วัคซีนไฟเซอร์ สกัดโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ หมอมานพ ยกกรณีอิสราเอล

ไฟเซอร์ปราบพันธุ์อินเดียในอิสราเอลได้
REUTERS/Amir Cohen/File Photo

หมอมานพ ยกกรณีศึกษาอิสราเอลใช้วัคซีนไฟเซอร์สู้โควิดสายพันธุ์เดลต้า พบลดอัตราการติดเชื้อได้ดี แนะไทยดูตัวอย่าง วัคซีนที่ดีมีประสิทธิภาพสูง-การเร่งปูพรมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ช่วยหยุดการระบาดได้ดี

วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กโดยกล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ในประเทศอิสราเอล แม้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้วก็ตาม โดยระบุว่า…

กว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการนำเสนอข่าวการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าในอิสราเอล ทั้งจากสื่อต่าง ๆ รวมถึง นักวิชาการ ตลอดจนทีมประชาสัมพันธ์ของ ศบค. โดยกล่าวในทำนองว่า ประเทศที่มีการฉีด mRNA vaccine ไปมากแล้วก็ยังมีการระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อ 50% เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสน ตกลงว่าวัคซีนที่อิสราเอลใช้คือ Pfizer vaccine ได้ผลดี หรือไม่

อย่างไรก็ดี นพ.มานพ กล่าวต่อไปว่า การระบาดรอบใหม่ของอิสราเอลจากเดลต้า เกิดขึ้นราวสัปดาห์ก่อน โดยพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นจากไม่กี่สิบรายต่อวัน กลายเป็นหลักร้อยในวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดอยู่ที่ 290-300 รายต่อวัน ข่าวนี้แสดงว่าวัคซีนที่ปูพรมฉีดเป็นวงกว้างนั้นไม่ได้ผลหรือไม่ คำตอบคือ ได้ผล และได้ผลดีมากด้วย

หมอมานพ
ภาพจาก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

หากย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2563 ต่อต้นปี 2564 ในขณะที่อิสราเอลมีการระบาดของอัลฟ่า (อังกฤษ) ทั้งประเทศมีผู้ป่วยรายใหม่วันละหลายพันราย บางวันทะลุหมื่นราย จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ เพื่อสกัดการระบาด

ต่อมาจึงปูพรมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั่วประเทศ จนทำให้การระบาดสงบได้ และทยอยเปิดเมืองทีละขั้น จนอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องใส่หน้ากาก และสามารถทำกิจกรรมรวมคนหมู่มากได้ มีวิถีชีวิตใกล้เคียงปกติ เมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดปัจจุบันที่เดลต้ามีความสามารถในการแพร่ระบาดดีกว่า อัลฟ่ามาก และยังดื้อต่อวัคซีนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในรอบนี้กลับไม่เห็นอัตราเร่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่แบบเดิม ขณะที่ผู้คนยังคงใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม แม้มีการปรับมาตรการให้ใส่หน้ากากเมื่ออยู่ในอาคารหรือสถานที่ปิด และเลื่อนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคมแทน

นพ.มานพ อธิบายว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลจาก herd immunity แต่ herd immunity ไม่ได้แปลว่าต้องไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือไม่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงขึ้น การติดเชื้อยังเกิดได้อยู่ และผู้ที่ได้วัคซีนบางคนก็ยังอาจติดเชื้อได้ แต่เมื่อในสังคมหรือชุมชนมีสัดส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันเป็นจำนวนมากแล้ว การระบาดของโรคจะเกิดได้ยากขึ้นมาก จำนวนผู้ติดเชื้อจะถูกจำกัดวง มีจำนวนไม่มากนัก และส่วนมากมักเกิดในผู้ที่ยังไม่ได้วัคซีน

อีกประเด็นที่ต้องชี้ให้เข้าใจ คือการเห็นข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ราวครึ่งนึงเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว ข่าวนี้แปลว่าประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงมากจนกันแทบไม่ได้แล้วหรือไม่

นพ.มานพ ยืนยันว่า วัคซีนยังมีประสิทธิภาพสูงมาก เรื่องนี้เราเรียกว่า base rate bias แม้การนับจำนวนผู้ติดเชื้อจะพบว่าเท่ากันระหว่างคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว และยังไม่ได้วัคซีน แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนครบซึ่งสูงมากในอิสราเอล จะเห็นชัดเจนว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก ข้อมูลจากการระบาดปัจจุบัน คำนวณได้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนต่อการป่วยจากเดลต้าน่าจะอยู่ที่ราว 85%

ส่วนฟาก UK ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากเช่นกัน และควบคุมการระบาดจากอัลฟ่าได้ดี เหตุใดจึงเกิดการระบาดของเดลต้า จนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงมากต่างจากอิสราเอล

สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากวิธีการกระจายวัคซีนที่ต่างกัน ที่เลือกระดมฉีดวัคซีน “เข็มแรก” ไปก่อนให้กว้างขวางที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อสกัดการระบาดเมื่อตอนปลายปีจนถึงต้นปีนี้ และสามารถควบคุมการระบาดของอัลฟ่าได้อย่างรวดเร็ว

เนื่องจากทั้งไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า เพียงเข็มเดียว แม้จะเป็น partial immunity แต่ก็เพียงพอต่อการยับยั้งอัลฟ่าได้ดี ในขณะที่สายพันธุ์เดลต้านั้น ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ จำเป็นที่ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม (full immunity) โดยเร็ว

ข้อมูลนี้สอดคล้องไปกับผลการทดสอบ immune evasion ในห้องปฏิบัติการที่พบว่า NAb จากผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียวไม่เพียงพอต่อการยับยั้งเชื้อเดลต้า จำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบสองเข็ม ขณะที่อิสราเอลนั้น ยึดถือการฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ตามข้อมูล phase 3 trial ประชาชนส่วนใหญ่จึงมี full immunity และสามารถสกัดการระบาดของเดลต้าได้ดีกว่า

อย่างไรก็ดี การมี partial immunity ของ UK ยังมีประโยชน์ในแง่อัตราการป่วยต้องเข้า รพ. และอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้เพิ่มตามอัตราการติดเชื้อ ข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของ herd immunity ที่สามารถหยุดหรือลดทอนการแพร่ระบาดได้จริง

และการใช้วัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงมาก สามารถรับมือการระบาดต่อสายพันธุ์ที่ดื้อและแพร่เร็วอย่างเดลต้าได้ดีทีเดียว แน่นอนว่า ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ของอิสราเอลจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่ข้อมูลการระบาดที่ผ่านมา น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงบ้านเราด้วยว่า วัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ช่วยหยุดการระบาดได้ดี


อีกทั้งการปูพรมวัคซีนเป็นวงกว้าง ช่วยสร้าง herd immunity effect ได้ แม้จะยังไม่ดีนักเนื่องจากสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิยังไม่สูงพอ (ขณะนี้สัดส่วนของประชากรอิสราเอลที่ได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 65%) คงจะต้องใช้เวลาอีกซักพัก ถึงเห็นผลได้แล้วจริง ๆ