5 เหตุผล “ลดน้ำหนัก” ไม่สำเร็จ เลือก ปรับ 3 อ. เพื่อหยุด อ.อ้วน

เปิด 5 เหตุผลทำไมลดความอ้วนไม่สำเร็จ

โรงพยาบาลกรุงเทพ เผย 5 เหตุผล “ลดน้ำหนัก” ไม่สำเร็จ เลือก ปรับ 3 อ. เพื่อหยุด อ.อ้วน

วันที่ 1 มีนาคม 2564 โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยแพร่บทความเรื่อง 5 เหตุผลลดน้ำหนักไม่สำเร็จเลือก “ปรับ 3 อ.เพื่อหยุด อ.อ้วน” ก่อนหน้าวันโรคอ้วนโลก World Obesity Day ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มี.ค.ของทุกปี เพื่อมุ่งหวังให้ทุกคนได้ตระหนักว่าความอ้วนเป็น “โรค” ที่ควรระวัง และปัญหาเรื่องความอ้วนยังคงเป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ

นพ.ปราโมทย์ พัชรมณีปกรณ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวานไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวานไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า 5 อุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ ได้แก่

  1. ขาดแรงบันดาลใจในการลดน้ำหนัก หมอได้ยินบ่อยว่า “ไม่รู้ว่าจะลดน้ำหนักไปทำไม” เคยเป็นไหมเวลาเราทำอะไรยากๆแล้วสำเร็จเป็นเพราะเรามี Passion ยากแค่ไหนก็ทำได้ การลดน้ำหนักก็เช่นกัน ถ้าคุณมี Passion มากพอ รับรองว่าทำได้ ลองหาเหตุผลที่โดนใจสักข้อ เช่น ไม่อยากป่วยเป็นโรคจากความอ้วน อยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น ต้อง #(ไม่)หมด Passion
  2. เข้าใจผิดคิดว่ากินสิ่งนี้แล้วไม่อ้วน ผลไม้ที่คนส่วนใหญ่คิดว่ากินเยอะแล้วไม่อ้วน ความจริงคือผลไม้มีน้ำตาลซึ่งให้พลังงานสูง แต่ขึ้นอยู่กับว่ากินมากแค่ไหน ยกตัวอย่าง ส้ม 1 ลูก (ผลเท่าลูกเทนนิส) ให้พลังงานเท่ากับกินข้าวสวย 1 ทัพพี  ถ้าไม่กินข้าวเย็นแต่กินส้มไป 5 ลูกแทน ก็แปลว่าเรากินข้าวสวยไป 5 ทัพพี อาหารทอด อาหารผัดทุกชนิด อาหารจานเดียวต่าง ๆ มีน้ำมันที่ซ่อนอยู่ในอาหารกลุ่มนี้ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำหวาน ชานม น้ำอัดลม  #เราพังมาเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “ไม่เป็นไรหรอกนิดเดียวไม่อ้วนหรอก”
  3. ขี้เกียจออกกำลังกาย แม้จะคุมอาหารหรือกินน้อยแค่ไหน แต่ไม่ออกกำลังกายก็ทำให้การเผาผลาญไขมันได้น้อย การออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การคุมอาหาร ลองเริ่มต้นครั้งละสั้น ๆ 10-15 นาที แล้วค่อยเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเป้าหมายที่วางไว้ หรือเลือกกิจกรรมที่เราชอบหรือเคยทำ เช่น ปั่นจักรยานอยู่กับที่แล้วเปิดดูซีรี่ย์ไปด้วยไม่นานก็ครบเวลาที่เราตั้งไว้แล้ว #แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย
  4. เครียดมาก หาทางออกด้วยการกิน เพราะอารมณ์มีอิทธิพลต่อการกิน เช่น ทำงานใช้สมองเหนื่อยเครียดมาก ต้องการผ่อนคลายด้วยการกินบิงซู เค้กชิ้นโต หรือไอติมสัก 3-4 ลูก ซึ่งถ้าใช้การกินเป็นวิธีคลายเครียดแน่นอนเราจะกินมากกว่าปกติ กลับมาถามตัวเองสักนิดว่า มีวิธีคลายเครียดวิธีอื่นนอกจากการกินไหม เช่น ไปออกกำลังกายคลายเครียดแถมได้ลดน้ำหนัก หรือนั่งหายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออกยาวๆ ช้า ๆ ทำไปเรื่อยๆ 1 นาทีก็เห็นผล ถ้าทำต่อหลายๆ นาที หายเครียดชัวร์  #ถ้าเครียดไม่กิน #ถ้าเครียดให้ออกกำลัง #ถ้าเครียดให้หายใจลึกๆ
  5. ลดน้ำหนักแบบตึงเกินไป จนเครียด ท้อ เลิกทำ หลายคนลดน้ำหนักได้แล้วก็จริง แต่ทำได้ไม่นานก็เลิกทำเพราะอะไร ก็เพราะทำแล้วไม่มีความสุข เครียดกว่าเดิม ทำงานหรือเรียนก็เครียดอยู่แล้ว ยังจะต้องมาเครียดกับการคุมอาหารอีก การลดน้ำหนักให้สำเร็จอย่างยั่งยืนไม่ใช่การลดอย่างรวดเร็ว สิบกิโลในเวลาเดือนสองเดือนพอลดได้แล้วก็เลิกทำไป แต่สิ่งสำคัญคือความสุขในระหว่างที่ลดน้ำหนัก ถ้าบาลานซ์ได้ดีระหว่างความสุขจากกิน ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอกับน้ำหนักตัว เราจะประสบความสำเร็จในระยะยาว บางคนตั้งใจคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างดีแล้วแต่น้ำหนักลดน้อยหรือไม่ลดเพิ่ม ทำให้เสียกำลังใจ ท้อ เลิกทำ จุดนี้หมออยากให้กำลังใจว่าคนเรามีพันธุกรรมไม่เหมือนกัน การเผาพลาญไม่เท่ากัน แม้ว่าเราจะกินอาหารและออกกำลังกายเท่ากับเพื่อน แต่น้ำหนักเราอาจจะลดน้อยกว่าเพื่อนได้ ขอให้ทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป #ลดอย่างมีความสุข  #ถ้าไม่ลดเราไม่เลิก #(แม้)ไม่ลด(แต่ก็)ไม่เลิก

