โรคกินไม่หยุด คืออะไร? อาการ สาเหตุ การรักษา เมื่อไหร่ที่ควรหาหมอ

รู้จักโรคกินไม่หยุด
Image by Richard Reid from Pixabay

ทำความรู้จัก โรคกินไม่หยุด หรือ Binge Eating Disorder สังเกตอาการ ทำความเข้าใจสาเหตุ และแนวทางการรักษา 

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักร้องชื่อดัง “ไอซ์-ศรัณยู วินัยพานิช” เผยว่า ตัวเองกำลังมีอาการป่วยจากภาวะไม่สามารถหยุดการกินได้ (Binge Eating Disorder) ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้ กลายเป็นคนที่ต้องกินตลอดเวลา กระทั่งถูกทักเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ต้องทำทีบอกคนอื่นว่ากำลังลดน้ำหนัก แต่พอไม่มีใครเห็นจะกลับไปกินเยอะมาก สุดท้ายสะสมความรู้สึกผิดจนเกิดภาวะความเศร้า และตรวจพบไขมันชนิดไม่ดีในเส้นเลือด รวมถึงมีไขมันพอกตับ

สำหรับหลายคนที่สงสัยว่าตัวเองกำลังมีอาการเช่นเดียวกับ “ไอซ์ ศรัณยู” หรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” รวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการกินผิดปกติดังกล่าวมาฝากกัน

โรคกินไม่หยุดคืออะไร?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ พบแพทย์ ระบุว่า Binge Eating Disorder (BED) หรือโรคกินไม่หยุด เป็นชื่อที่ใช้เรียกโรคที่มีอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ โดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรับประทานอาหารในปริมาณมากแม้ไม่รู้สึกหิว โดยจะรับประทานจนอิ่มแน่นท้อง จนไม่สามารถรับประทานอาหารต่อได้ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วจะรู้สึกรังเกียจหรือโกรธตัวเอง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่คาดว่าเกิดจากหลายปัจจัย และโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงวัย ที่พบบ่อยสุด คือ วัยรุ่นตอนปลาย หรือช่วงอายุ 20 ตอนต้น ซึ่งการรักษาและการบำบัดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคขึ้น ทั้งนี้ การรับประทานอาหารปริมาณมากเกินความพอดีอยู่บ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อาการของโรคกินไม่หยุด

  • รับประทานอาหารมากกว่าปกติ โดยไม่สามารถควบคุมตนเองให้หยุดรับประทานได้ แม้จะอิ่มหรือไม่รู้สึกหิวแล้ว
  • สามารถรับประทานอาหารปริมาณมาก ๆ อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน
  • ผู้ป่วยไม่มีพฤติกรรมที่จะลดความอ้วนอย่างแท้จริง
  • อาจออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้ยาระบาย หรือล้วงคออ้วก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นอาการของโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia)
  • อาจจะมีพฤติกรรมที่กักตุนอาหารไว้ในที่ต่าง ๆ ใกล้ตัว

สาเหตุ

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่คาดว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคกินไม่หยุด เช่น

  • เป็นโรคอ้วน โดยผู้ที่มีอาการของโรคกินไม่หยุดกว่าครึ่งหนึ่งมักมีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว
  • จากการศึกษาพบว่าโรคนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่เพศชายก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดได้เช่นกัน
  • มีพฤติกรรมการใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ
  • ขาดความมั่นใจในรูปร่าง และมีความพึงพอใจในรูปร่างของตนเองต่ำ
  • เคยมีประวัติเสพติดการลดน้ำหนัก เครียดกับการลดน้ำหนัก หรือเคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก
  • เคยผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ อย่างการสูญเสียครอบครัว เคยประสบอุบัติเหตุ หรือถูกทำร้าย
  • คนในครอบครัวมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับโรคการกินผิดปกติ
  • มีภาวะทางจิต อย่างภาวะซึมเศร้า โรคเครียด โรคไบโพลาร์ โรคกลัว (Phobias) และภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder)

