รพ.จุฬาลงกรณ์ เผยอันตรายของการติดเชื้อโควิด ในสตรีตั้งครรภ์

อันตรายของการติดเชื้อโควิดในหญิงตั้งครรภ์
ภาพจาก pixabay

รพ.จุฬาลงกรณ์เผยอันตรายของโรคโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ หลังรายงานการเสียชีวิตของหญิงท้องติดโควิดตั้งแต่เดือน เม.ย. พบเสียชีวิตสะสมแล้ว 58 ราย

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์ และทารกแรกเกิด ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม 2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 2,491 ราย แบ่งเป็นคนไทยจำนวน 1,700 ราย ต่างชาติจำนวน 791 ราย มีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตสะสม จำนวน 58 ราย ทารกเสียชีวิตสะสมจำนวน 24 ราย

โดยจังหวัดที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อสูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 ราย จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 399 ราย และจังหวัดปทุมธานี  101 ราย ตามลำดับ ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด 1.5 เท่า ทารกมีโอกาสเข้ารักษาไอซียู 4.9 เท่า และมีโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อด้วยร้อยละ 3-5 ตามที่ได้เคยรายงานไปแล้วนั้น

ล่าสุด เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยอันตรายของโรคโควิด-19 ต่อสตรีตั้งครรภ์ โดยระบุว่า

  1. สตรีตั้งครรภ์ที่เป็นโรคโควิด-19 จะมีโอกาสเสียชีวิตประมาณร้อยละ 1.85 สูงเป็น 2.5 เท่าของบุคคุลทั่วไปที่มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ 0.83
  2. การเสียชีวิตส่วนใหญ่ของสตรีตั้งครรภ์เกิดจากระบบการหายใจล้มเหลว เนื่องจากสรีระของสตรีตั้งครรภ์ที่มดลูกโตและมีน้ำคร่ำในมดลูกมากขึ้นอาจดันปอดให้ขยายตัวได้ลำบาก
  3. เมื่อสตรีตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเพิ่มอัตราการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าปกติ และทำให้ทารกมีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 1.8 ซึ่งทารกอาจเสียชีวิตได้ทั้งก่อนหรือหลังคลอด
  4. อัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 จากสตรีครั้งครรภ์สู่ทารกมีโอกาสประมาณร้อยละ 11.8 ซึ่งอาจะเกิดจากการถ่ายทอดโดยตรงจากมารดาสู่ทารกหรือจากการสัมผัสหลังคลอด
  • คำแนะนำจากแพทย์ ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดมีความปลอดภัยต่อสตรีตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ โดยภูมิต้านทานของวัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดในสตรีตั้งครรภ์สามารถส่งต่อสู่ทารกได้ จังควรฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อมีอายุครรภ์ครบ 3 เดือนขึ้นไป อยู่ในระยะหลังคลอดหรือให้นมบุตร เพื่อป้องกัน ลดความรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19