นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึงการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา องค์การฯ ได้ทำหน้าที่ รักษาเสถียรภาพราคายาในท้องตลาด มีการดูแลระบบบริการสุขภาพในภาครัฐเกิน 95% ของการบริการทางการแพทย์ อีกทั้งมีการผลิตยาที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน ตลอดจนผลิต และจัดหายาที่ใช้น้อยแต่ไม่มีผู้ผลิต เช่น ยาคลอเฟนนิรามีน ยาต้านพิษ เป็นต้น ซึ่งองค์การฯได้จัดหาและช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้มาก โดยที่ผ่านมาองค์การฯ ร่วมกับ สปสช.ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงยาได้มากขึ้น และสามารถประหยัดงบประมาณให้รัฐบาลได้ถึงปีละ 5-6 พันล้านบาท
ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็น “องค์การเภสัชกรรม 4.0” นั้น องค์การฯ ต้องเป็นกลไกในการถ่วงดุลด้านราคายา ผลิต และจัดหายาจำเป็น สร้างความมั่นคงด้านยา โดยมุ่งคิดค้น วิจัย และพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ระบบยาของประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาจำเป็นในการใช้สูง ประกอบด้วย กลุ่มยาโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ กลุ่มยาเอดส์ซึ่งปัจจุบันมีราคาลดลงมาก ทำให้คนไข้ที่มาขึ้นทะเบียนได้รับยาครบทุกคน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไทยยังเป็นประเทศที่ 2 ของโลกที่สามารถยับยั้งการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก กลุ่มยารักษามะเร็ง ถือเป็นยาที่มีราคาแพงมาก และแนวโน้มในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าการใช้สูง องค์การฯ จึงมีการวิจัยและพัฒนายาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในกลุ่มยามะเร็ง โดยปีนี้เริ่มศึกษากระบวนการผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยี อีก 3 ปีจะเริ่มผลิตยาต้นแบบ และอีก 10 ปีน่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะ และระบบดิจิตอล มาใช้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การตลาด ตลอดจนกระบวนการทำงานด้านต่างๆ
องค์การฯจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อาทิ ยาตำรับสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พัฒนาสารสกัดจากสมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าเครื่องสำอาง และเวชสำอาง วัตถุดิบทางยา อีกทั้งมุ่งมั่นพัฒนาวัคซีน เนื่องจากมีความจำเป็นทางด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพในการผลิตวัคซีนให้กับประเทศไทย อีกทั้งตอบสนองความต้องการของประเทศ ทั้งวัคซีนป้องกันการระบาดและวัคซีนที่จำเป็นพื้นฐานของประเทศ รวมถึงส่งเสริมประชาชนให้มีการเข้าถึงยา และใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และมีการเสาะแสวงหาพันธมิตรในการร่วมผลิต จัดหา และเป็นแหล่งผลิตสำรองในกรณีฉุกเฉิน ตลอดจนแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ที่มีคุณภาพภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น
“อภ.ได้ปรับเปลี่ยนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการบริหารจัดการ (Enterprise Resource Planning : ERP) โดยนำระบบ SAP ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาใช้ เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จะเริ่มใช้ขับเคลื่อนกระบวนการทำงานทุกระบบเต็มประสิทธิภาพต้นปี 2561 และมีแผนสร้างการเข้าถึง และสร้างความมั่นคง ยั่งยืน ให้กับระบบยา และเวชภัณฑ์ของประเทศ อาทิ การก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตระยะ 2 เพื่อผลิตยาน้ำ ยาครีม ขี้ผึ้ง ยาปราศจากเชื้อ และยาเม็ด โดยจะเริ่มการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จใน ปี 2563 การก่อสร้างโรงงานผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์แห่งใหม่ เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ ชุดทดสอบ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เวชสำอาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสร้างเสร็จและเริ่มผลิต ผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบ เป็นรายการแรกในปลายปี 2560 รวมถึงมีการพัฒนาบุคลากรโดยส่งไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก” ผู้อำนวยการฯกล่าว