาฯ จัดตั้งเป็นกองหนึ่งในสังกัดของสำนักงานปลัด สธ. เนื่องจากเรื่องกัญชามีความเกี่ยวข้องกับหลายกรมใน สธ. และรวมถึงกระทรวงอื่น ๆ ด้วย จึงจะต้องตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุน ประสานงาน ส่งเสริมให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ให้เกิดความล่าช้าในทางปฏิบัติ

นพ.กิตติกล่าวต่อว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เรื่องกัญชาจะถูกล็อกว่า หากจะกระทำการใดจะต้องมีหน่วยงานรัฐร่วมด้วย ดังนั้น ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีเรื่องการแพทย์ การเกษตร รวมถึงสภากาชาดไทย ที่ยกเว้นว่าสามารถปลูก ผลิต จำหน่ายได้ และเนื่องจากประชาชนอยากปลูกหรือไปใช้ประโยชน์จะต้องร่วมตัวกันในรูปของสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน และหาหน่วยงานของรัฐมากำกับทุกขั้นตอน

หน้าที่ของสถาบันกัญชาฯ จะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ ดูจุดต่าง ๆ ที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างกระทรวง ทบวง กรม ล่าสุดสถาบันกัญชาฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาสายพันธุ์กัญชา ลงไปช่วยเรื่องการปลูกให้ประชาชน วิสหากิจชุมชน เราต้องทำหลายฟังก์ชั่นมาก เช่น ล่าสุดมีประกาศ สธ. ปลดใบ ราก ต้น ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เราจะต้องเข้าทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า หากมีการนำใบไปใช้จะเป็นประโทษกับประชาชนหรือไม่

เช่น นำไปทำชาจะต้องระวังอย่างไร เราก็ประสานโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีกัญชาในครอบครอง เช่น รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รพ.คูเมือง ฯลฯ นำวิจัยที่เกี่ยวข้องมาศึกษา ชาชง เป็นมิติของการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัย”  นพ.กิตติ กล่าว

นพ.กิตติกล่าวว่า สถาบันกัญชาฯ จะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทุกส่วนทั้งหมด ซึ่งอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 (Single Convention on Narcotic. Drugs, 1961) ของสหประชาชาติ กำหนดเรื่องการจัดตั้งสถาบันกัญชาฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับสถาบันฝิ่นแห่งชาติ แต่เนื่องด้วยขณะนี้ยังเป็นการดำเนินการด้านการแพทย์ จึงทำให้กฎหมายมาอยู่ในความดูแลของ สธ. ดังนั้น สถาบันกัญชาฯ ที่ถูกจัดตั้งขึ้น จะต้องทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯดังกล่าว

กัญชาในขณะนี้อยู่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ แต่ก็ยังมีพ.ร.บ.พืชพันธุ์ฯ ในกรมวิชาการเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย จึงมีความเชื่อมโยงกันเช่นนี้ ดังนั้น หน้าที่ของสถาบันกัญชาฯ จะต้องเชื่อมโยงกัน ต้องประสานให้เขา เช่น มีชาวบ้านอยากปลูก แต่มีปัญหาด้านเมล็ดพันธุ์ เราก็มีหน้าไปหาว่าจะมีใครหาต้นกล้าให้ชาวบ้านได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องไปสื่อสารกับ อย. เพื่อการหาหน่วยงานรัฐ เข้าไปกำกับตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับที่ 7 แต่หากทุกอย่างต่างคนต่างทำ ไม่มีคนประสาน ก็จะมีปัญหา” ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาฯ กล่าว

นพ.กิตติกล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนกับสถาบันกัญชาฯ จะมีความเกี่ยวข้องกันใน 3 แง่ ประกอบด้วย 1.ความต้องการใช้ยา ซึ่งหน่วยงานรัฐในลักษณะของ รพ.ดูแลด้านนี้อยู่ สถาบันกัญชาฯ มีหน้าที่หาหน่วยบริการที่เหมาะสม เช่น ความต้องการใช้ยา การเปิดอบรมแพทย์ที่ใช้ยา โดยประสานกับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลว่าจะไปรับยาได้จากที่ใดบ้าง

2.ความต้องการปลูกเพื่อเศรษฐกิจ สถาบันกัญชาฯ ต้องหาโมเดลที่เหมาะสมภายใต้กฎหมายที่กำหนด เช่น ช่วงแรกทุกส่วนของพืชกัญชา นับว่าเป็นยาเสพติดให้โทษทั้งหมด ส่วนไหนสามารถไปใช้ได้ ส่วนที่เหลือต้องทำลายทิ้งหมด แต่ขณะนี้ อย.ได้ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชาจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แล้ว สถาบันกัญชาฯ ก็ต้องไปช่วยเหลือประชาชนในส่วนการปลูกอย่างถูกกฎหมาย

นพ.กิตติกล่าวว่า และ 3.กลุ่มอาชีพที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนต้องการปลูกกับคนต้องการใช้ผลผลิต เช่น ผู้ขายเมล็ด ผู้สกัดน้ำมันกัญชาทำเป็นยา รวมถึงภาคเอกชนต่างๆ ที่อยากเข้ามาเดินหน้ากัญชาในทางเศรษฐกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายใน พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับที่ 7 ซึ่งเป็นโจทย์ของสถาบันกัญชาฯ ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อนำปัญหามาสู่กระบวนการคิด เอาโมเดลไปเสนอ อย. เพื่อการดำเนินการตามกฎหมาย

นพ.กิตติ กล่าวถึงการนำร่องปลูกกัญชา 6 ต้น ของ อ.โนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ ว่า ต้องเร่งให้ความรู้ประชาชนเพื่อปลูก ป้องกันสารสำคัญไม่ให้ปนเปื้อน หน้าที่เหล่านี้สถาบันกัญชาฯ จะต้องเป็นผู้เชื่อมโยง หาปัญหาเพื่อส่งต่อข้อมูลไปให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ความแตกต่างของโนนมาลัยโมเดลกับวิสาหกิจอื่น คือ สามารถนำต้นกัญชามาปลูกได้ในรั้วบ้านของตนเอง

เรามีโมเดลหลายอย่าง เฟสแรกจะเป็นการนำกัญชามาใช้เพื่อการแพทย์จริงๆ เน้นการใช้ในยาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบัน ให้ผู้ป่วยเข้าถึง ต่อมาตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ สธ. ขับเคลื่อนกัญชาและกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ เราจะต้องทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เหมือนการส่งเสริมสมุนไพรทั่วไป เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ฯลฯ

เพราะกัญชาก็เป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่มีความยากตรงที่ ขมิ้นชัน เอกชนสามารถทำได้เลย แต่กัญชายังไม่ได้เพราะติด พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับที่ 7 ที่ล็อกให้รัฐกำกับเอกชน”  นพ.กิตติกล่าว

และว่า ทุกประเทศกำลังมองหาพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่ากัญชาหรือกัญชง หลายประเทศเคลื่อนไปได้เร็ว และประเทศไทยถือว่าไปได้เร็วมากเช่นกัน