ปรับ 3 อ.เพื่อหยุด อ.อ้วน” อ. อาหาร ปรับลดพลังงานในอาหารลงเพียง 500 กิโลแคลอรี่ต่อวันทำได้ครบ 7 วัน น้ำหนักลดลงครึ่งกิโลกรัม อ. ออกกำลังกาย ปรับการเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้นออกกำลังกายให้ได้ 150-300นาทีต่อสัปดาห์ ถ้าจะให้ดีควรออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (Resistance exercise) 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

อ. อารมณ์ ปรับอารมณ์ให้ไม่เครียดมีสติเวลากิน หลายครั้งการลดน้ำหนักเพียงลำพังไม่สำเร็จเพราะขาดตัวช่วย อาจเข้ารับคำปรึกษาจาก

1) คุณหมอ (Endocrinologist) เพื่อหาสาเหตุของภาวะอ้วนที่อาจแฝงอยู่ เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ โรคฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ฯลฯ ประเมินและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วน หรืออาจพิจารณายาช่วยลดน้ำหนักที่รับรองโดยอย.อย่างถูกต้องถ้ามีข้อบ่งชี้ และใช้ยาอย่างปลอดภัย

2) นักกำหนดอาหาร(Dietitian) จะช่วยประเมินอาหารที่เรากินว่ามากเกินไปหรือไม่ และกำหนดชนิด ปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม

3) นักวิทยาศาสตร์การกีฬา(Sport scientist) จะช่วยแนะนำการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ทั้งชนิดการออกกำลังกาย ความหนักเบาที่เหมาะกับบุคคล

4) พยาบาลผู้ให้ความรู้(Obesity Co-ordinator) เพื่อช่วยประเมินพฤติกรรมการกินอุปสรรคของการลดน้ำหนัก ร่วมกันตั้งเป้าหมายและให้กำลังใจในการลดน้ำหนักของเรา