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ เชื่อกันว่าเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง อย่างเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความหิวที่หลั่งออกมามากผิดปกติ จนส่งผลให้ร่างกายมีความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าความรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า เบื่อหน่าย หรือความรู้สึกด้านลบก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของสารเหล่านี้ได้

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Club of Thai Health ระบุว่า โรคกินไม่หยุดส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกายของผู้ป่วย  ผู้ที่รู้สึกว่ามีปัญหากินมากเกินไปควรพบแพทย์ถึงแม้ว่าน้ำหนักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ตาม

แพทย์อาจทำการเช็กโรคอื่น ๆ ให้ด้วย เช่น โรคหัวใจ หรือปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดี เพราะโรคเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคกินไม่หยุดได้

ผู้ป่วยมักจะรู้สึกลำบากใจที่จะบอกคนอื่นว่าพวกเขาเป็นโรคกินไม่หยุด รวมไปถึงหมอด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาจะช่วยทั้งการควบคุมการกินไม่ได้และปัญหาทางอารมณ์ที่ซ่อนอยู่

ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกอับอายและแยกตัวออกจากคนอื่น การหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ เช่น โรควิตกกังวล และซึมเศร้า สามารถช่วยแก้ปัญหาได้

การรักษา

  • การใช้ยา

โรคกินไม่หยุดจัดว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเศร้าหรือยากันชัก ที่มักใช้รักษาโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองและป้องกันอาการของโรค การใช้ยาเพื่อรักษาโรค BED นั้นค่อนข้างให้ผลรวดเร็วและได้ผลที่ชัดเจนกว่าการรักษาแบบอื่น แต่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา

  • การเข้ารับจิตบำบัด

จิตบำบัดเป็นการสร้างการรับรู้และเข้าใจในอาการของโรค จุดประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ด้านลบที่ส่งผลให้เกิดอาการของโรคได้ โดยจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคกินไม่หยุดแบ่งได้ 3 แบบ ดังนี้

  1. Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เป็นการบำบัดที่จะสอนให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอารมณ์และพฤติกรรมด้านลบที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งเรียนรู้วิธีควบคุมที่จะช่วยลดความรุนแรงของความรู้สึกและพฤติกรรม
  2. Interpersonal Psychotherapy (IPT) เป็นการบำบัดที่ช่วยรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากปัญหาความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว อย่างความรุนแรง การหย่าร้าง หรือการเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วยและทำให้เกิดโรคกินไม่หยุด โดยจิตบำบัดแบบ IPT จะช่วยให้คนไข้สามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ได้
  3. Dialectical Behavior Therapy (DBT) เป็นการบำบัดที่สร้าง 4 ทักษะ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้ คือ การตระหนักรู้ในสาเหตุและอาการ ความอดทนต่อความรู้สึกด้านลบ การจัดการอารมณ์ และการพัฒนามนุษยสัมพันธ์
  • การลดน้ำหนัก

แพทย์และนักโภชนาการจะให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง ทั้งปริมาณ สารอาหาร และการออกกำลังกาย ซึ่งการลดน้ำหนักไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันการกลับไปมีอาการของโรคซ้ำแล้ว ยังอาจช่วยให้คนไข้มีรูปร่างที่ดีขึ้นและมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองมากขึ้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น อย่างการนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังอย่างเหมาะสม และระบายความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ อย่างถูกวิธี

ภาวะแทรกซ้อน

  • ปัญหาสุขภาพกาย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคกรดไหลย้อน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น
  • ปัญหาสุขภาพจิต อาการของโรคอาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม ซึ่งเมื่ออารมณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงภาวะทางจิตชนิดอื่น ๆ อย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคไบโพลาร์
  • ปัญหาในชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหารทีละมาก ๆ อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในตนเอง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กันคนรอบข้าง

การป้องกัน

แพทย์ยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน แต่สามารถลดความเสี่ยงของโรคด้วยการรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของ BED และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  • ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ
  • เข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้การจัดการกับอารมณ์
  • ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดสัญญาณของโรค

แม้จะเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็ยังมีวิธีป้องกันและการรักษาที่เหมาะสม