รู้จัก ค่า Ct เลขน้อยหรือมาก? มีโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 สูงกว่ากัน

รู้จักค่า CT ประเมินความเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด
REUTERS/Ronen Zvulun

ทำความรู้จักค่า Ct ในผู้ป่วยโควิด-19 เลขน้อยหรือมาก? มีโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 สูงกว่ากัน

วันที่ 22 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ เดือนเมษายน 2564 ซึ่งล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 1,470 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 48,113 ราย เสียชีวิตเพิ่มถึง 7 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 117 คน

จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้แตะหลักสิบต่อวัน กับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทะยานขึ้นสู่หลักพัน โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในเร็ววัน ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลเรื่องเชื้อโควิดระลอกใหม่ ซึ่งระบาดหนักกว่าระลอกก่อนหน้า

ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้ประชาชนว่า ระลอกนี้เชื้อดุกว่าเดิม จากเคส 200 กว่ารายของระลอกนี้ที่โรงพยาบาล

  1. ปกติโดยทั่วไปถ้าเป็นเชื้อระลอกแรก 7 วันไปแล้ว เชื้อจะน้อยลงแม้ว่าตรวจ PCR บวกแต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น แต่เชื้อของระลอกนี้ 10 วันแล้วยังเพาะเชื้อขึ้นอยู่ แสดงว่าเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
  2. รอบก่อน ๆ ไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงเกิดปอดอักเสบ แต่รอบนี้พบมากขึ้นกว่าเดิม
  3. หลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ คนที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจะเริ่มมีอาการให้เห็น แต่รอบนี้เร็วกว่าเดิม ไม่ถึงสัปดาห์ก็เริ่มมีอาการมากขึ้น การอักเสบเกิดขึ้นเร็ว การให้ยาต้านไวรัสกับยาสเตียรอยด์ต้องพร้อม การวินิจฉัยปอดอักเสบต้องทำได้เร็ว
  4. ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกและเสมหะมีมากกว่าเดิม เชื้อกระจายได้ง่าย
  5. สัปดาห์นี้เป็นต้นไป เราจะเห็นเคสหนักในไอซียูมากขึ้น

จากที่เห็นก็น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลในประเทศอังกฤษ ที่มีสายพันธุ์ B117 ระบาด พบว่าควรมีวิธีเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ได้แก่การป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน ด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร แพทย์อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอาการของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์จากพื้นที่ทองหล่อ กรุงเทพฯ เปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดจากพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ไว้ 12 ข้อ ข้อสุดท้ายระบุว่า ค่าการเพิ่มของสารพันธุกรรมไวรัสโควิด (Cycle threshold) รอบนี้ ต่ำประมาณ 10 กว่า เยอะมาก

สำหรับ ค่าการเพิ่มของสารพันธุกรรมไวรัสโควิด (Cycle threshold) หรือ Ct นั้น ก่อนหน้านี้ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน หรือ “หมอแม็กซ์” นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เจ้าของเพจ “หมอแล็บแพนด้า” อธิบายไว้ ดังนี้

เวลาที่เราตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เค้าจะตรวจด้วยวิธีที่เรียกว่า RT-PCR วิธีนี้เป็นวิธีตรวจหา “สารพันธุกรรมของไวรัส” ไวรัสตัวนี้มันจะมีรูปร่างเป็นทรงกลมใช่ปะ ไอ้ทรงกลมที่ว่านี้คือเปลือกของมัน ถ้าผ่าเปลือกไวรัสออกมา เราจะเจออะไรบางอย่างเป็นสาย ๆ เส้น ๆ นั่นคือ RNA หรือภาษาไทยเรียกว่า “สารพันธุกรรม” นั่นเอง เราจะตรวจหาส่วนนี้ของมัน

วิธีการ RT-PCR เป็นวิธีที่สามารถเอาสารพันธุกรรมของไวรัสมาเพิ่มปริมาณได้ คือถ้าเอาแท่ง swab ไปแตะโดนเชื้อโควิดแค่ตัวเดียว พอเอามาตรวจวิธีนี้ เราจะเพิ่มปริมาณของสารพันธุกรรมได้เป็นล้านเส้นจนสามารถตรวจจับได้

เวลาที่เราเพิ่มสารพันธุกรรม เราจะทำเป็นรอบ ๆ ทำประมาณ 40 รอบ ค่าที่ตรวจได้จะมีค่าเป็น Ct (Cycle threshold) ยิ่งผลตรวจออกมาได้ค่า Ct น้อย ๆ แสดงว่ามีเชื้อไวรัสเยอะ เพราะทำแค่ไม่กี่รอบก็สามารถเพิ่มสารพันธุกรรมจนตรวจเจอได้แล้ว เช่น ยายจิ๋มเป็นโควิด ตรวจ RT-PCR ได้ค่า Ct เท่ากับ 10 แปลว่าทำไปแค่ 10 รอบก็ตรวจเจอตัวเชื้อแล้ว ต่างกับ นส.รัตนา ที่มีค่า Ct เท่ากับ 30 แสดงว่ารัตนามีเชื้อน้อยกว่า เพราะทำไป 30 รอบ กว่าจะตรวจเจอเชื้อไวรัส

จากข่าว หญิงอายุ 67 ตรวจเจอโควิด ค่า Ct เท่ากับ 9 จึงน่าจะมีเชื้อมาก และมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังคนในครอบครัวได้สูงยังไงล่ะครับ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จังหวัดนนทบุรี ได้มีการระบุค่าการเพิ่มของสารพันธุกรรมไวรัสโควิด (Cycle threshold) หรือ Ct ในไทม์ไลน์ฉบับย่อของผู้ติดเชื้อแต่ละรายด้วย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้ส่วนหนึ่ง