ก้าวไปอีกขั้น! นักวิทย์ประดิษฐ์ “หัวใจเทียมพิมพ์สามมิติ” หวังช่วยผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว

นับเป็นการก้าวหน้าไปอีกขั้นสำหรับวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อนักวจัยได้ประดิษฐ์หัวใจเทียมทำมาจากซิลิโคน โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ที่เต้นได้เหมือนกับหัวใจของมนุษย์ ถือเป็นการก้าวไปอีกขั้นสำหรับความหวังของผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายหัวใจ

จากตัวเลขผู้ป่วยที่ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวราว 26 ล้านคนทั่วโลก และจำนวนผู้บริจาคทั่วโลกที่ยังน้อย การประดิษฐ์หัวใจเทียมจึงดูเหมือนจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาแสนล้ำค่า ที่ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย

โดยทีมนักวิจัยที่คิดค้นหัวใจเทียมดังกล่าวมาจาก ETH Zurich ในสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า หัวใจเทียมตัวต้นแบบนี้สามารถเต้นได้อย่างเป็นธรรมชาติประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนที่วัสดุจะแตกออก ซึ่งนักวิจัยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาอันใหม่

“เป้าหมายของเราคือการพัฒนาหัวใจเทียมที่มีขนาดใกล้เคียงกับหัวใจของผู้ป่วยเอง และมีรูปแบบและฟังก์ชั่นการใช้งานใกล้เคียงกับของมนุษย์มากที่สุด” นิโคลัส คอร์ส หนึ่งในทีมนักวิจัย ระบุ

ทั้งนี้ หัวใจซิลิโคนดังกล่าวประกอบด้วยหัวใจห้องเวนตริเคิลซ้ายและขวาเหมือนกับหัวใจมนุษย์จริงๆ นอกจากนี้ยังมีห้องอื่นๆ ดังที่หัวใจมนุษย์มี ซึ่งทำงานโดยการขับเคลื่อนของเครื่องปั๊มจากภายนอก ประกอบกับอาศัยการทำงานของแรงดันอากาศในหัวใจห้องที่ 3 ที่จะช่วยสูบฉีดของเหลวได้เหมือนการสูบฉีดเลือด

โดยหัวใจเทียมดังกล่าวมีน้ำหนัก 390 กรัม ปริมาตร 679 ตารางเซนติเมตร ซึ่งอาจจะหนักกว่าหัวใจจริงเล็กน้อย แต่มีขนาดเท่ากับหัวใจของมนุษย์ปกติ ซึ่งหวังว่าในสุดท้ายแล้วหัวใจเทียมดังกล่าวจะสามารถทำงานได้โดยไม่ใช้ปั๊มเมคานิค เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวหรืออาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในร่างกาย ทั้งนี้ ปั๊มเมคานิคในปัจจุบันนี้จะใช้ในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว หรือรอการบริจาคหัวใจ

สำหรับหัวใจซิลิโคนหนึ่งอันจะสามารถเต้นได้ราว 3,000 ครั้ง ซึ่งจะต้องเพิ่มความแข็งแรงของวัสดุและประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจอย่างมีนัยสำคัญ แต่จะต้องมีความนุ่ม อย่างไรก็ตาม หัวใจพิมพ์สามมิตินี้เต้นได้เหมือนกับหัวใจมนุษย์มาก